“ศศิน” ชี้เปิดสัมปทานเหมืองทองคำ 12 จังหวัดไม่คุ้มทุน ทำลายวิถี-พื้นที่เกษตร 1 ล้านไร่-รัฐได้แค่เศษเงิน

สิ่งแวดล้อม
23 ก.ย. 58
14:32
800
Logo Thai PBS
“ศศิน” ชี้เปิดสัมปทานเหมืองทองคำ 12 จังหวัดไม่คุ้มทุน ทำลายวิถี-พื้นที่เกษตร 1 ล้านไร่-รัฐได้แค่เศษเงิน

จากกรณี ประชาชนรวบรวมชื่อกว่า 27,500 รายชื่อ ยื่นต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อคัดค้านเหมืองแร่ทองคำที่กำลังขยายพื้นที่ใน 12 จังหวัด นโยบายนี้จะส่งผลอย่างไร และพัฒนาการเหมืองแร่ทองคำในไทยมีผลกระทบอะไรที่ต้องตั้งข้อสังเกตและวิเคราะห์ พบกับคิดยกกำลังสอง ที่นี่ไทยพีบีเอส กับ นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ในฐานะนักธรณีวิทยาที่ติดตามเรื่องเหมืองแร่ในประเทศไทยมาตลอด

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายศศินกล่าวว่า อดีตประเทศไทยคือสุวรรณภูมิ พื้นที่ทั่วประเทศมีทองตามชี่อแต่เป็นทองเกร็ด ซึ่งชาวบ้านสามารถร่อนหาเองได้ก่อนรวบรวมทำพระหรือขาย ทว่า ทองแบบนั้นหมดไปจากประเทศไทยเป็นร้อยปี ที่เหลืออยู่ในปัจจุบันคือทองที่เป็นสารเคมีอยู่ในหิน

“การจะได้ทองจากหิน ไม่ใช่การเอาค้อนไปตอกแล้วร่อนอย่างที่ชาวบ้านทำแต่ต้องป่นหินแล้วละลายทองออกมา ซึ่งทองทีได้ก็ไม่ใช่แร่ทองแท้ แต่เป็นทองผสมกับเงินและโลหะอื่น ๆ ซึ่งต้องส่งไปแยกทองกับเงินที่ฮ่องกง และส่งทองต่อไปยังออสเตรเลีย ดังนั้น เราไม่ได้อะไร เพราะทอง เงิน และกำไร ล้วนส่งออกนอกประเทศ” ประธานมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ระบุ

นายศศินกล่าวเพิ่มว่า เรากำลังทลายภูเขา ทำลายทุ่งนา เพื่อเอาทอง ที่น่าสนใจคือประเทศไทยมีทองใน จ.พิจิตร จ.เพชรบูรณ์ จ.พิษณุโลก รอยต่อ จ.เลย ขึ้นไปถึงสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว รวมเนื้อที่กว่า 1 ล้านไร่ แต่เราไม่รู้ทองอยู่ตรงไหนแน่ และการที่ยอมเสียพื้นตรงนี้ ขณะที่ชาวบ้านได้รายได้จากการขายที่ มีเงินไปซื้อบ้านใหม่มีอาชีพใหม่ซึ่งจะเกิดขึ้นใน 12 จังหวัด อาชีพนายหน้าค้าที่ดินก็จะผุดขึ้น และเกิดการกดดันให้ขายที่ดินจากผู้มีอิทธิพลพวก แล้วเขาจะมีชีวิตที่ดีขึ้นจริงหรือไม่ คำถามจึงไปอยู่กับรัฐว่าจะยอมแลกวิถีที่สงบยั่งยืนกับรายได้แบบนี้ ซึ่งไม่ทราบว่าจะได้เท่าไร และจากข้อมูลปี 2556 ระบุว่า บริษัทเอกชนมีรายได้จากการขายทองคำปี 7,061 ล้านบาท โดยเหลือรายได้จากการหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ 6,228 ล้านบาท ขณะที่รัฐได้รายได้ 833 ล้านบาท เป็นค่าภาคหลวง 684 ล้านบาท ซึ่งรายได้ปีละไม่กี่ร้อยล้านแต่ต้องสูญเสียพื้นที่ตลอดไป รัฐต้องตัดสินใจเลือก

“เรื่องการแบ่งรายได้ก็น่าเป็นห่วง เพราะเมื่อพิจารณาแล้วภาครัฐจะได้รายได้เพียงร้อยละ 40 เท่ากับ 100 บาท ได้แค่ 40 บาท เมื่อได้เท่านี้ก็ถามว่าเราได้อะไร ได้เงินไปกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการหมุนเวียนจริงหรือ เงินระดับร้อยล้านสร้างถนนได้นิดเดียว เพราะทอง เงิน กำไรไหลออกนอกประเทศหมด” นายศศินแจงเพิ่มและกล่าวว่า ที่ผ่านมาเหมืองทองเข้ามาในประเทศไทยเมื่อช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ มี BOI ให้ต่างชาติมาลงทุน แถมยกเว้นภาษีให้ถึง 5 ปี โดยเพิ่งกลับมาจ่ายภาษีไม่กี่ปีมานี้ ขณะที่ค่าภาคหลวงน้อยก็เก็บน้อย เราจึงควรทบทวนว่า วันนี้ประเทศเราต้องการเงินขนาดนั้นหรือไม่ ที่ต้องขุดทองคล้ายขุดน้ำมันเหมือนซาอุฯ เพื่อความมั่นคง
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง