ยูเอ็นเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกจำคุกในคดี ม.112-จี้รัฐบาล คสช.แก้กฎหมายหมิ่นฯ

อาชญากรรม
12 ส.ค. 58
12:50
976
Logo Thai PBS
 ยูเอ็นเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกจำคุกในคดี ม.112-จี้รัฐบาล คสช.แก้กฎหมายหมิ่นฯ

โฆษกสํานักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธมนุษยชนแห่งสหประชาชาติแถลงเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกตัดสินจำคุกหรือถูกควบคุมตัวก่อนการพิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพโดยทันที และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแก้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล

เว็บไซต์สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชน (OHCHR) เผยแพร่บันทึกถ้อยแถลงของราวีนา ชัมดาซานี โฆษกสำนักงานข้าหลวงฯ เมื่อวานนี้ (11 ส.ค.2558) ซึ่งมีใจความสำคัญว่าสำนักงานข้าหลวงฯ มีความวิตกอย่างมากต่อคำพิพากษาจำคุกผู้กระทำความผิดกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยเฉพาะคำพิพากษาของศาลทหารที่ตัดสินจำคุกผู้กระทำความผิดเป็นเวลาหลายปี

ทั้งนี้โฆษกสำนักงานข้าหลวงฯ ได้อ้างถึงคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ศาลตัดสินในปี 2558 จำนวน 5 คดี ได้แก่

1) 7 ส.ค.2558 ศาลทหารกรุงเทพฯ ตัดสินจำคุกนายพงศักดิ์ ศรีบุญเพ็ง พนักงานบริษัทท่องเที่ยว เป็นเวลา 60 ปี จากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก แต่จำเลยรับสารภาพจึงลดโทษเหลือจำคุก 30 ปี
2) 7 ส.ค.2558 ศาลทหารจังหวัดเชียงใหม่ ตัดสินจำคุกน.ส.ศศิวิมล ปฐมวงศ์ฟ้างาม พนักงานโรงแรม เป็นเวลา 56 ปี จากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก จำเลยรับสารภาพจึงลดโทษเหลือจำคุก 28 ปี
3) 6 ส.ค.2558 ศาลทหารจังหวัดเชียงราย ตัดสินจำคุกนายสมัคร ปันเท เป็นเวลา 5 ปี จากการทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้แพทย์ระบุว่านายสมัครมีอาการป่วยทางจิตและอยู่ระหว่างการรักษาอาการประสาทหลอน
4) 25 มิ.ย.2558 ศาลอาญากรุงเทพ ตัดสินจำคุกนายทะเนช นนทะโคตร เป็นเวลา 3 ปี 4 เดือนจากการส่งลิงค์ (URLs) ของเว็บไซต์ที่มีข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
5) 31 มี.ค.2558 ศาลทหารกรุงเทพฯ ตัดสินจำคุกนายเธียรสุธรรม สุทธิจิตต์ เศรณี เป็นเวลา 50 ปี จากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก จำเลยรับสารภาพจึงลดโทษเหลือจำคุก 25 ปี

<"">

โฆษกสำนักงานข้าหลวงฯ ระบุว่า คำตัดสินจำคุกในคดีหมิ่นฯ เป็นเวลา 60 ปี และ 56 ปีนับเป็นคำตัดสินที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่สำนักงานข้าหลวงฯ เก็บข้อมูลมาตั้งแต่ปี 2549

"จำนวนผู้ที่ถูกตัดสินจำคุกในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพิ่มขึ้นอย่างมาก นับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 มีผู้ที่ถูกจำคุกจากคำพิพากษาหรือถูกคุมขังก่อนพิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ อย่างน้อย 40 คน"  นางราวีนาระบุและตั้งข้อสังเกตว่า ในการพิจารณาคดีของศาลทหารนั้นไม่เปิดให้คนทั่วไปเข้าร่วมรับฟัง อีกทั้งจำเลยยังไม่มีสิทธิ์อุทธรณ์คดี

"การพิจารณาคดีในศาลทหารต้องเป็นไปตามหลักกระบวนการอันควรตามที่ระบุไว้ในกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ" โฆษกสำนักงานข้าหลวงฯ กล่าว

ในตอนท้าย โฆษกสำนักงานข้าหลวงฯ ได้เรียกร้องให้ปล่อยตัวบุคคลที่ถูกพิพากษาจำคุกหรือถูกควบคุมตัวก่อนการพิจารณาคดีโดยทันที และขอเรียกร้องให้รัฐบาลทหารแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล และไม่ควรใช้กฎหมายนี้จำกัดการถกเถียงในสังคมในเรื่องที่เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ

ขณะเดียวกัน มีความเคลื่อนไหวของกลุ่มนักกิจกรรมและนักสิทธิมนุษยชน ระดมความช่วยเหลือทางการเงินให้ครอบครัวของ "ศศิวิมล" พนักงานโรงแรมใน จ.เชียงใหม่ที่ถูกตัดสินจำคุก 28 ปี โดยเฟซบุ๊ก "พลเมืองเสมอกัน" ให้ข้อมูลว่าศศิวิมลมีลูกสาว 2 คน อายุ 7 ปี และ 5 ปี  ขณะนี้ทั้งสองคนและอยู่กับยายซึ่งต้องรับผิดชอบหารายได้ของครอบครัวทั้งหมดหลังจากที่ศศิวิมลถูกจำคุก  


ข่าวที่เกี่ยวข้อง