"วิษณุ" แจงโรดแมปสู่เลือกตั้ง 20 เดือน ตามสูตร 6-4 6-4 ร่นเวลาได้

การเมือง
17 ก.ย. 58
05:09
66
Logo Thai PBS
"วิษณุ" แจงโรดแมปสู่เลือกตั้ง 20 เดือน ตามสูตร 6-4 6-4  ร่นเวลาได้

"วิษณุ" รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย ยืนยันโรดแมปเลือกตั้ง 20 เดือน หากย่นระยะเวลาการดำเนินการในแต่ละช่วง การเลือกตั้งอาจเกิดขึ้นได้ภายใน 16-18 เดือน ขณะที่ สนช.เริ่มเผยรายชื่อตัวแทนร่วมนั่งเก้าอีก กรธ.แล้ว

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงต่อเอกอัครราชทูตและผู้แทนองค์การระหว่างรปะเทศ ถึงโรดแมปและกระบวนทางการเมืองไทย โดยระบุว่าโรดแมปที่วางไว้ก่อนหน้านี้คือสูตร 6-4-6-4 คือ 6 เดือนแรกสำหรับใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่  ส่วน 4 เดือนต่อมาสำหรับการทำประชามติ  อีก 6 เดือนต่อมาใช้สำหรับร่างกฎหมายลูกหรือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ และอีก 4 เดือน ใช้สำหรับรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง รวมระยะเวลาแล้ว 20 เดือน หรือกำหนดการเลือกตั้งจะมีขึ้นในเดือนมิถุนายน 2560 และหลังจากนั้นจะมีการตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นภายใน 1 เดือน คือในเดือนกรกฎาคม 2560

นายวิษณุกล่าวว่าหากพูดตามโรดแมป 6-4-6-4 หรือระยะเวลา 20 เดือน หลังจากนี้อาจจะดูยาวนานเกินไป ซึ่งแต่ละส่วนที่เกี่ยวข้องสามารถย่นระยะเวลาในการดำเนินการโรดแมปแต่ละขั้นตอนให้สั้นลงได้ โดยคาดว่าโรดแมปอาจจะเหลือประมาณ 16-18 เดือน

สำหรับสูตรการร่นเวลาก่อนหน้านี้นายวิษณุเคยให้สัมภาษณ์ไว้ โดยระบุว่าดำเนินการไม่ยาก เช่นใช้เวลาในการร่างรัฐธรรมนูญและรับฟังความเห็นให้เร็วขึ้นจาก 6 เดือนเหลือ 5 เดือน ส่วนการทำประชามติเชื่อว่าจะสามารถย่นเวลาลดได้ครึ่งเดือน จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการทำกฎหมายลูกโดยใช้เวลา 6 เดือน จากนั้นจึงส่งศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบ 1 เดือน ซึ่งจะทำให้กระบวนการนี้ ลดลงจนเหลือ 5 เดือนได้

ส่วนความคืบหน้าในการเลือกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญมีรายงานว่า ขณะนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กำลังพิจารณาเพื่อส่งส่งตัวแทนไปร่วม ซึ่งนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ได้เริ่มติดต่อทาบทามอดีตสมาชิก สนช.บางส่วนให้ไปร่วมเป็น กรธ. เช่น นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ นายกล้านรงค์ จันทิก คุณพรทิพย์ จาละ นายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน เนื่องจากเป็นผู้มีคุณสมบัติเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย มีประสบการณ์การทำงานในการยกร่างรัฐธรรมนูญ

ด้านนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิก สนช. กล่าวว่าจะมี สนช.ไปเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 3 คน แต่ขณะนี้ สนช.ยังไม่มีการหารือเรื่องการส่งตัวแทน คาดว่านายพรเพชรจะเป็นผู้คัดเลือกเองทั้งหมดจากเดิมที่ให้สมาชิก สนช.ลงมติคัดเลือก ส่วนตัวมองว่าสมาชิก สนช.ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม คือ นายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน และ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม เพราะมีความรู้ความสามารถด้านกฎหมาย และที่ผ่านมาทั้ง 3 คน เคยสมัครเป็นคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในครั้งก่อน แต่ไม่ได้รับการคัดเลือก

สำหรับกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ 21 คน จากข้อมูลที่มีการประเมินกัน คาดว่าจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มาจาก สนช. คสช. และกลุ่มที่มาจากอดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง