"สมบัติ-เสรี" เสนอแก้ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม

การเมือง
21 เม.ย. 58
12:59
232
Logo Thai PBS
"สมบัติ-เสรี" เสนอแก้ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม

"สมบัติ-เสรี" ชี้ประเด็นอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญ หวั่นการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมจะทำให้ได้รัฐบาลผสม เสนอให้มีเฉพาะการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเท่านั้น ขณะที่อีกแนวทางหนึ่งเสนอให้ปรับปรุงแก้ไขข้อบัญญัติใน 6 ประเด็นด้วยกัน ด้าน กมธ.ยกร่างฯ แจงระบบเลือกตั้งแบบใหม่แก้ปัญหาเผด็จการรัฐสภา

วันนี้ (21 เม.ย.2558) การอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 2 ซึ่งเป็นการอภิปรายภาค 2 เรื่องผู้นำการเมืองที่ดีและสถาบันการเมือง มีสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงชื่ออภิปรายรวม 129 คน ส่วนใหญ่อภิปรายในหมวดที่ 1 เรื่องระบบผู้แทนที่ดีและผู้นำการเมืองที่ดี ความน่าสนใจของประเด็นการอภิปรายอยู่ที่ข้อบัญญัติเกี่ยวกับโครงสร้างการเมือง โดยนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง และนายเสรี  สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ที่ต่างท้วงติงถึงการออกแบบกลไกทางการเมืองที่ไม่สัมพันธ์ระหว่างการบริหาร ตรวจสอบ และสาระสำคัญที่เชื่อว่าไม่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาทางการเมือง

นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อภิปรายชี้ 4 จุดเสี่ยง ทั้งความไม่สมดุลของอำนาจฝ่ายการเมืองและนิติบัญญัติ รัฐบาลผสมที่จะไม่เข้มแข็งเกิดการต่อรอง การแบ่งแยกอำนาจที่สับสนจากการที่นายกรัฐมนตรีไม่ต้องเป็น ส.ส. และกลไกตรวจสอบที่อ่อนแอ พร้อมเสนอ 6 ประเด็นที่ต้องปรับปรุง อาทิ ต้องกำหนดเงื่อนไขนายกคนนอกให้ชัดเจน เพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง และการใช้อำนาจรัฐ

ขณะที่นายเสรี สุวรรณภานนท์ อภิปรายขอให้พิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้ตอบโจทย์การแก้ปัญหาทางการเมือง การทุจริตการเลือกตั้ง ความขัดแย้ง และนักการเมือง รวมทั้งข้าราชการที่ทุจริตคอร์รัปชั่น ด้วยการให้มี ส.ส.ระบบเขตเท่านั้น รวมถึงการป้องกันการเข้าสู่อำนาจของกลุ่มการเมืองอันจะเป็นเหตุให้เกิดปัญหาความแตกแยกในอนาคต

ก่อนหน้านั้นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมถึงหลักการและเจตนารมณ์การยกร่าง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการเมือง การเลือกออกแบบระบบรัฐสภาแบบสัดส่วนผสมเพื่อให้เกิดความสมดุลทางการเมือง ลดความขัดแย้งในรัฐสภา และเพื่อไม่ให้ระบบพรรคการเมืองอ่อนแอ

และล่าสุดประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูป 13 คณะที่แสดงเจตจำนงอภิปรายในภาค 2 อภิปรายเสร็จสิ้นลงแล้ว โดยเหลือสมาชิก สปช. ที่ขออภิปรายให้ข้อเสนอแนะและปรับแก้เนื้อหาจำนวน 116 คน โดยวิป สปช.กำหนดกรอบให้การอภิปรายในภาค 2 นี้ แล้วเสร็จภายในวันที่ 23 เมษายนนี้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง