“ทีดีอาร์ไอ” คาดไทยยังเผชิญเหลื่อมล้ำเพิ่ม แนะปฏิรูปการศึกษา-การคลัง-ระบบฐานภาษี

สังคม
22 ก.ย. 58
09:00
164
Logo Thai PBS
“ทีดีอาร์ไอ” คาดไทยยังเผชิญเหลื่อมล้ำเพิ่ม แนะปฏิรูปการศึกษา-การคลัง-ระบบฐานภาษี

ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กังวลปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ กระทบการแก้ไขความขัดแย้งในสังคม ขณะที่นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ประเมินว่า ไทยยังคงมีแนวโน้มเผชิญปัญหาความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องเร่งปฏิรูปหลายด้าน โดยเฉพาะการศึกษา และการคลัง

วันนี้ (22 ก.ย.2558) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในรายงานโครงการวิจัย หัวข้อ “การลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย แนวโน้ม นโยบาย และแนวทางขับเคลื่อนนโยบาย” ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงโครงการสนับสนุนสินเชื่อผ่านกองทุนหมู่บ้าน วงเงิน 60,000 ล้านบาท ว่า มาตรการนี้ อาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น เพราะผู้ที่ได้รับเงินกู้ อาจนำเงินไปสร้างอาชีพ แต่บางส่วนอาจนำไปใช้จ่ายทั่วไป จึงต้องติดตามว่า จะสามารถลดความเหลื่อมล้ำได้ยั่งยืนหรือไม่ หลังประเมินจากบทเรียนการดำเนินโครงการกองทุนหมู่บ้านในปี 2544-2545 สามารถลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ลงเพียง 1-2 ปีเท่านั้น

ดร.สมชัยกล่าวว่า แม้รัฐบาลจะพยายามปฏิรูปประเทศหลายๆ ด้าน แต่แนวโน้มปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยจะยังไม่ดีขึ้น เนื่องจากโครงสร้างอำนาจทางการเมืองกระจุกตัว และจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในอดีตบางส่วน อาจซ้ำเติมปัญหาดังกล่าว ดังจะเห็นระดับความยากจนลดลงช้ากว่าที่ควรจะเป็น จึงเสนอให้ปฏิรูปหลายๆ ด้าน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่ฐานราก แทนการคุยแต่ประชาธิปไตยระดับประเทศ พร้อมเสนอให้ ปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจังควบคู่กับการปฏิรูประบบภาษี เช่น ขยายฐานภาษีให้ถึงแรงงานนอกระบบ บังคับใช้กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งต้องไม่ใช่ประเภทออกมาแบบเกรงใจ ยกเลิกการยกเว้นภาษี จากการซื้อกองทุนหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) และเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม หลังพบว่าการชะลอขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้มีรายได้สูงได้ประโยชน์มากกว่า

“ถ้าไปดูภาระภาษีมูลค่าเพิ่มระหว่างคนที่จนสุดกับคนที่รวย จะพบว่าพอๆ กัน คนที่มีภาระภาษีมูลค่าเพิ่มค่อนข้างต่ำคือ คนชั้นกลาง แต่ก็ไม่ได้ต่ำกว่ามาก ต่ำกว่าประมาณ 1 เปอร์เซนต์ อันนั้นดูเรื่องอัตราของภาระ ถ้าดูในเรื่องของเม็ดเงินที่จ่ายเรื่องของภาษีมูลค่าเพิ่ม ยังคงมาจากคนรวยเป็นส่วนใหญ่ การที่ต่อต้านการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม จริงๆ คนที่ได้ประโยชน์คือคนรวย ไม่ใช่คนจน”

สอดคล้องกับ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า สังคมไทยยังคงเผชิญภาวะความเหลื่อมล้ำทางสินทรัพย์สูงมาก โดยเฉพาะ ที่ดิน และบัญชีเงินฝาก ซึ่งสัดส่วนคนรวยที่สุดและคนจนที่สุด ต่างกันถึง 800 เท่าตัว จึงกังวลว่า หากไม่สามารถขจัดปัญหานี้ จะไม่สามารถแก้ไขความขัดแย้งในสังคม จึงเสนอให้ผลักดันประเด็นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจในร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่เพิ่งตกไปกลับมา เช่น การให้ท้องถิ่นเก็บภาษีเอง การจัดสรรงบประมาณให้จังหวัดที่ยากจนที่สุดของประเทศ การเพิ่มโอกาสการเข้าถึงที่ดิน เป็นต้น

ขณะเดียวกันรัฐบาลยังควรปรับปรุงนโยบายให้เหมาะสม โดยอาจเริ่มจากการจัดระบบสวัสดิการที่ช่วยคนจนอย่างตรงจุด เช่น นโยบายจ่ายเงินเบี้ยคนชรา ซึ่งมีผู้ได้รับเงินในโครงการประมาณ 8 ล้านคน แต่เป็นคนจนจริงๆ เพียง 1 ล้าน หรือเฉลี่ยได้รับเงินเดือนละ 720 บาท แต่หากปรับปรุงระบบคัดกรองคนจนจริงๆ อาจช่วยให้คนกลุ่มนี้ ได้รับเงินเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 2,000-4,000 บาท โดยไม่ต้องเพิ่มภาระงบประมาณ อีกทั้งยังช่วยลดความเหลื่อมล้่ำทางรายได้ลงได้

ติดตามข่าวสารผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ไทยพีบีเอสออนไลน์
https://www.facebook.com/ThaiPBSNews?ref=hl


ข่าวที่เกี่ยวข้อง