"พล.อ.ประวิตร" ตั้งกก.แก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย หลังอียูให้ "ใบเหลือง"

เศรษฐกิจ
21 เม.ย. 58
15:14
266
Logo Thai PBS
"พล.อ.ประวิตร" ตั้งกก.แก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย หลังอียูให้ "ใบเหลือง"

วันนี้ (21 เม.ย.2558) คณะกรรมาธิการยุโรปได้ประกาศแจ้งเตือนประเทศไทยเกี่ยวกับมาตรการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมายที่ทางคณะกรรมาะการฯ เห็นว่ายังไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไร้การควบคุม (IUU) ทำให้รัฐบาลไทยออกมาตอบโต้ทันที โดยกระทรวงการต่างประเทศแสดงความผิดหวังต่อการตัดสินใจครั้งนี้และเรียกร้องให้อียูพิจารณาการดำเนินการของไทยตามหลักเกณฑ์และมาตรฐานที่มีความโปร่งใสและเที่ยงตรง ไม่เลือกปฏิบัติและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่แท้จริงในไทย ขณะที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เตรียมเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแก้ไขปัญหานี้

แถลงการณ์ของอียูระบุว่า ในการตรวจประเมินการใช้มาตรการแก้ปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมายในประเทศไทยในปี 2544 และ 2545 คณะกรรมาธิการยุโรปได้ระบุข้อบกพร่องต่างๆ ของประเทศไทยเกี่ยวกับมาตรการการดำเนินงานตาม "กฎหมายต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไร้การควบคุม" (IUU) ของสหภาพยุโรป เช่น มีกฎหมายไม่เพียงพอต่อการควบคุมการทำประมงและสำหรับการค้าสินค้าประมงที่ผ่านเข้ามาในประเทศไทย รวมถึงมาตรการการดูแล ควบคุม และเฝ้าระวังเรือประมงไทย และการนำเข้าสินค้าประมงที่ผิดกฎหมายจากประเทศที่สามเพื่อการแปรรูปในประเทศและส่งออกไปยังสหภาพยุโรป

"จากการสังเกตการณ์ของคณะกรรมาธิการยุโรปที่เข้ามาในประเทศไทยในเดือนตุลาคม พ.ศ.2557 พบว่าข้อกังวลต่างๆ ยังคงอยู่" อียูระบุ

อียูอธิบายว่าการแจ้งเตือนดังกล่าวเป็นเพียงการให้ "ใบเหลือง" ซึ่งไม่มีผลในการคว่ำบาตรสินค้าประมงจากประเทศไทยเข้าสู่สหภาพยุโรป แต่เป็นการนำไปสู่การปรึกษาหารืออย่างจริงจังระหว่างคณะกรรมาธิการยุโรปและประเทศไทยเพื่อแก้ไขประเด็นปัญหาต่างๆ ทั้งนี้คณะกรรมาธิการยุโรปจะสนับสนุนความพยายามของประเทศไทยในการแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ รวมถึงมาตรการการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ "กฎหมายว่าด้วยการต่อต้านการทาประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไร้การควบคุม" ของสหภาพยุโรปมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2553 เป็นมาตรการด้านอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการประมงที่ยั่งยืน โดยมีผลบังคับใช้ต่อสินค้าประมงทะเลทุกประเภทที่นำเข้าสู่ และส่งออกจากสหภาพยุโรป กฎหมายดังกล่าวมีเจตจำนงเพื่อสร้างเสริมความมั่นใจว่าจะไม่มีสินค้าประมงที่ผิดกฎหมายสามารถเข้าสู่ตลาดสหภาพยุโรปได้

หลังจากที่มีการออกใบเหลือง คณะกรรมาธิการยุโรปจะนำเสนอแผนปฏิบัติการที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมเพื่อแก้ไขสถานการณ์ ภายใต้กรอบเวลาที่สมเหตุสมผล หลังจากนั้นคณะกรรมาธิการยุโรปจะประเมินความคืบหน้าในการดำเนินงานของประเทศไทย

"ถ้าสถานการณ์ดีขึ้นเป็นที่น่าพอใจ ประเทศไทยจะถูกปลดจากบัญชีรายชื่อประเทศที่ได้รับใบเหลือง ซึ่งมีหลายประเทศที่ได้ถูกปลดจากสถานะดังกล่าว เนื่องมาจากการที่ประเทศเหล่านั้นได้ดำเนินมาตรการที่แข็งขันในการแก้ไขปัญหาและแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะปรับปรุงโครงสร้างระบบอย่างสมบูรณ์เพื่อต่อต้านการทาประมงที่ผิดกฎหมาย เฉพาะในกรณีที่สถานการณ์ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้นคณะกรรมาธิการยุโรปมีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณามาตรการขั้นต่อไป คือการให้ใบแดง ซึ่งจะมีผลต่อการคว่ำบาตรการนาเข้าสินค้าประมงทะเลจากประเทศไทย

หลังจากอียูประกาศให้ใบเหลือง กระทรวงการต่างประเทศได้ออกแถลงการณ์ระบุว่าไทยรู้สึกผิดหวังอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจออกประกาศเตือนดังกล่าว ซึ่งสะท้อนว่าอียูมิได้ตระหนักถึงความมุ่งมั่นและความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรมของไทยในการแก้ปัญหา IUU รวมถึงความร่วมมือระหว่างไทยกับอียูในการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมายที่มีมายาวนาน

"ไทยเรียกร้องให้อียูพิจารณาการดำเนินการของไทยในเชิงเทคนิคตามหลักเกณฑ์และมาตรฐานที่มีความโปร่งใสและเที่ยงตรง อย่างไม่เลือกปฏิบัติและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่แท้จริงในไทย ไทยจะสานต่อความร่วมมือกับ EU เพื่อให้ไทยออกจากกลุ่มที่ถูกประกาศเตือน รวมทั้งสามารถแก้ไขและป้องกันการทำประมงแบบ IUU ต่อไปในอนาคตได้อย่างยั่งยืน"

กระทรวงการต่างประเทศระบุว่า รัฐบาลไทยตระหนักถึงความสำคัญในการรักษาทรัพยากรทางทะเลและกำหนดให้การแก้ไขปัญหาการประมงแบบ IUU เป็นปัญหาสำคัญระดับชาติที่ต้องแก้ไขโดยความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้  กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหน่วยงานหลักได้เป็นผู้นำในการบูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งดำเนินการตามแผนงานหลัก 6 แผนงานให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ (1) การปรับปรุงพระราชบัญญัติการประมงและกฎหมายลำดับรอง (2) การจัดทำแผนระดับชาติในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมง IUU (3) การเร่งจดทะเบียนเรือประมงและออกใบอนุญาตทำการประมง (4) การพัฒนาระบบควบคุมและเฝ้าระวังการทำประมง โดยเฉพาะการควบคุมการเข้าออกท่าของเรือประมง (5) การจัดทำระบบติดตามตำแหน่งเรือ (Vessel Monitoring System - VMS) และ (6) การปรับปรุงระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability)

ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เตรียมตั้งคณะกรรมการชุดเฉพาะกิจแก้ปัญหาประมงไทย ให้เป็นไปตามกฎหมายประมงฉบับใหม่และแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย

พล.อ.ประวิตรเปิดเผยว่าเตรียมเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาตั้งคณะกรรมการชุดเฉพาะกิจเพื่อแก้ปัญหาประมงไทยโดยตรง หลังรับทราบรายงานว่าคณะกรรมาธิการยุโรปได้ออกกฎหมายประมงฉบับใหม่และแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย เนื่องจากไทยได้ส่งรายงานแผนปฏิบัติการแล้ว แต่ยังไม่เป็นที่พอใจกับผลการดำเนินการ โดยเฉพาะประเด็นบทลงโทษทางกฎหมายของไทย

พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ปัญหาประมงไทยเกิดมาตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งเมื่อมาถึงรัฐบาลนี้ ก็พยายามแก้ไขปัญหา ทั้งขึ้นทะเบียนเรือประมง แก้กฎหมาย แต่การดำเนินการที่ผ่านมายังไม่เพียงพอและไม่สอดคล้องกับกฎหมายของอียู แต่ยืนยันว่าพร้อมจะแก้ไขข้อบกพร่องต่อไป
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง