ย้อนดูครึ่งแรกปี 58 อุตสาหกรรมไหนรุ่ง-ร่วง

2 ก.ย. 58
10:59
253
Logo Thai PBS
ย้อนดูครึ่งแรกปี 58 อุตสาหกรรมไหนรุ่ง-ร่วง

ย้อนดูการเลิกจ้างแรงงานช่วงกลางปี 58 พบเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่เริ่มซบ ย้ายฐาน-เปลี่ยนเทคโนโลยีผลิต สาเหตุเลิกจ้าง-ลดจำนวนแรงงาน ส่วนยานยนต์ กนอ.ย้ำไทยยังเป็นแชมป์ฐานผลิต เบียดคู่แข่งในอาเซียน

การปิดโรงงานและการเลิกจ้างและลดวันทำงาน เป็นข่าวใหญ่ช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สะท้อนสภาพเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะขาลงของการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมของไทย

                                                                          
          

<"">

15 ก.ค.2558 บริษัท ซัมซุง อิเล็คโทร-แม็คคานิคส์ จำกัด โรงงานผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมสุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา ประกาศเลิกจ้างพนักงาน 1,365 คน โดยก่อนหน้านี้ทางบริษัทได้มีการให้พนักงานสมัครใจลาออกจำนวนกว่า 600 คน

28 ก.ค.2558 บริษัท โฮย่า กลาสดิสต์ (ประเทศไทย) ผลิตกล้องและฮาร์ดดิสก์ ตั้งอยุ่ที่นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูน มาตรา 75 คุ้มครอง ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค.-31 ก.ค. ให้พนักงาน 400 คนหยุดงาน โดยจ่ายค่าจ้างร้อยละ 75

เมื่อดูจากประเภทอุตสาหกรรมที่เลิกจ้างและลดจำนวนแรงงานพบว่าเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนเล็กทรอนิกส์และฮาร์ดิสก์ไดรฟ์ โดยเฉพาะฮาร์ดิสก์ไดรฟ์อย่างเดียว สถาบันฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (HDDI) ของ สวทช.ระบุว่าเกิดการจ้างงานกว่า 1 แสนตำแหน่ง กลายเป็นอุตสาหกรรมที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ฐานของโรงงานอุตสาหกรรมกว่าร้อยละ 40 ของประเทศบอกว่าเป็นกลุ่มที่ต้อง “เฝ้าระวัง”
“กรณีของซัมซุงที่มีการเลิกจ้างพนักงานเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้ทราบมาก่อนล่วงหน้า ได้ย้ายฐานการผลิตไปเวียดนามเนื่องด้วยเหตุผลด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษีและค่าจ้างแรงงานที่ต้นทุนน้อยกว่าไทย”
ผู้ว่าการ กนอ.ชี้ว่าอุตสาหกรรมเหล่านี้มีแนวโน้มถูกลดยอดการผลิต เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีที่ต้องอาศัยทักษะของแรงงานที่เปลี่ยน ผู้ผลิตจะทยอยลดจำนวนแรงงานเดิมเพื่อลงทุนตั้งไลน์ผลิตที่ใช้เทคโนโลยีรูปแบบใหม่

“เซคเตอร์ด้านการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตมาใช้เทคโนโลยีแบบ SOLID STATE DRIVEหรือ SSD ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่พัฒนามาในช่วง 7-10 ปีมานี้ อย่างที่ใช้ในไอแพด ผู้ผลิตรายใหญ่ ได้แก่ ซีเกท เทคโนโลยี (SEAGATE) WD (Western Digital) ในนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา มีการชะลอการจ้างงาน ไลน์ผลิตเดิมลดคนลง และแนวโน้มต่อจากนี้ก็มีการเปลี่ยนแปลงไลน์ผลิตมากขึ้น” ผู้ว่าการ กนอ.ระบุ

ไตรมาส 1 (ม.ค.-มี.ค.) ลดลง ร้อยละ 8.23
ไตรมาส 2 (เม.ย.-มิ.ย.) ลดลง ร้อยละ 22.47

จากรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคม 58 ของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม แสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ มีภาวะการผลิตลดลงร้อยละ 19.95 เนื่องจากความต้องการฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ในตลาดยังคงมีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ขณะที่เดือนมิถุนายน 58 ผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 8.0 อุตสาหกรรมสำคัญที่ลดลง ได้แก่ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ รถยนต์ เครื่องรับโทรทัศน์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเบียร์

นอกจากนี้สำนักเศรษฐกิจอุตสาหกรรมยังวิเคราะห์แนวโน้มภาพรวมอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไตรมาส 3 ปี 2558 คาดการผลิตจะปรับตัวลดลงร้อยละ 5.88 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์จะนำไปใช้กลุ่ม Cloud storage และศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่มากขึ้นแทนตลาดคอมพิวเตอร์ ทำให้ปริมาณการผลิตไม่มากเท่าที่ผ่านมา

                                                                                                                                                                             

<"">
  

กนอ.ยันไทยยังเป็นแชมป์ฐานผลิตรถยนต์ แม้ยอดขายในประเทศตก-ส่งออกวูบ

วันที่ 28 ก.ค.2558 บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด แถลงประมาณการตลาดรถยนต์ในประเทศไทยในปี 2558 ว่าจะมียอดขายรวมอยู่ที่ไม่เกิน 800,000 คัน ซึ่งเป็นการปรับจากคาดการณ์เมื่อต้นจากเดิม 920,000 คัน โดยในครึ่งปีแรกไทยมียอดขายรวมอยู่ที่ 369,109 คัน มีอัตราการเติบโตลดลง 16.3% หากเปรียบเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 57 เป็นผลจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังจำกัด และความกังวลต่อความผันผวนของ ทำให้ครัวเรือนและเอกชนระวังการใช้จ่าย

เมื่อมาดูตัวเลขปริมาณการผลิตค่อนข้างเป็นไปในทิศทางเดียวกับยอดขายที่ตกลงตามที่ค่ายรถรายใหญ่อย่างโตโยต้าออกมาประเมิน ดัชนีการผลิตของอุตสาหกรรมรถยนต์เดือน มิ.ย.2558 ชี้ว่าชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปี 2557และมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวต่อเนื่อง เป็นผลจากการชะลอตัวของตลาดในประเทศและตลาดส่งออก

          

<"">

อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าการ กนอ.กล่าวถึงกลุ่มอุตสาหกรรมที่ยังเรียกว่าเป็นดาวรุ่งในไทยยังเป็นอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ ซึ่งมีตัวชี้วัดได้จากที่ค่ายรถยนต์หลายค่ายได้ขยายการผลิตในส่วนของอีโคคาร์ เฟส 2 ซึ่งทำให้สามารถยืนยันได้ว่าค่ายรถและบริษัทชิ้นส่วนรถยนต์ยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ

“ไทยยังเป็นฐานลงทุนที่ดีของอุตสาหกรรมรถยนต์ เนื่องจากกลุ่มธุรกิจนี้เป็นกลุ่มที่มีฐานการผลิต วางไลน์การผลิตอยู่ในไทยมาเป็นเวลานาน คุ้นเคย และมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ทำให้การขยายฐานและพัฒนาการผลิต กลุ่มนี้วางระบบไว้รองรับอยู่แล้ว จึงยังทำให้ประเทศไทยยังคงเป็นแชมป์การผลิตรถยนต์” ผู้ว่าการ กนอ.ระบุ

นายวีรพงษ์ยังชี้อีกว่าคู่แข่งที่สำคัญของการเป็นฐานผลิตรถยนต์ คือ อินโดนีเซีย ซึ่งมีตลาดภายในประเทศที่น่าดึงดูด จากตัวเลขจำนวนประชากรที่มีถึง 200-300 ล้านคน ซึ่งเป็นตลาดที่น่าสนใจของค่ายรถยนต์ในการเข้าไปลงทุนตั้งฐานผลิต ส่วนอีกอุตสาหกรรมที่ยังมีแนวโน้มเติบโตเป็นอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเน้นการผลิตปลายน้ำมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเม็ดพลาสติกที่มีคุณภาพสูง ในเขตอุตสาหกรรมชายฝั่งภาคตะวันออก

ไทยกำลังจะเป็นคนป่วยใหม่ของเอเชีย

จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทย ดร.พิพัฒน์ ชี้ว่าสถานการณ์ที่ปรากฏให้เห็นในอุตสาหกรรมช่วงนี้ เป็นสัญญาณแรกๆที่เห็น ซึ่งเกิดจากปัจจัยภายในของประเทศไทยเอง ได้แก่ ค่าแรงที่สูงขึ้น เทคโนโลยีที่ไม่เพียงพอ ประกอบกับการผลิตในภาคอุตสาหกรรมของไทยเป็นรูปแบบ OEM (Original Equipment Manufactoring) คือเป็นผู้รับจ้างผลิตแต่ไม่ได้ตีตราก่อนส่งไปให้ผู้จ้างผลิตประกอบต่อเป็นสินค้าต่อไป ซึ่งในอนาคตจะกลายเป็นปัญหาระยะยาวที่ไทยจะต้องเพิ่มห่วงโซ่คุณค่าในวงจรการผลิตมากขึ้นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่ง

“เราไม่อยู่ในตำแหน่งทางการแข่งขันที่จะยกระดับไปผลิตในอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนไปได้ ขณะเดียวกันแม้ว่าเราจะเป็นผู้ส่งออกฮาร์ดดิสก์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิคส์ที่เจ๋งมาก แต่ไม่มีใครรู้เลยว่าเราผลิต เราเป็นเพียงผู้รับจ้าง และค่าแรงของเราแพงขึ้นเรื่อยๆ”

ดร.พิพัฒน์ยังชี้อีกว่าประสบการณ์เช่นนี้ไต้หวัน เกาหลี เจอมาหมด ในช่วงปี 90 เกือบทุกประเทศในเอเชียมีอัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ 6-7 เปอร์เซ็นต์ แต่พอค่าแรงของเขาแพงขึ้น ก็หันไปพัฒนาด้านการวิจัยและพัฒนาขึ้นมาทดแทน แต่สถานการณ์ของไทยขณะนี้เรียกว่าอาจจะกำลังเป็น “คนป่วยใหม่ของเอเชีย”
“สิ่งที่เราเจอเป็น Perfect storm ค่าแรงแพงกว่าประเทศอื่นตอนที่เศรษฐกิจโลกกำลังไม่ดี” ดร.พิพัฒน์สรุป

กดถูกใจหน้าเพจ ThaiPBSNews
https://www.facebook.com/ThaiPBSNews?ref=hl


ข่าวที่เกี่ยวข้อง