กมธ.ปฏิรูปการเมืองชี้ร่างรธน.มีปัญหา "ไม่มีคำปรารภ-สัดส่วนส.ส." ถือว่ายังไม่สมบูรณ์

การเมือง
25 ส.ค. 58
05:46
74
Logo Thai PBS
กมธ.ปฏิรูปการเมืองชี้ร่างรธน.มีปัญหา "ไม่มีคำปรารภ-สัดส่วนส.ส." ถือว่ายังไม่สมบูรณ์

กมธ.ปฏิรูปการเมือง-กฎหมาย ชี้ร่างรัฐธรรมนูญอาจมีความไม่สมบูรณ์ เหตุยังไม่มีคำปรารภ เตรียมชงเรื่องให้ประธาน สปช.นำส่งคณะรัฐมนตรีส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ขณะที่ "บวรศักดิ์" ประธาน กมธ.ยกร่าง รธน. ระบุว่าขอให้รีบส่งเรื่องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อนวันที่ 6 ก.ย. นี้ ซึ่งเป็นวันลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างฯ กล่าวถึงกรณี กมธ.ปฏิรูปกฎหมาย สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ตั้งข้อสังเกตว่า ร่างรัฐธรรมนูญอาจยังไม่เสร็จสมบูรณ์เพราะยังไม่เขียนคำปรารภว่าคำปรารภเป็นพระราชอำนาจที่สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีและสำนักราชเลขาธิการจะทำหน้าที่ยกร่างคำปรารภเพื่อทูลเกล้าฯ ขอพระบรมราชวินิจฉัย ซึ่งเชื่อว่าจะมีการดำเนินการภายหลังร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ โดยแนวทางปฏิบัติคือสามารถยกร่างหรือไม่ยกร่างคำปรารภก็ได้ แต่สุดท้ายก็เป็นเรื่องของพระราชอำนาจที่จะต้องชี้ขาดภายหลังสุด แต่หากต้องการให้เรื่องดังกล่าวได้ข้อยุติขอให้รีบเสนอเรื่องเพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อนวันที่ 6 ก.ย. ซึ่งเป็นวันลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

ส่วนการประชุมของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สปช.วานนี้ (24 ส.ค.2558) ที่มีนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นประธาน และคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สปช.ที่มีนายเสรี สุวรรณภานนท์ เป็นประธาน ที่นัดประชุมนอกรอบเมื่อวานนี้ (24 ส.ค.2558) เพื่อหารือถึงสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะประเด็นโครงสร้างการเมืองก่อนลงมติว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 กันยายนนี้

นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กล่าวว่า พบปัญหาอยู่ 3 เรื่อง คือ 1.คำปรารภที่ไม่ปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญ 2.กรณีการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ มาตรา 260 และ 3.เรื่องระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมและที่มา ส.ว.

ด้านนายอุดม เฟื่องฟุ้ง ประธานที่ปรึกษา กมธ.ปฏิรูปกฎหมายฯ กล่าวว่าร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่มีคำปรารภจะถือว่าสมบูรณ์ไม่ได้ โดยกฎหมายทุกฉบับต้องมีหลักการและเหตุผลให้เห็น ซึ่งรัฐธรรมนูญถือเป็นกฎหมายจึงต้องมีคำปรารภ ที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยเรื่อง คำปรารภว่า "คำปรารภเป็นหลักการสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ"

ดังนั้น ทางกรรมาธิการทั้ง 2 คณะ จะทำหนังสือถึง ประธาน สปช.ให้ทำเรื่องส่งถึง ครม.เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่มีคำปรารภถือว่าเสร็จหรือไม่ โดยอยากให้เร่งวินิจฉัยเพราะหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่ชอบหลังทำประชามติไปแล้วจะทำให้สูญเงินเปล่า


ข่าวที่เกี่ยวข้อง