อุดรฯจัดเวทีชี้แจงเหมืองโปแตชในค่ายทหาร เมินชาวบ้านร่วม-จวกทุนเร่งออกประทานบัตร

สิ่งแวดล้อม
12 ก.ย. 58
09:25
316
Logo Thai PBS
อุดรฯจัดเวทีชี้แจงเหมืองโปแตชในค่ายทหาร เมินชาวบ้านร่วม-จวกทุนเร่งออกประทานบัตร

อำเภอประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี เรียกชาวบ้านฟังชี้แจงเหมืองโปแตชในค่ายทหารฯ ทั้งที่ตามระเบียบต้องทำในหมู่บ้าน อ้างกลุ่มอนุรักษ์ไม่ส่งกระบวนการฯ ทั้งที่แกนนำระบุส่งไปตั้งแต่ 24 ส.ค. เลขาธิการกป.อพช.อีสานจวกนายทุนเร่งออกประทานบัตรเหมืองช่วงนี้

วันนี้ (12 ก.ย.2558) เวลา 09.00 น. นางมณี บุญรอด กรรมการกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (11ก.ย.) ประมาณ 5 โมงเย็น ตนได้รับหนังสือ ด่วนที่สุด จากอำเภอประจักษ์ศิลปาคม เลขหนังสือที่ อด 2018/2737 ลงวันที่ 11กันยายน 2558 เชิญเข้าร่วมเวทีการจัดประชุมเพื่อรับฟังการชี้แจง (การประชาคมหมู่บ้าน) การดำเนินโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี เนื้อหาระบุว่า จังหวัดอุดรธานีเห็นควรให้มีการจัดประชุมรับฟังการชี้แจง การดำเนินโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ตามคู่มือวิธีปฏิบัติขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปี เรื่องการให้ความเห็นในการพิจารณาอนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่ พ.ศ.2545 ในวันอังคารที่ 15 กันยายน 2558 เวลา 08.30 - 12.00 น. ณ สโมสรค่ายพระยาสุนทรธรรมธาดา ต.โนนสูง อ.เมืองอุดรธานี

เนื้อหาระบุว่า จังหวัดอุดรธานีได้แต่งตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัด เพื่อติดตามการดำเนินการเกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่โปแตชจังหวัดอุดรธานี โดยประชุมไปแล้ว 2 ครั้ง ที่ประชุมหารือแนวทางในการแก้ไขปัญหาในวงกว้าง และกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ได้เสนอให้มีการจัดเวทีประชุมวิชาการ ซึ่งนอกเหนือจากการดำเนินการคำขอประทานบัตรโครงการตามระเบียบที่กำหนดไว้ ต่อมาจังหวัดอุดรธานีได้มีหนังสือถึงกลุ่มอนุรักษ์ฯ เพื่อสอบถามความพร้อมในการประสานงานนักวิชาการ เพื่อเข้าร่วมเวทีประชุมวิชาการ แต่ยังไม่มีการตอบรับจากกลุ่มอนุรักษ์ฯ แต่อย่างใด ซึ่งเวลาล่วงเลยมานานแล้ว จังหวัดอุดรธานี จึงดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนการพิจารณาคำขอประทานบัตร

นางมณีกล่าวว่า การประชาคมหมู่บ้านจะต้องทำในหมู่บ้าน ไม่ใช่ทำกันในค่ายทหารและไม่สนใจกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งมันเป็นการมัดมือชกชาวบ้าน ในขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐก็เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทโปแตช โดยการนำกำลังทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่อส. มาคอยคุ้มกันเวที ซึ่งไม่ถูกต้อง ไม่มีความโปร่งใส ดังนั้นเราจึงไม่ยอมรับอำนาจในครั้งนี้ และยืนยันว่าจะต่อสู้ต่อไป

“ถ้าจะทำกันจริงๆ ตามระเบียบบอกไว้ว่าการประชาคมต้องทำในหมู่บ้าน ในชุมชน ต.ห้วยสามพาด และต.นาม่วง อ.ประจักษ์ศิลปาคม แต่การประชาคมครั้งนี้ไปทำกันในค่ายทหาร ต.โนนสูง อ.เมืองอุดรธานี ซึ่งอยู่นอกเขต และห่างจากพื้นที่ไปอีกกว่า 10 กม. จึงเป็นการกีดกันการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน” นางมณีกล่าว

นางมณีกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมากลุ่มอนุรักษ์ฯ เรียกร้องกับผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี และทหารมาโดยตลอดว่า ให้มีการตรวจสอบการทำประชาคมหมู่บ้าน และการประชุมให้ความเห็นของอปท.ในพื้นที่อื่นที่มีการดำเนินการไปแล้วก่อน ได้แก่ ต.หนองขอนกว้าง ต.โนนสูง และต.หนองไผ่ ในเขตอ.เมืองอุดรธานี ว่ามีความถูกต้องหรือไม่ แต่ก็ไม่มีการดำเนินการ

“ในส่วนของเวทีประชุมวิชาการ ตามที่จังหวัดอุดรธานีทำหนังสือสอบถามมา กลุ่มอนุรักษ์ฯ ก็ได้ส่งหนังสือตอบกลับไปแล้วตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา และมีสำเนาหนังสือยืนยันชัดเจน โดยมีข้อเสนอให้จังหวัดอุดรธานี จัดประชุมคณะกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อวางกรอบเนื้อหา และกำหนดรูปแบบเวทีร่วมกันเสียก่อน แต่จังหวัดก็ไม่ได้ดำเนินการ” นางมณีกล่าว

ด้านนายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนพัฒนาชนบท (กป.อพช.อีสาน) กล่าวว่า ช่วงเวลานี้เป็นจังหวะที่กลุ่มนายทุนเหมืองแร่เร่งรีบให้เหมืองแร่โปแตชอุดรฯ ผ่านกระบวนการโดยเร็ว เพื่อจะได้ให้ใบประทานบัตรออกมาในช่วงนี้ โดยไม่สนใจว่ากระบวนรับฟังความเห็นจะถูกต้องหรือไม่ ทั้งๆ ที่โครงขนาดใหญ่และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมหาศาลไม่ควรที่จะใช้ช่วงเวลานี้อนุมัติควรจะให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมให้มากกว่านี้ เพราะการที่ผู้มีส่วนได้เสียรับรู้ผลกระทบและความรับผิดชอบต่อโครงการฯ จะทำให้เขาเชื่อมั่นว่าโครงการดังกล่าวจะรับผิดชอบต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้

“เป็นการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยไม่ฟังเหตุผลและการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ แม้ว่าการจัดประชาคมหมู่บ้านในครั้งนี้จะผ่านไป ต้องยอมรับว่าความไม่ชอบธรรมที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐทุกๆ ภาคส่วนได้ทิ้งปัญหาเอาไว้ให้กับชาวบ้านและคือภาระของชุมชน” นายสุวิทย์กล่าว

นายสันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ก็ได้กล่าวว่า การจัดเวทีประชาคมในครั้งนี้ไม่ได้มีสาระสำคัญในการมีมติของผู้มีส่วนร่วม เนื่องจากว่ากรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้ทำการแก้ไขระเบียบว่าด้วยการประชาคมใหม่ เมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่าการประชาคมหมู่บ้าน หรือการประชุมให้ความเห็นชอบของอปท.ไม่จำเป็นต้องมีการลงประชามติ ซึ่งมันก็คือการแก้กฎหมายเพื่อเอื้อให้เหมืองอย่างที่สุด โดยละเลยหลักการส่วนร่วมของประชาชน และการไปทำกันในค่ายทหารด้วย ในทางวิชาการและทางกฎหมายมันยอมรับไม่ได้ แล้วมันจะเรียกว่าการประชาคมได้อย่างไร

“ควรย้อนกลับไปดูสัญญาระหว่างรัฐบาลกับบริษัทเอกชนที่ทำกันไว้ตั้งแต่ปี 2527 น่าอัปยศมากที่เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชนมากมาย โดยเฉพาะบางข้อที่เขียนไว้ว่า โครงการจะไม่ถูกระงับโดยนโยบาย แผนงาน ระเบียบหรือข้อบังคับ กฎหมายของรัฐ นั่นก็หมายความว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นโครงการจะต้องดำเนินการให้ได้อยู่ดี สัญญาก็จะอยู่กับเหมืองอย่างน้อยก็ 25 ปี ซึ่งประชาชนก็แทบจะไม่มีสิทธิอะไรเลยตามสัญญาที่ว่าไว้ อันนี้สิ่งที่ประชาชน นักวิชาการ และส่วนราชการควรจะศึกษาเรื่องนี้ให้มาก ไม่ใช่ว่าอยากให้เหมืองเกิดโดยที่ไม่สนใจอะไรเลย” นายสันติภาพกล่าว

ติดตามข่าวสารผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ไทยพีบีเอสออนไลน์
https://www.facebook.com/ThaiPBSNews?ref=hl


ข่าวที่เกี่ยวข้อง