ศาลปกครองสูงสุดไม่รับฟ้อง "คดีโลกร้อน"

สิ่งแวดล้อม
13 ส.ค. 58
17:24
640
Logo Thai PBS
ศาลปกครองสูงสุดไม่รับฟ้อง "คดีโลกร้อน"

วันนี้ (13 ส.ค.2558) ศาลปกครองสูงสุดชี้ขาดคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟ้องคดีเพิกถอนแบบจำลองค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อม (คดีโลกร้อน) ไว้พิจารณา โดยศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองชั้นต้น คือ ไม่รับฟ้องคดี โดยให้เหตุผลว่าผู้ฟ้องคดียังไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะมีสิทธิฟ้องร้อง

คดีนี้ นายดิ๊แปะโพ (ไม่มีนามสกุล) ที่ 1 กับพวกรวม 23 คน ยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ 1 และกรมป่าไม้ ที่ 2 ต่อศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 28 พ.ค.2555  เพื่อขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งให้ใช้แบบจำลองสำหรับประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมบางประการหลังการทำลายป่าไม้ เป็นหลักเกณฑ์ในการคิดคำนวณค่าเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ และขอให้ศาลมีคำสั่งให้กรมอุทยานฯ และกรมป่าไม้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขแบบจำลองดังกล่าวให้ถูกต้องตามหลักวิชาการที่ได้รับการยอมรับตามมาตรฐานของประชาคมวิชาการ โดยจัดให้มีการรับฟังจากประชาชน นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ก่อนนำมาบังคับใช้
โดยเมื่อวันที่ 23 ก.ค.2555 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้องไว้พิจารณา ผู้ฟ้องคดีจึงได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกลาวต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งในวันนี้ (13 ส.ค.) ว่าไม่รับฟ้องคดีเช่นกันจึงถือว่ากระบวนการทางศาลปกครองในคดีนี้เป็นอันสิ้นสุดไป

อย่างไรก็ตาม นักกฎหมายมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นผู้ทำคดีนี้ยืนยันว่า จากนี้จะเดินหน้าทำความเข้าใจกับสังคมถึงช่องโหว่ของแบบจำลองสำหรับการประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมบางประการ หลังการทำลายป่าไม้ หรือ แบบจำลองค่าเสียหายทำโลกร้อน ของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่นำมาใช้กับผู้ถูกฟ้องคดีบุกรุกป่า ในเขตอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า แม้ศาลปกครองสูงสุด จะมีคำสั่งไม่รับฟ้องคดี

"ศาลให้เหตุผลว่าเรื่องที่ศาลจะรับฟ้องต้องเป็นเรื่องหรือคำสั่งทางปกครองที่กระทบต่อบุคคลภายนอกแล้ว และสร้างความเดือดร้อนเสียหายแล้ว แต่ในกรณีนี้ศาลมองว่าเป็นการวางหลักเกณฑ์ภายใน ทำให้ผู้ฟ้องคดียังไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะมีสิทธิฟ้องคดี" นายอมรินทร์ สายจันทร์ ทนายความ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมกล่าว
 
แบบจำลองคิดค่าเสียหายจากการทำให้โลกร้อนนี้ ถูกนำมาใช้ครั้งแรกเมื่อปี 2548 กับผู้ถูกฟ้องคดีรุกป่าอุทยานแห่งชาติ จังหวัดพัทลุง เป็นเงินกว่า 1.3 ล้านบาท ทำให้เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนผู้ได้รับผลกระทบและนักวิชาการบางกลุ่มมองว่า เป็นแบบจำลองที่คิดค่าเสียหายเกินจริง และไม่เป็นธรรม โดยการคิดค่าเสียหาย ประกอบไปด้วย ค่าน้ำสูญหาย ค่าดินและแร่ธาตุในดินสูญหาย ค่าอากาศร้อนขึ้น ค่าฝนตกน้อยลง และค่าเนื้อไม้ รวมเป็นเงินประมาณ 150,000 บาทต่อไร่ต่อปี


ข่าวที่เกี่ยวข้อง