ศาลยุติธรรมเสนอแก้ร่างรัฐธรรมนูญ 7 ประเด็น

การเมือง
21 เม.ย. 58
04:49
212
Logo Thai PBS
ศาลยุติธรรมเสนอแก้ร่างรัฐธรรมนูญ 7 ประเด็น

เนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญ ร่างแรกนี้ ยังมีความเห็นคัดค้านอีก 7 ประเด็น ซึ่งนายภัทรศักดิ์ วรรณแสง เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม แถลงระบุว่า เป็นความเห็นร่วมกันของ คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม รวม 25 คน และผู้พิพากษาจาก 3 ชั้นศาล รวม 427 คน ที่เตรียมเข้ายื่นหนังสือชี้แจงต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาและยื่นคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญด้วย

7 ประเด็นที่ ศาลยุติธรรมเห็นต่างประกอบไปด้วย

1.เรื่องกระบวนการพิจารณาคดี ตามมาตรา 218 ทั้งกรณีเงื่อนเวลาการพิจารณา,บุคคลที่ต้องให้ความร่วมมือต่อศาล และการกำหนดให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงคำพิพากษาและคำสั่งเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ ซึ่งกระบวนการนี้ อาจกระทบต่อสิทธิ์ของคู่ความ

2 มาตรา 219 เรื่องหลักประกันความอิสระของผู้พิพากษาและตุลาการ ด้วยการใช้สิทธิอุทธรณ์โดยตรงไปยังศาลสูงสุด ที่ผู้พิพากษาและตุลาการนั้นสังกัดอยู่ได้ อาจส่งผลให้เสียระบบการบริหารงานบุคคลของศาล เนื่องจากมีคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม หรือ ก.ต. ที่จะให้ความเป็นธรรมกับตุลาการและผู้พิพากษา ที่ถูกลงโทษทางวินัยอยู่แล้ว

3.มาตรา 222 เรื่องการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ซึ่งเห็นว่า ศาลควรเป็นผู้วินิจฉัยเอง ไม่ควรมีการแต่งตั้งบุคคลภายนอกเข้ามารวมเป็นคณะกรรมการชี้ขาดด้วย

4.มาตรา 225 เรื่ององค์กรบริหารงานบุคคลของผู้พิพากษาหรือตุลาการ ที่ไม่ควรกำหนดให้มีผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามาร่วมเป็นกรรมการ เพราะอาจเกิดการแทรกแซงการบริหารงานบุคคล,กระทบต่อความอิสระของผู้พิพากษาและตุลาการ และอาจเกิดการแทรกแซงในคดีได้

5.มาตรา 226 ตามวรรคสอง เรื่องอายุของผู้พิพากษาหรือตุลาการ โดยเฉพาะตำแหน่ง "ผู้พิพากษาอาวุโส"ควรกำหนดให้ชัดเจน

6.มาตรา 240 กรณีคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อยู่ในอำนาจของศาลฎีกา ควรบัญญัติเพิ่มเติมเรื่องหลักเกณฑ์การอุทธรณ์ เนื่องจากที่ผ่านมามีจำเลยหลบหนีออกนอกประเทศ และให้ทนายความเป็นผู้ยื่นอุทธรณ์

7.มาตรา 241 กรณีศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค มีอำนาจพิพากษาคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้งและการเพิกถอนสิทธิ แต่ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องอำนาจในการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ และยังไม่มีการกำหนดเรื่องการอุทธรณ์ไว้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง