คนกรุงเทพฯ ล่ารายชื่อคัดค้านการขยายพื้นที่เหมืองแร่ทองคำ

สังคม
13 ก.ย. 58
06:08
128
Logo Thai PBS
คนกรุงเทพฯ ล่ารายชื่อคัดค้านการขยายพื้นที่เหมืองแร่ทองคำ

วันนี้ (13 ก.ย.2558) คนกรุงเทพฯ ที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายการขยายพื้นที่สร้างเหมืองแร่ทองคำได้ตั้งโต๊ะรวบรวมรายชื่อเพื่อนำไปสมทบกับรายชื่อที่มีการรวบรวมใน 12 จังหวัดซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายของการเปิดเหมืองแร่ทองคำ โดยมีประชาชนทะยอยมาลงชื่ออย่างต่อเนื่อง

กิจกรรมล่ารายชื่อคัดค้านการเปิดเหมืองแร่ทองคำครั้งนี้เกิดขึ้นภายหลังจากที่กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายเตรียมขยายพื้นที่ให้ทำเหมืองใน 12 จังหวัด  ได้แก่ จ.พิจิตร , พิษณุโลก, ลพบุรี, เลย, สตูล, สระแก้ว, สุราษฎร์ธานี , จันทบุรี, ระยอง, สระบุรี, นครสวรรค์ และ เพชรบูรณ์ โดยชาวบ้านที่คัดค้านตั้งเป้าหมายรวบรวมให้ได้ 20,000 รายชื่อ แต่ขณะนี้ยังขาดอีก 8,000 รายชื่อ คนกรุงเทพฯ ที่ติดตามประเด็นนี้จึงได้รวมตัวกันผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์เพื่อจัดกิจกรรมตั้งโต๊ะรวบรวมรายชื่อคัดค้านเหมืองทองที่ปากซ.นวมินทร์ 46 เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ
 
โดยตั้งแต่เริ่มกิจกรรมได้มีทหารจาก ร.12 พัน1รอ. และ ตำรวจ สน.บึงกุ่ม มาดูแลความสงบเรียบร้อย เมื่อสิ้นสุดกิจกรรมในเวลาประมาณ 12.00 น.มีผู้มาร่วมลงชื่อกว่า 300 คน และในวันพรุ่งนี้ (14 ก.ย.2558) จะมีการตั้งโต๊ะที่หอพักนักศึกษา ตึก 9 มหาวิทยาลัยรังสิต ตั้งแต่เวลา 09:00น.-16:00 น.เพื่อให้คนมาลงชื่อคัดค้านนโยบายดังกล่าวด้วย

บงกช ภูษาธร หนึ่งในผู้จัดกิจกรรมกล่าวว่ากิจกรรมวันนี้เป็นการรวมตัวผ่านทางเครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์ของคนกรุงเทพฯ ที่คิดว่าต้องทำอะไรสักอย่างในประเด็นนี้ ถือเป็นหน้าที่ของพลเมือง แม้คนในกรุงเทพ จะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหมืองแร่ แต่ก็ต้องการสนับสนุนการต่อสู้ของประชาชนที่ได้รับกระทบด้านสุขภาพและการดำรงชีวิต เช่น ประชาชนที่อยู่รอบๆ เหมืองทองในจ.พิจิตร ซึ่งขณะนี้ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข

คนกรุงเทพฯ ที่มาร่วมลงชื่อคัดค้านมาจากหลายเขตในกรุงเทพฯ บางส่วนให้เหตุผลที่มาร่วมลงชื่อว่าเป็นเพราะว่าจากการติดตามข่าวสารที่สื่อมวลชนนำเสนอเกี่ยวกับนโยบายเหมืองแร่ของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ที่มีแผนจะขยายพื้นที่ใน 12 จังหวัดยังไม่มีความชัดเจน รัฐควรจะจัดการบริหารทรัพยากรให้ดีโดยไม่จำเป็นต้องขุดสินทรัพย์ที่เป็นแร่ใต้ดินขึ้นมา ขณะมีบางคนมองว่าการขุดแร่ควรจะทำเมื่อยามจำเป็น หรือประเทศเกิดวิกฤต ซึ่งหากยังไม่วิกฤตก็ควรรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมไว้ให้คนรุ่นหลัง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง