กมธ.ยกร่างฯหารือก่อนเปิดพิจารณาร่าง รธน.-ไม่กังวลการอภิปราย

การเมือง
20 เม.ย. 58
04:41
58
Logo Thai PBS
กมธ.ยกร่างฯหารือก่อนเปิดพิจารณาร่าง รธน.-ไม่กังวลการอภิปราย

วันนี้ (20 เม.ย.) เป็นวันแรกที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปิดการประชุมเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ร่างแรก จากทั้งหมด 7 วัน โดยสปช.เตรียมอภิปรายข้อเสนอแนะในหลายประเด็น โดยมีการคาดการณ์ว่า ประเด็นที่จะอภิปรายทักท้วงและชี้ถึงข้อบกพรอ่งอย่างกว้างขวางที่สุด คือ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับระบบการเมือง

วันนี้ (20 เม.ย.) นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้หารือร่วมหารือกับคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นครั้งสุดท้ายในเวลาประมาณ 08.00 น.ที่ผ่านมา ก่อนที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช) จะเปิดการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญ ร่างแรก วันแรก

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวาณิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เชื่อมั่นว่า การอภิปรายครั้งนี้จะนำไปสู่ความสมบูรณ์ของร่างรัฐธรรมนูญและย้ำว่าไม่มีความกังวลต่อการอภิปรายของ สปช.แม้ว่าจะมีความคิดเห็นต่างจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

"ทุกสิ่งที่ได้บัญญัติลงไปก้ผ่านการใคร่ครวญ ไตร่ตรองแล้วหลายรอบด้วยการสอบถามความเห็นทั้ง สนช. สปช. และประชาชน ซึ่งสิ่งที่เห็นแตกต่างกันก็เป็นเรื่องปกติ และอะไรที่ดีกว่า พิสูจน์ได้ก็จะมีการปรับเปลี่ยนได้"
พล.อ.เลิศรัตน์

การประชุมเพื่อพิจารณา รัฐธรรมนูญ ร่างแรก กำหนดวันประชุมไว้ 7 วัน คือ  ซึ่งประเด็นร้อนในร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก ที่ถูกคาดการณ์ว่า จะมีการหยิบยกมาอภิปรายทักท้วงหรือชี้ข้อบกพร่องมากที่สุดนั้น จนถึงขณะนี้น่าจะยังเป็นระบบการเมือง โดยเฉพาะเรื่องที่มาของนายกรัฐมนตรี ซึ่งแม้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะปรับแก้ให้การเลือกคนนอกเข้ารับตำแหน่งมีสัดส่วนคะแนนการลงมติอย่างน้อย 2 ใน 3 ของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว แต่การไม่ยึดโยงกับระบอบประชาธิปไตย ยังเป็นจุดอ่อนที่ไม่สามารถคลายความกังวลได้

เช่นเดียวกับเรื่องที่มาของ ส.ว. แม้จะมีการปรับแก้ให้ยึดโยงกับระบบเลือกตั้งครึ่งหนึ่งแล้ว แต่การมีคณะกรรมการสรรหาในแต่ละจังหวัดเพื่อคัดกรองผู้สมัครให้เหลือจังหวัดละ 10 คน ก่อนให้ประชาชนกากบาทเลือกก็ยังไม่พ้นข้อครหาที่กล่าวขานว่าเป็นการลากตั้ง เนื่องจากเป็นการตัดสิทธิ์ประชาชน ก่อนการใช้สิทธิ์เลือกโดยตรง

รวมถึงเรื่องที่มา ส.ส. ด้วยระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม ก็ยังไม่ตอบโจทย์สมาชิก สปช.บางคนบางกลุ่มได้ว่า สามารถป้องกันการทุจริตซื้อสิทธิ์ขายเสียงได้อย่างไร ในทางตรงกันข้ามการได้มาซึ่งรัฐบาล ก็ต้องผ่านการจัดตั้งแบบผสม ที่ถูกจับตามองว่า อาจเป็นช่องว่างให้เกิดการต่อรองทางการเมือง อันนำมาซึ่งเงื่อนไขที่ต้องแลกด้วยผลประโยชน์

ขณะที่ประเด็นการปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง เป็นสิ่งที่คณะกรรมาธิการฯจะยืนยันมาโดยตลอดว่าจำเป็นต้องบรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อการดำเนินการต่อไปให้เกิดรูปธรรม เพราะไม่สามารถจัดการให้แล้วเสร็จได้ในระยะสั้น แต่การปฏิรูปก็กลายเป็นเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงเจตนาการสืบทอดอำนาจ ขณะที่การสร้างความปรองดอง ก็เป็นเรื่องที่สร้างความหวาดหวั่นถึงผลที่ตามมาจะกลายเป็นกรณีนิรโทษกรรม

ขณะที่ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเมือง นายสุจิตร บุญบงการ รองประธาน คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ชี้แจงทั้งหมด

นอกจกานี้ กรอบเวลาที่กำหนดไว้ที่ 79 ชม.ตลอด 7 วัน มีข้อสังเกตว่าให้เวลาน้อยเกินไปหรือไม่ โดย สปช.ก็ยอมรับว่าน้อยเกินไปซึ่งอาจจะมีการขยายกรอบเวลาโดยจากเดิมกำหนดให้ปิดการอภิปรายในเวลา 21.00 น. อาจเลื่อนเวลาออกไปเป็นเป็นเวลา 24.00 น.


ข่าวที่เกี่ยวข้อง