คาดงดทำนาทั้งหมดจะเสียหายกว่าแสนล้าน แนะกรมชลฯวางแผนแล้งปีหน้า-จี้อุตฯรียูสน้ำ

สังคม
22 ก.ย. 58
11:00
91
Logo Thai PBS
คาดงดทำนาทั้งหมดจะเสียหายกว่าแสนล้าน  แนะกรมชลฯวางแผนแล้งปีหน้า-จี้อุตฯรียูสน้ำ

เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร คาดประเทศไทยจะเผชิญกับภาวะภัยแล้งต่อเนื่อง 3 ปี มูลค่าความเสียหายจากการงดทำนาทั้งประเทศรวมกว่าแสนล้านบาท จี้ภาคอุตสาหกรรมใช้น้ำรียูสเหมือนต่างประเทศ แนะกรมชลฯวางแผนรับมือแล้งปีหน้าด้วย

วันที่ 21 ก.ย.ห้องประชุมธีระ สูตะบุตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเสวนาวิชาการหัวข้อ “แล้งนี้เผาหลอก แล้งหน้าเผาจริง ชาวนาไทยเสี่ยงเจ๊งแสนล้าน” มีวิทยากร คือ นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตประธานคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปการจัดการทรัพยากรน้ำ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) รศ.ดร.บัญชา ขวัญยืน คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รศ.ดร.สุวัฒนา จิตตลดากร ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมแหล่งน้ำ วสท. และอดีตรองประธานคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปการจัดการทรัพยากรน้ำ สปช. นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกิยรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (ทีดีอาร์ไอ) และนายณรงค์ฤทธิ์ ศรีสถิตย์นรางกูร ผู้ช่วยผู้ว่าการการประปานครหลวง (ระบบการผลิตน้ำ)

นายเลอศักดิ์กล่าวถึงสถานการณ์น้ำว่า จากปัญหาภาวะโลกร้อนและการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาดเมื่อปี 2555 ทำให้น้ำในเขื่อนหายไปกว่า 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งผลกระทบให้ไทยประสบภัยแล้งยาวนานขึ้น ส่วน ส่วนอิทธิพลจากพายุหว่ามก๋อที่ทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ได้เพิ่มปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เพียง 200 กว่าล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในเขื่อน 2,520 ล้านลูกบาศก์เมตร ยังต้องการน้ำอีกประมาณ 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อให้เพียงพอกับการใช้อุปโภคบริโภค อย่างไรก็ตาม คาดว่าทิศทางภัยแล้งจะต่อเนื่อง 3 ปี ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ จะให้งดการทำนาปรังในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่กลองอย่างแน่นอน ขณะที่ภาคเอกชนบางส่วนได้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง ด้วยการจัดซื้อเครื่องทำน้ำเค็มเป็นน้ำจืด พร้อมแนะรัฐบาลรณรงค์ให้ประชาชนประหยัดน้ำ

ขณะที่ รศ.ดร.นิพนธ์กล่าวว่า ภาวะภัยแล้งในปีนี้มีความผิดปกติมาก และหน้าฝนก็มีปริมาณน้ำน้อยกว่าปกติต่อเนื่องกัน 2 ปี นอกจากนี้การใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรม ยังพบว่า เป็นการใช้น้ำใหม่ทั้งหมดในกระบวนการผลิต ต่างจากต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ที่ภาคอุตสาหกรรมจะใช้น้ำ reuse กว่าร้อยละ 80 ซึ่งอาจเพราะค่าน้ำประปาของไทยราคาถูกมาก พร้อมเสนอให้กรมชลประทาน เชิญชวนกลุ่มผู้ใช้น้ำหรือสูบน้ำด้วยระบบไฟฟ้า มาหารือถึงมาตรการจัดการน้ำในช่วงหน้าแล้งปีหน้า เพื่อให้ได้ข้อตกลงที่ชัดเจนว่า สามารถจัดส่งน้ำให้แต่ละส่วนในปริมาณเท่าไหร่ อีกทั้งต้องมีกฎหมายที่เข้ามากำกับดูแลให้ชัดเจน

“นโยบายที่ผ่านมาถูกกำหนดโดยคนในเมือง ทำให้เห็นปัญหาที่ต่างกัน ผมเชื่อว่าปริมาณน้ำที่น้อยมากจะทำให้เกิดความขัดแย้งและความไม่เป็นธรรมในการบริหารจัดการน้ำ”

สำหรับ ข้อมูลจากกรมชลประทาน วันที่ 22 ก.ย. ระบุว่า เขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำ 4,583 ล้านลูกบาศก์เมตร ใช้การได้ 783 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิต์มีปริมาณน้ำ 4,250 ล้านลูกบาศก์เมตร ใช้การได้ 1,400 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแควน้อยมีปริมาณน้ำ 278 ล้านลูกบาศก์เมตร ใช้การได้ 235 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำ 174 ล้านลูกบาศก์เมตร ใช้การได้ 171 ล้านลูกบาศก์เมตร รวม 4 เขื่อนมีปริมาณน้ำใช้การได้ 2,589 ล้านลูกบาศก์เมตร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ตาม สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดการณ์ว่า หากเกษตรกรงดทำนาปรัง 2558 นาปี 2558/59 และนาปรัง 2559 ในกรณีงดปลูก 100 เปอร์เซนต์ จะเกิดความเสียหาย 131,828 ล้านบาท หากงดปลูก 90 เปอร์เซนต์ จะเกิดความเสียหาย 124,985 ล้านบาท และถ้างดปลูก 80 เปอร์เซนต์ จะเกิดความเสียหาย 118,142 ล้านบาท

ติดตามข่าวสารผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ไทยพีบีเอสออนไลน์
https://www.facebook.com/ThaiPBSNews?ref=hl


ข่าวที่เกี่ยวข้อง