หวั่น “ผู้ลี้ภัย” ส่งผลกระทบเศรษฐกิจประเทศ ชี้มายาคติที่ทำให้ยุโรป-เอเชียแก้ปัญหาไม่ได้

สังคม
15 ก.ย. 58
01:53
996
Logo Thai PBS
หวั่น “ผู้ลี้ภัย” ส่งผลกระทบเศรษฐกิจประเทศ ชี้มายาคติที่ทำให้ยุโรป-เอเชียแก้ปัญหาไม่ได้

ถอดสถานการณ์วิกฤตผู้อพยพ-ผู้ลี้ภัยในยุโรปและเอเชีย นักวิชาการชี้รูปแบบสงครามสมัยใหม่ที่ซับซ้อนเป็นเหตุของวิกฤต และปัญหาข้ามพรมแดนจะท้าทายประเทศต่างๆ มากขึ้นที่ต้องร่วมมือกันในระดับภูมิภาค มองย้อนไทยนโยบายผู้อพยพอิงเรื่องความมั่นคงเป็นหลัก พร้อมถอดรหัสทำไมไทยไม่รับผู้อพยพ

วานนี้ (14 ก.ย.2558) ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ร่วมกับสำนักเครือข่ายสื่อพลเมือง จัดสัมมนาเรื่อง “การเมืองแห่งความอาทร : วิกฤตผู้ลี้ภัยในเอเชียและยุโรป” โดยมีวิทยากร ได้แก่ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และน.ส.โรยทราย วงศ์สุบรรณ ที่ปรึกษาเครือข่ายทำงานด้านประชากรข้ามชาติ

การเสวนาเริ่มที่วิกฤตผู้อพยพในยุโรปขณะนี้ ผศ.ดร.จันจิราชี้ว่า ผู้อพยพที่หลั่งไหลออกมาจากประเทศซีเรีย เป็นผลพวงของสงครามที่เปลี่ยนรูปแบบไปจากเดิม ซับซ้อนมากขึ้น ไม่ใช่เพียงรัฐต่อรัฐ แต่เป็นรูปแบบที่เป็นกองกำลังติดอาวุธของพลเรือน และทับซ้อนกับการเมืองระหว่างประเทศโดยรัฐบาลซีเรียก็ล้มเหลวในการดูแลประชากรของตัวเอง พร้อมชี้ว่าปัญหาผู้อพยพเป็นเรื่องที่ท้าทายรูปแบบของรัฐ เนื่องจากมีลักษณะที่ข้ามพรมแดนมากขึ้น ขณะเดียวกันชี้ประสบการณ์จาก EU ที่มีแบ่งโควต้ากันรับผู้อพยพ เนื่องจากมีหลักคิดเรื่องความมั่นคงร่วมกัน ขณะที่อาเซียนจะร่วมกันเฉพาะมิติทางเศรษฐกิจ เรื่องอื่นไม่ทำ

“กรณีวิกฤตหนี้กรีซ เป็นตัวอย่างความร่วมมือในภูมิภาค ส่วนเรื่องผู้อพยพเยอรมนีอยากให้ประเทศอื่นรับโควต้า ซึ่งฝรั่งเศสไม่มีปัญหา แต่ประเทศยุโรปตะวันตก อย่างฮังการี มาเซโดเนีย ปฏิเสธ เพราะไม่มีประสบการณ์ จึงมองว่าเรื่องนี่คลี่คลายได้ยาก เยอรมนีอาจต้องรับโควตาที่สูงกว่าคนอื่นและสร้างโมเดลให้ที่อื่นทำตาม”

ด้าน ผศ.ดร.นฤมล ได้กล่าวถึงการจัดการผู้อพยพในยุโรปว่า ภายหลังมีภาพเรือมนุษย์ล่มกลางทะล และภาพการเข้ามาของผู้อพยพจำนวนมาก บางประเทศได้ประกาศรับผู้อพยพ เช่น เยอรมนี แต่เมื่อมองย้อนกลับมาที่กรณีเรือผู้อพยพชาวโรงฮิงญาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่า มีท่าทีที่ต่างกัน ที่ผ่านมา ไทยได้ช่วยเหลือชาวเมียนมาแต่ไม่มีการรับรองสถานะคนเหล่านี้ว่าเป็นผู้ลี้ภัย ขณะที่วิกฤตผู้อพยพทางเรือชาวโรฮิงญาเมื่อกลางปีที่ผ่านมา สนับสนุนอาหารและน้ำ จากนั้นค่อยผลักดันออก ทั้งสองกรณีประเทศไทยอธิบายวิธีการจัดการเช่นนี้ว่า เราไม่ได้รับรองในอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ ประกอบกับไม่มีศักยภาพในการรองรับ สะท้อนถึงนโยบายการรับผู้ลี้ภัยที่อิงด้านความมั่นคงมากกว่า

“ค่ายตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา เป็นศูนย์ชั่วคราวที่ตั้งมา 27 ปี ห้ามก่อสร้างด้วยวัสดุถาวร ที่พักอาศัยทำด้วยไม่ไผ่ ให้ฝึกอาชีพที่ไม่ได้เป็นงานที่ดูแลชีวิตตัวเองได้ ซึ่งบางคนมีศักยภาพในการเรียนปริญญาด้วยซ้ำ ไทยให้อยู่ในฐานะผู้หนีภัยการสู้รบ แปลว่าถ้าออกจากนอกพื้นที่กลุ่มนี้จะเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายทันที นี่คือความอาทรของประเทศเรา นี่เป็นคำตอบที่ว่าทำไมเราถึงไม่ให้ชาวโรฮิงญาขึ้นฝั่ง” ผศ.ดร.นฤมลกล่าว

ด้าน น.ส.โรยทรายระบุว่า ไทยมีมนุษยธรรมในการรับผู้อพยพมาโดยตลอด สมัยสงครามเวียดนาม หรือกรณีเมียนมา โดยมีการดึงองค์กรระหว่างประเทศมาดูแล เช่น การใช้ระบบลงทะเบียน แต่นโยบายช่วงหลังกลับใช้วิธีการปราบปราม รวมถึงทัศนคติของคนไทยที่มองว่ากลุ่มข้ามชาติเป็นภัยคุกคาม

“อยากให้รัฐบาลทบทวนการใช้กฎหมายเข้าเมือง ให้มีการพิจารณาการขอสถานะผู้ลี้ภัยได้ และขอให้ใช้ประสบการณ์ในการรับมือผู้อพยพในอดีต นอกเหนือจากการใช้วิธีการปราบปรามเข้าเมืองผิดกฎหมาย ต้องตั้งคำถามว่า ทำไมจึงมีการเข้าเมืองผิดกฎหมาย วิธีการและรูปแบบเข้ามาอย่างไร และเรียกร้องให้สื่อนำเสนอสิ่งที่สร้างทัศนคติและข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย เช่น การเข้าใจว่าผู้ลี้ภัยจะมาได้สัญชาตินั้นไม่เป็นความจริง เพราะกฎหมายเข้าเมืองและกฎหมายสัญชาติคนละฉบับกัน หรือการเรียกขานผู้อพยพว่าเป็นผู้ลี้ภัย ในกรณีของสำนักข่าวอัลจาซีร่า เนื่องจากมีความหมายของคำที่ต่างกัน” น.ส.โรยทรายระบุ

สอดคล้องกับ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ ที่ชี้ว่าวิกฤตผู้ลี้ภัยทั้งในเอเชียและยุโรปมีความร่วมกันในเรื่องความคิดของพลเมืองในประเทศรับผู้ลี้ภัย ที่อยู่ภายใต้มายาคติที่ว่า เมื่อรับมาแล้วจะสร้างผลกระทบต่อความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจนั้นไม่เป็นความจริง แต่กลุ่มคนข้ามชาตินี้กลับทำให้เกิดรายได้ของประเทศไม่น้อย ซึ่งการสร้างความเข้าใจเรื่องนี้ ศ.ชัยวัฒน์มองว่า แค่เพียงความรู้และข้อมูลนั้นไม่เพียงพอต่อการลบมายาคตินี้ได้ แต่ปัญหานี้เป็นเรื่องยากเพราะเป็นเรื่องของอารมณ์

“อารมณ์แห่งความกลัวกำลังควบคุมโลกนี้อยู่และกำลังขยายตัว เรากลัวคนแปลกหน้าที่ไม่เหมือนเรา ไม่เหมือนกับเราในเรื่องต่างๆที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเพศ ศาสนา ชาติพันธุ์ ชนชั้น ความกลัวจึงควบคุมทุกอย่างตั้งแต่ระดับนโยบาย วิธีที่มองคนไม่เหมือนกับเรา เรื่องนี้จึงเป็นตัวทดสอบความเอื้ออาทร ผมเชื่อมาตลอดมาว่าวิธีดูว่าความเอื้ออาทร ความเมตตาในตัวมนุษย์ขึ้นหรือลง ไม่ได้อยู่ที่เราดีกับคนที่เหมือนกับเรา แต่อยู่ที่วิธีที่เราดีกับคนที่ต่างจากเรา วิธีที่เราปฏิบัติต่อคนในครอบครัวเราไม่บอกอะไรกับเรา แต่จะบอกมาว่าเราปฏิบัติต่อคนแปลกหน้า โดยเฉพาะคนแปลกหน้าที่ลี้ภัยมา อันนั้นจะบอกว่าเราเป็นอย่างไร

ที่สุดแล้วการเมืองแห่งความเอื้ออาทรสำคัญ เพราะจะบอกว่าอยู่ตรงไหน และจะเผชิญกับความท้าทายของโลกในอนาคตได้มากน้อยแค่ไหน” ศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามข่าวสารผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ไทยพีบีเอสออนไลน์
https://www.facebook.com/ThaiPBSNews?ref=hl


ข่าวที่เกี่ยวข้อง