พิษระเบิดทำ “สยามสแควร์-ราชดำริ” ซบเซา ผู้ค้าโอด ศก.ทรุด-ชีวิตพลิกอาจต้องกลับบ้าน

19 ส.ค. 58
10:59
297
Logo Thai PBS
พิษระเบิดทำ “สยามสแควร์-ราชดำริ” ซบเซา ผู้ค้าโอด ศก.ทรุด-ชีวิตพลิกอาจต้องกลับบ้าน

เหตุการณ์ลอบวางระเบิดหน้าศาลพระพรหม ที่สี่แยกราชประสงค์ ย่านกลางเมืองของกรุงเทพมหานคร เมื่อช่วงเย็นวันที่ 17 ส.ค. 2558 ที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่สร้างความตื่นตระหนกแก่ผู้พบเห็น หรือทราบข้อมูลจากสื่อแขนงต่างๆ เนื่องจากเป็นการลอบวางระเบิดครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่ง ในเมืองที่ได้ชื่อว่าน่าเที่ยวที่สุดในโลกเป็นลำดับที่ 2 จาก 10 เมืองทั่วโลก ประจำปี 2558

ทว่าผลพวงที่เริ่มก่อตัวขึ้นหลังการระเบิดเพียงวันเดียว โดยเฉพาะผู้เสียชีวิตทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศ สูงถึง 20 คน อีก 123 คน ได้รับบาดเจ็บ สร้างความหวาดกลัวให้ผู้ประกอบการร้านค้า ไปถึงประชาชนที่หากินอยู่ในบริเวณใกล้เคียง ถึงสภาพทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นนับต่อจากนี้ว่า อาจต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่หนักขึ้นกว่าเดิม

แรงระเบิดจากแยกราชประสงค์ส่งผลกระทบตรงต่อแหล่งช้อปปิ้งสยาม

หลังจาก “ไทยพีบีเอสออนไลน์” ลงพื้นที่ตรวจสอบผลกระทบ จากเหตุระเบิดราชประสงค์ในพื้นที่สยามสแควร์ช่วงบ่ายวานนี้ (18 ส.ค. 2558) พบว่า เจ้าของกิจการร้านขายเสื้อผ้าหลายรายต่างกังวลต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

“หลังจากมีระเบิดแทบไม่มีคนเดินซื้อของเลย แม้แต่คนไทย สยามสแควร์เงียบมาก ต่างจากปกติที่จะมีคนเดินพลุกพล่าน โดยเฉพาะชาวต่างชาติ จากจีน มาเลเซีย ฮ่องกง ทำให้ทั้งวันตั้งแต่เช้าขายเสื้อผ้าได้แค่ 4 ตัว ได้เงินไม่ถึง 1,000 บาท จากปกติต้องได้ 4,000-5,000 บาทแล้ว ขณะที่บางร้านยังไม่เปิดบิลด้วยซ้ำ ที่สำคัญคือการค้าขายเพิ่งกลับมาเป็นปกติเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา หลังรัฐบาลทหารเข้ามาบริหารประเทศ” กุลยา ชาวชายโขง เจ้าของร้านขายเสื้อผ้าบริเวณ ซอย 3 ในพื้นที่เซ็นเตอร์พ้อยท์ ออฟ สยามสแควร์ ระบายความในใจ

             

<"">

                           บรรยากาศที่สยามสแควร์  หลังเกิดเหตุระเบิดที่แยกราชประสงค์เพียงวันเดียว 

กุลยากล่าวว่า คิดว่าการระเบิดครั้งนี้ ส่งผลเสียทันทีและร้ายแรงมากกว่าตอนม็อบการเมืองเสื้อเหลืองและเสื้อแดงเข้าปิดสยาม 2 รอบ เนื่องจากยังพอนำเสื้อผ้าออกไปขายให้ประชาชนที่มาร่วมม็อบได้ หรือแม้แต่เหตุระเบิดห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน รวมถึงการวางเพลิงเผาพื้นที่สยาม ก็คาดว่าไม่ร้ายแรงเท่า และไม่ใช่แค่ที่สยามที่เดียวที่นักท่องเที่ยวบางตาอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเช้าไปซื้อของที่ประตูน้ำก็เดินได้สะดวกต่างจากเดิมที่ต้องเบียดแย่งกัน และไม่ค่อยเห็นชาวต่างชาติ ทั้งที่ประตูน้ำเป็นแหล่งขายส่งที่แม่ค้าต่างจังหวัด หรือชาวต่างชาตินิยมาซื้อไปขายต่อหรือเป็นของฝาก

“อยากให้รัฐบาลเร่งคลี่คลายเรื่องนี้ เพราะคนหาเช้ากินค่ำเดือนร้อนมาก ทั้งค่าเช่าร้านภาระหนี้สิน และเงินใช้จ่ายประจำวันของครอบครัว ก็ไม่รู้ว่าต่อจากนี้จะอยู่กันอย่างไร จะมีเงินจ่ายค่าเช่าร้านตอนสิ้นเดือนหรือไม่” กุลยาระบุ

ไม่ต่างจาก ศักดา อนุศาสนนันท์ เจ้าของร้านเสื้อผ้าในซอยเดียวกันระบุว่า รู้สึกหนักใจและเครียด เพราะคาดว่าบรรยากาศคงจะเงียบแบบนี้ไปถึงสิ้นเดือนสิงหาคม เป็นอย่างน้อย และแม้ว่าก่อนหน้านี้จะผ่านเหตุการณ์ร้ายแรงต่างๆ มาได้ แต่สภาพเศรษฐกิจที่แย่เป็นทุนอยู่แล้วในขณะนี้ อาจส่งผลให้การค้าขายฝืดมากขึ้น จึงอยากให้รัฐบาลเร่งคลี่คลายคดีโดยเร็ว และฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาเป็นเหมือนเดิม

            

<"">

                  พ่อค้า-แม่ค้าสยามเผยทั้งวันขายได้ไม่ถึงพันทบาท ขณะที่บางร้านถึงเย็นยังไม่ได้เปิดบิล


ด้าน ประจักร พิมพ์โช คนขับสามล้อเครื่อง บริเวณสยามมากว่า 20 ปี บอกว่า จากประสบการณ์ที่อยู่ในพื้นที่มานาน คาดว่าผลกระทบจากเหตุระเบิดที่สี่แยกราชประสงค์จะส่งผลยาว 6 เดือน ถึง 1 ปี เนื่องจากไม่รู้ว่าแรงจูงใจของการก่อเหตุครั้งนี้คืออะไร เมื่อประชาชนไม่รู้ นักท่องเที่ยวไม่รู้ ก็เกิดเป็นความหวาดระแวงไม่อยากออกมาเที่ยว ขณะที่เหตุการณ์ม็อบปิดสยามคนยังรู้ว่าเป็นม็อบก็ไม่กลัว แถมยังมีรายได้จากการรับส่งคนที่มาเข้าร่วมม็อบด้วย

“วันนี้ทั้งวันตั้งแต่เก้าโมงเช้าถึงสี่โมงเย็น หาเงินได้เงินแค่ 250 บาท จากเดิมได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 700-900 บาท ก็คุยกับกลุ่มเพื่อนที่ขับตุ๊กตุ๊กด้วยกัน 5-6 คน ว่าถ้าสถานการณ์ยังเป็นอย่างนี้ต่อไป อาจต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อมาใช้จ่าย และถ้าไม่ไหวจริงๆ ก็จะกลับบ้านนอก ถ้าสถานการณ์ดีขึ้นแล้วค่อยกลับมาใหม่” ประจักรกล่าว

เซ็นทรัลเวิลด์ไม่รอดพบยอดค้าขายริมทางหด

แม้เป็นวันที่เปิดพื้นที่ให้ค้าขายได้ตามปกติ แต่พ่อค้าแม่ค้าหลายเจ้าพร้อมใจหยุดขายของริมฟุตบาทหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ถ.ราชดำริ วานนี้ (18 ส.ค.2558) โดยเหลือรถเข็นขายของกินเพียงไม่กี่ราย

             

<"">

                     บรรยากาศร้านค้าริมฟุตบาทหน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ที่เคยครึกครื้นก็เงียบเหงาเช่นกัน

เอกชัย ศรีทอง
พ่อค้าขายข้าวไข่เจียว วัย 30 กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 4-5 ปี ที่ขายข้าวไข่เจียวอยู่หน้าห้าง ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นก็จะกลับภูมิลำเนาที่ต่างจังหวัดทันที เพื่อความปลอดภัย สำหรับครั้งนี้หากลูกค้าลดลงมาก ก็จะเดินทางกลับบ้านที่ต่างจังหวัดเช่นกัน เพราะดูจากยอดขายวันนี้แล้วอาจลดลงเกือบครึ่ง จากที่ขายได้วันละ 100 กล่องขึ้นไป เพราะมีแต่พนักงานห้างมาซื้อ

“ถ้าสถานการณ์ไม่ดีขึ้น คิดว่าคงเดินทางกลับบ้านที่ต่างจังหวัดไปหาอะไรทำ แม้จะได้เงินน้อย แต่ดีกว่าขายของอยู่ในกทม. เพราะอยู่ไปไม่คุ้มทุนกับค่าวัตถุดิบ ค่ากินอยู่ และค่าบำรุงที่ที่ต้องจ่ายทุกเดือน ก็พยายามปรับตัวไปตามสถานการณ์ ทั้งนี้ หากบรรยากาศดีขึ้นก็จะกลับมาขายเหมือนเดิม” พ่อค้าขายข้าวไข่เจียวกล่าว

สิรินภา อิ่มศิริ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงาน

กดถูกใจหน้าเพจ ThaiPBSNews
https://www.facebook.com/ThaiPBSNews?ref=hl

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง