5 ปัญหาสาธารณะที่ชาวสิงคโปร์ต้องการเปลี่ยนในวาระเลือกตั้ง

ต่างประเทศ
11 ก.ย. 58
12:19
533
Logo Thai PBS
5 ปัญหาสาธารณะที่ชาวสิงคโปร์ต้องการเปลี่ยนในวาระเลือกตั้ง

การตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจเป็นประเด็นหนึ่งที่มีการพูดกันมากในสิงคโปร์ โดยเฉพาะในช่วงหลังๆ ที่ประชาชนเริ่มรู้สึกว่าพวกเขาต้องการมีผู้ตรวจสอบและถ่วงดุลรัฐบาลมากขึ้น ซึ่งประเด็นที่ได้รับการพูดถึงในการเลือกตั้งครั้งนี้ มีทั้งหมด 5 ประเด็น

แรงงานอพยพย้ายถิ่นฐาน
แรงงานอพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาทำงานในสิงคโปร์ กลายเป็นประเด็นร้อนแรงสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ นโยบายรับแรงงานจากต่างประเทศเข้ามาทำงานในสิงคโปร์ ที่ริเริ่มโดยพรรค PAP ด้วยความหวังจะให้แรงงานในประเทศมีเพียงพอ ในยุคสมัยที่ประชากรสิงคโปร์มีแต่จะลดลงกลายเป็นผลร้ายต่อพรรค การผ่อนคลายนโยบายรับคนเข้าเมือง ทำให้ชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานและอาศัยในสิงคโปร์เพิ่มมากขึ้น จากปี 2549 สิงคโปร์มีประชากร 4,400,000 คน เพิ่มเป็น 5,500,000 คนในปี 2557 ตรงตามเป้าหมายของรัฐบาล แต่ว่าการมีคนเพิ่มขึ้นเท่ากับพื้นที่ที่น้อยอยู่แล้วในสิงคโปร์ แออัดมากขึ้น

ชาวสิงคโปร์บางส่วนยังมองว่าแรงงานจากต่างชาติเข้ามาแย่งงานของพวกเขา ทำให้สภาพความเป็นอยู่ของพวกเขา ไม่ดีขึ้นตามที่รัฐบาลสัญญาไว้ กลายเป็นประเด็นที่พรรคฝ่ายค้านหยิบยกมาหาเสียงเพื่อควบคุมจำนวนแรงงานจากต่างชาติที่จะมาทำงานในสิงคโปร์

การตรวจสอบและถ่วงดุลรัฐบาล
เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ชาวสิงคโปร์ให้ความสำคัญ คนรุ่นใหม่ไม่น้อยที่ได้เห็นแบบอย่างในต่างประเทศ มองว่าการมีรัฐบาลพรรควที่ขาดการตรวจสอบและถ่วงดุล และปล่อยให้คนเพียงหยิบมือคิดและตัดสินใจแทนชาวสิงคโปร์ร่วม 6 ล้านคน ไม่น่าจะเป็นเรื่องดีสำหรับอนาคต แต่สำหรับนายกรัฐมนตรีลี เซียน ลุง แล้ว กลับเห็นว่าการมีคนเข้ามาตรวจสอบการทำงานในรัฐสภาเพิ่มขึ้น ก็เท่ากับคนที่จะลงมือทำงานรับใช้ประชาชนจะลดน้อยลง

เศรษฐกิจ
เป็นปัญหาสำคัญสำหรับทุกประเทศ และเป็นประเด็นที่คนทั่วโลกให้ความสนใจรับฟังนโยบายระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง สิงคโปร์ก็เช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัว รัฐบาลต้องปรับลดคาดการณ์เติบโตทางเศรษฐกิจเหลือ 2-2.5 จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ราวๆ ร้อยละ 2-4 ขณะที่ตัวเลขการผลิตทางอุตสาหกรรมเมื่อเดือนกรกฎาคม หดตัวลงถึงร้อยละ 6.1 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ประกอบกับความกังวลถึงผลกระทบจากเศรษฐกิจจีนกับมาเลเซีย ทำให้ชาวสิงคโปร์ติดตามเรื่องนโยบาบเศรษฐกิจเป็นพิเศษ

ที่พักอาศัยและคนเกษียณอายุ
เป็นประเด็นสำคัญที่เกี่ยวโยงกับแรงงานอพยพย้ายถิ่นจากต่างชาติ ความแออัดของตัวเอง และจำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาที่พักอาศัยในสิงคโปร์ถีบตัวสูงขึ้นตาม แม้จะเป็นแฟลตที่ทางการสร้างขึ้นก็มีราคาสูงเช่นกัน ประกอบกับข้อกำหนดของกองทุนเพื่อการเกษียณอายุที่รัฐบาลบังคับให้ชาวสิงคโปร์ออมเงินแต่ละเดือนเพื่อเหลือใช้ในยามเกษียณ และกำหนดเงินคงเหลือขั้นต่ำในบัญชีเมื่ออายุ 55 ปี เกือบๆ 4 ล้านบาท แม้จะสามารถถอนเงินจากกองทุนเพื่อใช้ซื้อที่พักอาศัย ใช้จ่ายด้านสุขภาพ หรือค่าการศึกษาบุตรแล้ว แต่เท่ากับว่าคนที่ยังทำงานอยู่ก็จะต้องเก็บเงินให้ได้ตามข้อกำหนดขั้นต่ำเท่ากับคนยากจน จะมีโอกาสมีบ้านลดลงตามไปด้วย กลายเป็นนโยบายที่ฝ่ายค้าน หยิบยกขึ้นมาโจมตีมากอีกประเด็นหนึ่ง

การคมนาคมและการขนส่งมวลชน
ที่ผ่านมาสิงคโปร์ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีระบบขนส่งมวลชนที่มีเครือข่ายโยงใยพรั่งพร้อม แต่สำหรับชาวสิงคโปร์ มองว่าตอนนี้ระบบขนส่งมวลชนกำลังมีปัญหา เพราะประชาชนใช้บริการเพิ่มสูงขึ้นทุกวันก่อให้เกิดความความแออัด รวมทั้งกระทบกับบริการ และเสี่ยงจะทำให้อุปกรณ์เสียหาย ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาเริ่มมีรายงานข่าวเรื่องรถไฟเสียในชั่วโมงเร่งด่วนกระทบต่อผู้ใช้บริการกว่า 250,000 คน กลายเป็นประเด็นที่ทำให้ชาวสิงคโปร์ต้องการเห็นแนวทางแก้ไข แม้ว่าขณะนี้ รัฐบาลจะเร่งขยายบริการรถไฟแล้วก็ตาม


ข่าวที่เกี่ยวข้อง