เสนอโรดแมปร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ยกเลิก รธน.ปี 57 ใช้ฉบับปี 40 ชั่วคราว เปิดทางตั้ง สสร.

การเมือง
12 ก.ย. 58
16:26
161
Logo Thai PBS
เสนอโรดแมปร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ยกเลิก รธน.ปี 57 ใช้ฉบับปี 40 ชั่วคราว เปิดทางตั้ง สสร.

วงเสวนาแลกเปลี่ยนความเห็นเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่สภาปฏิรูปแห่งชาติลงมติไม่รับ เสนอแนะว่ากระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ต้องเปิดกว้างให้ประชาชนมีร่วม

วันนี้ (12 ก.ย.2558) ที่ห้องบรรยายโครงการปริญญาเอก คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ชั้น 4 อาคารคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ได้จัดงานเสวนาหัวข้อ "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช?" โดยมีวิทยากร ได้แก่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย นายปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายรังสิมันต์ โรม ขบวนการประชาธิปไตยใหม่

ผู้เข้าร่วมวงเสวนาวิชาการเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ ระบุว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรก สะท้อนให้เห็นถึงความไม่ไว้วางใจคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ผลสรุปจึงไม่เป็นที่ยอมรับ จึงควรเปิดกว้างให้ทุกฝ่ายได้รับรู้ถึงข้อมูลการพิจารณาในแต่ละข้อบัญญัติ

นายจาตุรนต์ ฉายแสง บอกว่ากระบวนการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและองค์ประกอบต่าง ๆ จึงได้ผลลัพธ์ด้วยการถูกปฏิเสธ พร้อมแสดงความเป็นห่วงว่าอาจต้องยกร่างรัฐธรรมนูญกันแบบไม่รู้จบ

ด้านนายปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตว่าปัญหาการร่างรัฐธรรมนูญในปัจจุบันมาจากจุดเริ่มต้นกระบวนการที่อยู่ภายใต้สถานการณ์พิเศษจึงมีข้อจำกัด อาจส่งผลให้เนื้อหาไม่เป็นประชาธิปไตยได้ ขณะเดียวกันได้เสนอโรดแมปร่างฉบับใหม่ โดยให้ยกเลิกกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังทำขณะนี้ทั้งหมด ขั้นแรกให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 เพื่อยุติการใช้มาตรา 44 รวมทั้งมาตรา 35 ที่จะเป็นตัวปลดล็อกการร่างรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้มีเนื้อหา 10 ประเด็น หลังจากนั้นให้นำรัฐธรรมนูญปี 2540 มาประกาศใช้ใหม่แบบชั่วคราวเพื่อเปิดทางให้มีการเลือกตั้ง สสร.ชุดใหม่ ทั้งหมด โดยแก้รัฐธรรมนูญปี 2540 บางหมวดว่าด้วยการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ นายปิยบุตรระบุว่ากระบวนการนี้จะทำให้รัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับเนื่องจาก สสร.จะผ่านการเลือกตั้งแต่ละภาคส่วน

"ร่างด้วยวิธีการแบบนี้ไม่ต้องใช้เวลานาน 3 เดือนน่าจะเสร็จ แล้วทำประชามติ และประกาศใช้ให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ โรดแมปแบบนี้เร็วกว่าสูตร 6:4 แน่นอน แต่สุดท้ายคนที่จะมีอำนาจตัดสินใจอยู่ที่อำนาจ  " นายปิยบุตร กล่าว

ขณะเดียวกันนายปิยบุตรได้คาดการณ์ถึงเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญร่างใหม่ที่จะดำเนินการโดยกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ที่แต่งตั้งโดย คสช. 21 คน ว่าจะมีเนื้่อหาไม่เปลี่ยนแปลงไปจากร่างเดิมที่ สปช.ตีตกไป โดยโจทย์หลักที่จะมีอยู่อย่างแน่นอนคือการสร้างองค์กรแบบ คปป.ให้แนบเนียนกว่าเดิม

" บทบัญญัติที่จะอยู่แน่ๆ คือ การรับรองผลพวงของคณะรัฐธรรมนูญทั้งหมด เพราะถ้าไม่มี คสช.เมื่อลงจากอำนาจจะโดนเช็กบิลย้อนหลัง เพราะรัฐธรรมนูญจะรับรองว่าประหาศ คำสั่งต่างๆจะชอบด้วยรัฐธรรมนูญตลอดกาล 2.อำนาจศาลรัฐธรรมนูญจะมีมากเท่ากับร่างที่ตกไป จะมีอำนาจการชี้ขาดตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกครั้ง ซึ่งทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะมีสภาพเหมือนเดิมคือแก้ไขได้ยากมาก อย่างเช่นในอดีตที่มีการยื่นเสนอแก้ที่มา ส.ว. ขณะเดียวกันประเด็นที่มา ส.ว.จะเหมือนเดิม ที่สัดส่วนแต่งตั้งมากกว่าเลือกตั้ง อาจมีการออกแบบการแต่งตั้งแบบใหม่ที่แนบเนียนกว่าเดิม รวมทั้งองค์กรอิสระศาลและการสร้างองค์กรแบบ คปป." นายปิยบุตร กล่าว

ส่วนวงสัมมนาหัวข้อ "พลเมืองร่วมปฏิรูปประเทศ" จัดโดยหลักสูตรการสื่อสารมวลชนระดับต้น (กสต.) รุ่นที่ 5 ที่ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยวันนี้ ซึ่งมีนายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย และประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเด็จการแห่งชาติ (นปช.) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขานุการมูลนิธิ กปปส. และ น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล สำนักข่าวไทยพับลิก้า เป็นผู้ร่วมเสวนา

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช.ระบุว่าฝ่ายการเมืองไม่ควรเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดเนื้อหาข้อบัญญัติของรัฐธรรมนูญเพราะมีส่วนได้เสีย แต่เชื่อว่า การออกเสียงประชามติเป็นเงื่อนไขให้ร่างรัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ขณะที่นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขานุการมูลนิธิ กปปส. มั่นใจว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ดีจะดีกว่าฉบับแรก แต่อ้างอิงว่าควรสานต่อแนวทางการปฏิรูปและข้อบัญญัติ เพื่อป้องกันเหตุวิกฤตทางการเมือง

ผู้เข้าร่วมวงเสวนาวิชาการเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ ระบุว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรก สะท้อนให้เห็นถึงความไม่ไว้วางใจคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ผลสรุปจึงไม่เป็นที่ยอมรับ จึงควรเปิดกว้างให้ทุกฝ่ายได้รับรู้ถึงข้อมูลการพิจารณาในแต่ละข้อบัญญัติ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง