สมช.หนุนใช้ "ระบบไบโอเมทริก" เทคโนโลยีพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล

อาชญากรรม
2 ก.ย. 58
16:03
159
Logo Thai PBS
สมช.หนุนใช้ "ระบบไบโอเมทริก" เทคโนโลยีพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล

หลังจากเกิดเหตุระเบิดที่แยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 17 ส.ค.2558 ตามมาด้วยการจับกุมผู้ต้องสงสัยทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะการจับกุมผู้ต้องสงสัยคนหนึ่งขณะกำกลังเดินทางออกนอกประเทศที่ จ.สระแก้ว ทำให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องมีระบบการเก็บข้อมูลด้านไบโอเมทริกเสียที

ขณะนี้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองต้องดูแลรับผิดชอบด่านตรวจทั่วประเทศกว่า 20 ด่านที่เชื่อมต่อกับ 4 ประเทศคือ เมียนมา ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย ข้อมูลจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองพบว่า ด่านชายแดนมีชาวเมียนมาเข้าออกมากที่สุดกว่า 2.5 ล้านคนต่อปี ลาวเข้าออกประมาณ 1 ล้านคน กัมพูชาเข้าออกเกือบ 1.5 ล้านคน และมาเลเซียประมาณ 450,000 คน คนผ่านเข้าออกที่มีจำนวนมากเช่นนี้ไม่ใช่ปัญหา เพราะถึงอย่างไรไทยก็ต้องพึ่งพาแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงการค้าขายและการท่องเที่ยว แต่ปัญหาคือมีคนที่แอบแฝงเข้ามาทำสิ่งผิดกฎหมายซึ่งอาจจะเป็นคนสัญชาติอื่นนอกเหนือจากประชาชนของ 4 ประเทศเพื่อนบ้านด้วย ยังไม่นับการลักลอบเข้ามาตามป่าเขาหรือด่านพรมแดนธรรมชาติ นี่คือเหตุผลว่าทำไม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จึงพูดว่า ประเทศไทยต้องมีการเก็บข้อมูลด้านไบโอเมทริก

นายอนุสิษฐ์ คุณากร เลขาธิการ สมช. กล่าวว่า เราจะต้องลงทุนติดตั้งเครื่องมือในเรื่องของความมั่นคง รัฐบาลให้ความสำคัญกับมิติด้านความมั่นคงค่อนข้างมาก ไม่ว่าเศรษฐกิจเราจะดีอย่างไรก็แล้วแต่ แต่ถ้าระบบความมั่นคงของเราอ่อนแอ ทุกอย่างก็อ่อนแอไปด้วย เช่น ปัญหาเรื่องเทียร์ 3 (ปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์) หรือไอยูยู (การทำประมงผิดกฎหมาย) ล้วนแต่เกิดจากปัญหาการละเลยหรือความอ่อนแอในการบังคับใช้กฎหมาย

ไบโอเมทริกคือ เทคโนโลยีที่ใช้พิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลทั้งพฤติกรรมภายนอกและกายภาคหรืออวัยวะต่างๆ คนหนึ่งคนจะมีลักษณะทางกายภาพที่บ่งบอกว่าเป็นเราได้ตั้งแต่ลายนิ้วมือ แต่ละคนจะมีลักษณะเด่นแตกต่างกัน มีผลวิจัยระบุว่า โอกาสที่คนเราจะมีลายนิ้วมือซ้ำกันแค่ 1 คู่ เพียง 1 ใน 600 ล้านคน การเก็บลายนิ้วมือจึงนิยมมากที่สุด

นอกจากนี้ยังรวมถึงการเก็บข้อมูลลักษณะใบหน้า เช่น ใบหน้ารูปไข่ กลม เหลี่ยม และการดูลักษณะของมือ ลักษณะของนิ้วมือ ลักษณะใบหู ม่านตา แม้แต่กลิ่นก็เป็นลักษณะทางกายภาพเฉพาะตัว อีกอย่างหนึ่งคือลักษณะทางพฤติกรรมซึ่งเก็บข้อมูลได้ตั้งแต่การใช้แป้นพิมพ์ ท่าทางการเดิน การใช้เสียง และการเซ็นชื่อ จะเห็นว่า บางอย่างอาจจะปลอมแปลงหรือเลียนแบบได้ แต่เมื่อทุกส่วนประกอบกันเพื่อบอกลักษณะเฉพาะของคนคนหนึ่งจะแม่นยำมากขึ้น และเมื่อฐานข้อมูลถูกเชื่อมโยงกับต่างประเทศ ทำให้อาชญากรที่จะแฝงตัวในประเทศต่างๆ ถูกตรวจจับได้ง่ายขึ้น เทคโนโลยีไบโอเมตริกอาจจะพบเห็นได้ในการรักษาความปลอดภัยของสถาบันการเงินต่างๆ หรือบริษัทเอกชนใหญ่ การจะติดตั้งตามแนวชายแดนทั้งหมดคงจะต้องใช้งบประมาณมหาศาล อย่างไรก็ตามเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องลงทุน

ติดตามข่าวสารผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ไทยพีบีเอสออนไลน์
https://www.facebook.com/ThaiPBSNews?ref=hl

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง