"เหมืองทอง"คุ้มค่าทางเศรษฐกิจหรือไม่ ?

สิ่งแวดล้อม
18 ก.ย. 58
14:41
833
Logo Thai PBS
"เหมืองทอง"คุ้มค่าทางเศรษฐกิจหรือไม่ ?

แม้ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาจะเห็นแนวร่วมกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายสำรวจและการทำเหมืองแร่ทองคำมากขึ้น แต่ข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ รัฐจะมีรายได้ไปพัฒนาประเทศเพิ่มขึ้นจากนโยบายนี้

ตามแนวธรณีวิทยาไทยเป็นหนึ่งในประเทศ Goldbelt หรือ สายเข็มขัดทองคำ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่หลักใน 31 จังหวัด ทางวิชาการประเมินว่า ปริมาณทองคำสำรองงทางธรณีวิทยาสูงประมาณ 700 ตัน คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 700,000 ล้านบาท

ด้วยเงินมูลค่ามหาศาลทำให้รัฐบาลต้องมีการพิจารณาความคุ้มค่าด้านการลงทุนที่ชัดเจน ที่ผ่านมา 2550 ครม.ให้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ดูภาพรวมนโนบาย แต่ผลการศึกษาของ สศช.ไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้

กระทรวงอุตสาหกรรมโดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่จึงต้องทำนโยบายด้านทองคำของไทยซึ่งเป็นไปตามพันธกิจขององค์กร ก่อนที่จะมีการออกนโยบายทองคำที่ชัดเจนออกมา ซึ่งระหว่างนี้ จะยังไม่มีการอนุญาตให้ผู้ประกอบการรายใด ทำเหมืองทองคำอีก

ปัจจุบันไทยมีผู้ประกอบการที่มีประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำที่ยังไม่หมดอายุ อยู่ 2 ราย คือ คือบริษัท ทุ่งคา จำกัด จ.เลย ปัจจุบันหยุดการทำเหมืองไปเนื่องจากมีการร้องเรียนเรื่องการปนเปื้อนของโลหะหนัก รอบพื้นที่เหมืองพบการทรุดตัวของสันเขื่อนของบ่อกักเก็บการแร่ และ ใบอยุญาตใช้พื้นที่ป่าหมดอายุ อีกบริษัทคือ อัครา รีซอร์สเซส จำกัด มหาชน ซึ่งทำเหมืองบริเวณ รอยต่อของ จ.เพชรบูรณ์ และ จ.พิจิตร ซึ่งดำเนินมากว่า 10 ปีแล้ว และเป็นบริษัทเดียว ที่จ่ายค่าภาคหลวงให้กับประเทศไทย

กพร. ระบุว่า แต่ละปีจะได้รับค่าภาคหลวงเฉลี่ย 3,000 ล้านบาท เฉพาะค่าภาคหลวงแร่ทองทำที่ได้จากบริษัทอัครา รีซอร์สเซส ปีงบประมาณ 2556 ส่งเงินค่าภาคหลวงที่ประมาณ 585 ล้านบาท ปี 2557 อยู่ที่ 469 ล้านบาท และ ล่าสุด ปี 58 ล่าสุดที่เดือน มี.ค. 2558 จ่ายที่ 119 ล้านบาท โดยรายได้ค่าภาคหลวง ร้อยละ 60 จะเข้าสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ ร้อยละ 40 จะเข้าสู่รัฐ

การจ่ายค่าภาคหลวงให้รัฐของบริษัท อัครา สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของเหมืองทองคำในไทย จึงมีได้เห็นผู้ยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำจำนวนกว่า 13 บริษัท พื้นที่กว่า 177 แปลง พื้นที่รวมกว่า 1.6  ล้านไร่ โดยมีทั้งรายเดิมอย่าง อัครา รีซอร์สเซส ที่ขอทั้งที่ จ.พิจิตร จ.เพชรบูรณ์ , ริชภูมิ ไมนิ่ง , ฟ้าร้อง , พารอน ไมนิ่ง ,เอราวัณ ไมนิ่ง , พีวีเค ไมนิ่ง , สยามคอปเปอร์ รีซอร์สเซส , คลองตะแบก ไมนิ่ง , ไทยโกลบอล เวนเจอร์ , อมันตา , อมันตา มิเนอรัล ,ซินเนอร์ยี่ ไมนิ่ง และ ทรัพย์ภูมิ จำกัด

สิ่งที่ยากที่สุดของเรื่องนี้และถกเถียงกันมายาวนา 8 ปี กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ยังพูดได้ไม่เต็มปาก เรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพเเละความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ กับความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ จะพิจารณาอย่างไรให้สมดุลมาใช้เป็นเหตุผล เรื่องนี้อาจจะใช้ตัวเลขตัดสินอย่างเดียวไม่ได้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง