กมธ.ยกร่างฯ ไม่หวั่นกระแสต้าน กก.ยุทธศาสตร์ปฏิรูป-ปรองดอง

การเมือง
17 ส.ค. 58
04:55
72
Logo Thai PBS
กมธ.ยกร่างฯ ไม่หวั่นกระแสต้าน กก.ยุทธศาสตร์ปฏิรูป-ปรองดอง

โค้งสุดท้ายการทำงานของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในสัปดาห์นี้ที่ กมธ.ยกร่างฯ จะต้องส่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายให้ สปช. ไปพิจารณาและศึกษา ก่อนลงมติชี้ขาดเห็นชอบหรือไม่ในวันที่ 7 กันยายน แต่ทว่าในขณะนี้มีกระแสท้วงติงเกี่ยวกับเนื้อหาในร่างภายหลังจ กมธ.กำหนดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ มีวาระอยู่ในตำแหน่งถึง 5 ปี ที่มองว่าเป็นการให้อำนาจพิเศษแก่คณะกรรมการชุดนี้

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงข้อกังวลจากหลายฝ่ายว่าในขณะนี้ว่า เมื่อบทบัญญัตินี้อยู่ในบทเฉพาะกาลก็ต้องเป็นเพียงมาตรการชั่วคราวที่อาจมีความจำเป็นในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน แต่จะให้อยู่อย่างถาวรโดยไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยคงไม่ได้ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็เคยบอกว่าการร่างรัฐธรรมนูญต้องร่างในแบบที่เป็นของเรา เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย แต่จะขัดหลักสากลไม่ได้

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่าคณะกรรมาธิการยกร่าง ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะทบทวนการมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติหรือไม่ แต่ยืนยันว่าคณะกรรมการชุดนี้ไม่มีอะไรน่ากลัวอย่างที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ โดยอยากให้ดูเจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งถ้าให้เทียบการทำงานก็ไม่ต่างจากสภาความมั่นคงแห่งชาติหรือในบางยุคบางสมัยที่มีนายกฯ ไปนั่งควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

พล.ท.นคร สุขประเสริฐ สมาชิก สปช.และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกำหนดการรับฟังผลการพิจารณาคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญทั้งในส่วนของ สปช.แต่ละกลุ่ม รวมถึง ครม.ว่าขณะนี้กรรมาธิการยกร่างฯ ได้ประสานไปยัง กมธ.กิจการวิสามัญสภาปฏิรูปแห่งชาติหรือ วิป สปช. เพื่อเลื่อนกำหนดการดังกล่าวจากเดิมวันที่ 17-19 ส.ค.เป็นวันที่ 19-20 ส.ค.แทน เนื่องจากวันที่ 17- 18 ส.ค.นั้นตรงกับวันที่ สปช.มีการประชุมพิจารณาวาระสำคัญหลายเรื่องโดยเฉพาะญัตติคำถามออกเสียงประชามติ ดังนั้นเพื่อให้สมาชิก สปช.และทางกรรมาธิการยกร่างที่เป็นสมาชิก สปช.จำนวน 21 คน ได้ใช้เวลาประชุม สปช.ในช่วงสุดท้ายได้เต็มที่ จึงได้มีมติเลื่อนกำหนดการดังกล่าวออกไป

ขณะที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่าไม่เห็นด้วยกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อปฏิรูปและปรองดองแห่งชาติที่คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญกำหนดไว้และให้มีอำนาจพิเศษหากเกิดวิกฤตความขัดแย้งและรัฐบาลไม่สามารถแก้สถานการณ์ได้ ในระยะเวลา 5 ปี โดยกล่าวว่าเป็นกลไกที่มีอำนาจเหนือฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งขัดหลักการประชาธิปไตยตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งหากรัฐบาลไม่สามารถบริหารประเทศต่อไปได้ก็จะมีกลไกให้ลาออกหรือยุบสภา ซึ่งถือเป็นเป็นพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง