"ยิ่งลักษณ์" โพสต์เฟซบุ๊กค้านตั้งคกก.ยุทธศาสตร์-"เพื่อไทย" เตือนอาจเกิดรัฐซ้อนรัฐ

การเมือง
17 ส.ค. 58
06:35
122
Logo Thai PBS
"ยิ่งลักษณ์" โพสต์เฟซบุ๊กค้านตั้งคกก.ยุทธศาสตร์-"เพื่อไทย" เตือนอาจเกิดรัฐซ้อนรัฐ

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โพสต์เฟซบุ๊กเสนอความเห็นการร่างรัฐธรรมนูญ ระบุต้องเป็นประชาธิปไตย ยึดโยงประชาชน ชี้ไม่จำเป็นต้องมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์อยู่เหนือรัฐบาลและฝ่ายนิติบัญญัติ แนะคืนสิทธิให้ประชาชนตัดสินใจเองยามเกิดวิกฤต สอดคล้องกับพรรคเพื่อไทยที่ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญวันนี้ (17 ส.ค.2558) แสดงความไม่เห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชี้นำไปสู่การมีอำนาจ "รัฐซ้อนรัฐ" พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการจงใจร่างรัฐธรรมนูญเพื่อไม่ให้ผ่านประชามติ

วันนี้ (17 ส.ค.2558) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Yingluck Shinawatra เสนอความเห็นการร่างรัฐธรรมนูญ ระบุว่าตนขอใช้สิทธิในการเสนอความเห็นเรื่องรัฐธรรมนูญเพราะเป็นช่วงที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะตัดสินใจให้ผ่านหรือไม่ผ่านร่างรัฐธรรมนูญ

อดีตนายกรัฐมนตรีได้มีข้อเสนอแนะทั้งหมด 4 ข้อ มีเนื้อหาดังนี้

1) รัฐธรรมนูญต้องเป็นประชาธิปไตย ซึ่งหลายท่านอาจจะเห็นว่าดิฉันเคยพูดคำนี้มาหลายครั้ง แต่เชื่อว่าเราอาจมีความเห็นแตกต่างกันในสาระสำคัญ คือ "รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยต้องยึดโยงกับประชาชน" กล่าวคือต้องเปิดกระบวนการให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้มีส่วนสำคัญในการออกเสียงและตัดสินใจ ไม่ใช่เพียงเลือกตัวแทนที่ว่าคัดสรรมาแล้วจากคณะบุคคลก็ถือไม่ได้ว่าเกิดจากวิถีประชาธิปไตยที่แท้จริง

2) ถ้ารัฐธรรมนูญมีเนื้อหาสาระที่รับใช้และยึดโยงกับประชาชนก็ไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องมีคณะยุทธศาสตร์ฯ เพื่อมีอำนาจเหนือรัฐบาลและเหนือฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อตัดสินใจแทนแม้ในยามวิกฤต สิ่งที่ดีที่สุดในระบอบประชาธิปไตยที่อารยะประเทศทั่วโลกล้วนยอมรับคือ ความเชื่อมั่นในประชาชนและใช้การคืนอำนาจการตัดสินใจกลับไปให้ประชาชนเป็นทางออกของประเทศ ดังนั้นภาระของผู้มีอำนาจจึงควรเร่งผลักดันการสร้างกติกาที่ยุติธรรม ป้องกันการทุจริตและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เพื่อให้สภาวะปกติกลับคืนสู่สังคมไทยโดยเร็ว ให้ประชาชนได้ใช้สิทธิของเขาเลือกตัวแทนและนโยบายตามเจตจำนงตนให้กลับมาแก้ปัญหาตามที่เขาต้องการ การคืนสิทธิในการตัดสินใจคือศักดิ์ศรีของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย

3) ความสงบสุขและเจริญรุ่งเรืองคือความปรารถนาร่วมกันของคนทั้งประเทศ "บ้านเมืองจะสงบสุข จำเป็นต้องมีกติกาที่เป็นธรรม" สังคมไทยเรามีบทเรียนในอดีตหลายครั้งจากความขัดแย้งในกรอบกติกาที่ไม่เป็นธรรมและปัญหาที่ไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นกับทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้นรัฐธรรมนูญจึงต้องสร้างโอกาสในการเข้าถึงความเท่าเทียมและกำหนดบทบาทของรัฐ ในการอำนวยความยุติธรรมทุกด้านให้เกิดขึ้นกับทุกคนเพื่อดำรงรักษาไว้ซึ่งความสุขและความปรองดองภายในสังคม

4) ประเทศเราได้รับผลกระทบ เกิดความเสียหายมามากพอแล้ว จึงขอให้ทุกท่านที่เกี่ยวข้องได้โปรดลำดับความสำคัญ เร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่น ให้ความเสมอภาค ความยุติธรรมอย่างทั่วถึง ผลักดันให้บ้านเมืองกลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด ดังนั้นการที่เรายิ่งยืดเวลาให้ทอดยาวออกไปไม่น่าจะเป็นผลดีนัก โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ ปากท้องที่เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องแก้ปัญหาในขณะนี้รังแต่จะสร้างความเสียหายและความเดือดร้อนซ้ำเติมยิ่งขึ้น

น.ส.ยิ่งลักษณ์ระบุด้วยว่า ตนหวังว่าข้อคิดเห็นที่เสนอนี้จะมีส่วนช่วยให้ประเทศมีความเป็นประชาธิปไตยและเป็นที่ยอมรับกันกว้างขวางมากขึ้น พร้อมกับลงท้ายข้อความว่า "ด้วยความห่วงใยอย่างที่สุดค่ะ"

พรรคเพื่อไทยเตือน คกก.ยุทธศาสตร์ นำไปสู่อำนาจ "รัฐซ้อนรัฐ"
ขณะที่วันนี้ (17 ส.ค.2558) พรรคเพื่อไทยยื่นหนังสือถึงคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแสดงความไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาบางส่วนของร่างรัฐธรรมนูญที่ทางพรรคฯ มองว่าสะท้อนถึงความไม่ไว้วางใจอำนาจของประชาชน ขณะที่โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ย้ำถึงความจำเป็นในการบัญญัติให้อำนาจพิเศษกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูป และการปรองดองแห่งชาติ เพื่อขับเคลื่อนประเทศในช่วงเปลี่ยนผ่าน

ตัวแทนพรรคเพื่อไทยนำโดยนายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย ยื่นหนังสือทักท้วงเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญต่อประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีนางนรีวรรณ จินตกานนท์ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นผู้รับหนังสือ

นายสามารถชี้แจงว่า ประเด็นหลักที่พรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วยคือที่มานายกฯ คนนอกและส.ว.สรรหา ซึ่งล่าสุดมีการปรับแก้ให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว.สรรหาชุดแรก 123 คน นอกจากนี้พรรคฯ ยังไม่เห็นด้วยกับการให้อำนาจพิเศษกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ซึ่งอาจนำไปสู่การมีอำนาจรัฐซ้อนรัฐ สะท้อนถึงความไม่ไว้วางใจอำนาจของประชาชน การเขียนรัฐธรรมนูญลักษณะนี้ อาจเป็นการจงใจเพื่อไม่ให้ผ่านประชามติ

"พล.อ.เลิศรัตน์" แจงหากไม่มีวิกฤต ไม่ต้องใช้ คกก.ยุทธศาสตร์
ทางด้าน พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญย้ำว่า การบัญญัติให้อำนาจพิเศษกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ เพื่อให้ประเทศสามารถขับเคลื่อนในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน แต่หากไม่มีวิกฤตเกิดขึ้นก็ไม่จำเป็นต้องใช้กลไกนี้ โดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ จะทำหน้าที่ไม่ต่างจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในการให้คำปรึกษารัฐบาล

กมธ.ยกร่างเตรียมชี้แจงผู้เสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 19-20 ส.ค.
ส่วนความคืบหน้าการยกร่างรัฐธรรมนูญวันนี้คณะกรรมาธิการฯ จะพิจารณาบทเฉพาะกาลเพื่อทบทวนถ้อยคำ ซึ่งพล.อ.เลิศรัตน์ระบุว่า ไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ และยังกำหนดให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำหน้าที่จะกว่าจะมีวุฒิสภาตามที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ในวันที่ 19-20 ส.ค.2558 จะเชิญผู้เสนอคำขอแก้ไขทั้ง 9 กลุ่ม เข้ารับฟังการชี้แจงแต่คาดว่าน่าจะมาเพียง 8 กลุ่ม เนื่องจากคณะรัฐมนตรีอาจติดภารกิจ

ขณะที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยยื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้สื่อมวลชนเข้าฟังการชี้แจงเหตุผล การปรับร่างรัฐธรรมนูญต่อกลุ่มผู้ยื่นคำขอแก้ไข โดยให้เหตุผลว่าเป็นความจำเป็นและมีประโยชน์ต่อทุกฝ่าย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง