สปช.อภิปรายเสนอแก้ที่มา ส.ว.

การเมือง
21 เม.ย. 58
15:38
71
Logo Thai PBS
สปช.อภิปรายเสนอแก้ที่มา ส.ว.

สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ยังคงเปิดอภิปรายเสนอแนะและขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในภาคที่ 2 เรื่องผู้นำการเมืองที่ดีและสถาบันการเมืองด้วยข้อสังเกตที่หลากหลาย โดยเฉพาะกรณีระบบการเมืองแบบใหม่ ขณะที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชี้แจงเจตนารมณ์ของการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม ซึ่งเป็นที่มาของรัฐบาลผสมที่จะร่วมกันกลั่นกรองคัดคานการตัดสินใจในการบริหารและขจัดอำนาจเผด็จการรัฐสภา

อัจฉรา โพธิ์ศรี ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส รายงานความคืบหน้าการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 2 ในวันนี้ (21 เม.ย.2558) การอภิปรายเสนอแนะและขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญโดยสภาปฏิรูปแห่งชาติวันที่ 2 ภาคที่ 2 เรื่องผู้นำการเมืองที่ดีและสถาบันการเมือง ในภาพรวมสมาชิก สปช. ได้อภิปรายถึงที่มา ส.ว ที่หากมาจากการสรรหาไม่ควรให้อำนาจมากเกินไป โดยเฉพาะเรื่องการถอดถอน แต่หากจะให้ ส.ว สามารถถอดถอนได้ก็ควรมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ขณะเดียวกันก็อภิปรายชี้แนะว่าควรกำหนดให้ชัดว่าที่มานายกรัฐมนตรี ควรมาจากผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งหรือ ส.ส เว้นแต่เกิดปัญหาไม่สามารถหาคนที่เป็น ส.ส มาเป็นยนายกรัฐมนตรีได้ จึงเสนอชื่อคนนอกเข้ามาให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติเลือกด้วยเสียง 2 ใน 3

นอกจากนี้สมาชิก สปช.ยังอภิปรายสนับสนุนความเท่าเทียมของเพศตรงข้ามในการจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติในสัดส่วนที่เท่าเทียมกัน รวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจในระดับท้องถิ่น

ขณะที่ประธานกรรมาธิการปฏิรูป โดยนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อภิปรายชี้ 4 จุดเสี่ยง ทั้งความไม่สมดุลของอำนาจฝ่ายการเมืองและนิติบัญญัติ รัฐบาลผสมที่จะไม่เข้มแข็งเกิดการต่อรอง การแบ่งแยกอำนาจที่สับสนจากการที่นายกรัฐมนตรีไม่ต้องเป็น ส.ส. และกลไกตรวจสอบที่อ่อนแอ พร้อมเสนอ 6 ประเด็นที่ต้องปรับปรุง อาทิ ต้องกำหนดเงื่อนไขนายกคนนอกให้ชัดเจน  เพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง และการใช้อำนาจรัฐ

นายเสรี สุวรรณภานนท์ อภิปรายขอให้พิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้ตอบโจทย์การแก้ปัญหาทางการเมือง การทุจริตการเลือกตั้ง ความขัดแย้ง และนักการเมือง รวมทั้งข้าราชการที่ทุจริตคอร์รัปชั่น ด้วยการให้มี ส.ส.ระบบเขตเท่านั้น รวมถึงการป้องกันการเข้าสู่อำนาจของกลุ่มการเมืองอันจะเป็นเหตุให้เกิดปัญหาความแตกแยกในอนาคต

ด้านกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมถึงหลักการและเจตนารมณ์การยกร่าง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการเมือง การเลือกออกแบบระบบรัฐสภาแบบสัดส่วนผสมเพื่อให้เกิดความสมดุลทางการเมือง ลดความขัดแย้งในรัฐสภา และเพื่อไม่ให้ระบบพรรคการเมืองอ่อนแอ

การอภิปรายเสนอแนะและขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในภาคที่ 2 นี้ วิป สปช.คาดการณ์ว่าจะให้เวลารวม 3 วันด้วยกัน ถึงจะแล้วเสร็จตามจำนวนสมาชิกที่ลงชื่อขออภิปรายไว้รวม 129 คน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง