ย้อนดูสถิติโศกนาฏกรรมระหว่างการแสวงบุญในพิธีฮัจญ์ในรอบเกือบ 30 ปี ที่ซาอุดิอาระเบีย

ต่างประเทศ
25 ก.ย. 58
04:51
1,517
Logo Thai PBS
ย้อนดูสถิติโศกนาฏกรรมระหว่างการแสวงบุญในพิธีฮัจญ์ในรอบเกือบ 30 ปี ที่ซาอุดิอาระเบีย

ย้อนหลังกลับไปช่วงเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา พบว่าเกิดโศกนาฏกรรมบ่อยครั้งระหว่างการแสวงบุญในพิธีฮัจญ์ แต่หลังจากที่ทางการซาอุดิอาระเบียทุ่มงบประมาณมหาศาลในการปรับปรุงสถานที่และระบบควบคุมฝูงชนระหว่างการประกอบพิธี ทำให้ในระยะหลังๆ ไม่ค่อยจะมีรายงานเหตุการณ์การเหยียบกันเสียชีวิตระหว่างประกอบพิธีฮัจญ์

โศกนาฏกรรมระหว่างพิธีฮัจญ์ที่ทำให้ซาอุดิอาระเบียต้องปรับปรุงจุดแสวงบุญเมืองมีนา สถานที่ปาก้อนหินใส่เสาหินทั้ง 3 ต้น คือเหตุเหยียบกันเสียชีวิตในปี 2006 หรือปี 2549 บริเวณตีนสะพานจามารัท ครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิต 364 คน , ปี 1997 หรือปี 2540 มีผู้เสียชีวิต 340 คน จากเหตุไฟไหม้เต็นท์พักของผู้แสวงบุญในเมืองมีนา, ปี 1994 หรือปี 2537 เกิดเหตุเหยียบกันระหว่างพิธีปาเสาหินในเมืองมีนา เสียชีวิตไป 270 คน, ปี 1990 หรือปี 2533 เกิดเหตุเหยียบกันในอุโมงค์ที่เป็นเส้นทางสู่จุดแสวงบุญ ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 1,426 คน นับเป็นโศกนาฏกรรมที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดครั้งหนึ่ง
 
ปี 1987 หรือปี 2530 มีผู้เสียชีวิต 402 คน จากเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ซาอุดิอาระเบียพยายามเข้าไปยุติการเดินขบวนประท้วงต่อต้านสหรัฐอเมริกาโดยกลุ่มผู้แสวงบุญชาวอิหร่าน ทั้งนี้ การประกอบพิธีฮัจญ์เป็นศาสนพิธีสำคัญของคนมุสลิม ซึ่งคนมุสลิมที่มีความสามารถ จะต้องเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่นครมักกะห์ให้ได้สักครั้งหนึ่งในชีวิต
 
สำหรับการประกอบพิธีฮัจญ์ ผู้แสวงบุญจะประกอบพิธีรวม 5 วัน ส่วนใหญ่จะเริ่มต้นจากการเดินวนรอบวิหารกะบะห์ ในมัสยิดอัลฮะรอม 7 รอบ ก่อนจะเริ่มต้นเดินเท้าแสวงบุญ ผ่านเมืองมีนา โดยจะพักที่จุดนี้หนึ่งครั้ง จากนั้นผู้แสวงบุญจะเดินเท้าต่อไปยังภูเขาอาราฟัต เป็นจุดที่ 3 เพื่อละหมาดตั้งแต่เที่ยงวัน จนถึงตะวันตกดิน เพื่อรำลึกถึงศาสดานะบี มูฮัมหมัด ซึ่งที่ภูเขาอาราฟัต คือสถานที่เผยแพร่คำสั่งสอนครั้งสุดท้ายของศาสดามูฮัมหมัด
 
จากนั้นผู้แสวงบุญจะเดินทางต่อไปยังจุดที่ 4 คือบริเวณมัสยิดมุสดาลิฟะห์ เพื่อเก็บก้อนกรวดไว้สำหรับการเดินทางกลับไปยังเมืองมีนาอีกครั้งหนึ่ง การเดินย้อนกลับไปเมืองมีนาครั้งนี้จะมีการประกอบพิธีกรรมสำคัญ นั่นคือการปาก้อนกรวดใส่เสาหินแทนความชั่วร้ายทั้ง 3 ต้น เพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้ายนั่นเอง
 
ที่ผ่านมา เคยเกิดโศกนาฏกรรมที่จุดนี้อยู่บ่อยครั้ง ดังนั้นหลังเกิดเหตุเหยียบกันเสียชีวิตเมื่อปี 2539 ทางการซาอุดิอาระเบีย จึงทุ่มงบประมาณหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ สร้างสะพานจามารัทขึ้นใหม่ เพื่อขยายช่องทางเดิน และสร้างอาคารสำหรับปาเสาหินสูง 4 ชั้น บวกชั้นใต้ดิน ทำทางเข้า 5 ทางเพื่อกระจายคน สร้างเสาหินใหม่จากเดิมเป็นเสากลมก็เปลี่ยนเป็นแผ่นหินสี่เหลี่ยม เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการปาหิน ไม่ให้กระจุกตัวอยู่บริเวณเดียว รวมทั้งวางระบบดูแลการไหลของคนด้วย จากนั้นเมื่อผู้แสวงบุญปาเสาหินเสร็จ ก็จะเดินทางกลับไปยังมัสยิดศักดิ์สิทธิ์อัลฮะรอม เพื่อละหมาดและเดินวนรอบวิหารหินกะบะห์อีก 7 รอบ เป็นอันสิ้นสุดการแสวงบุญ
 
ในแต่ละปีจะมีผู้เดินทางร่วมประกอบพิธีฮัจญ์ประมาณ 2 ล้านคน ซึ่งแต่ละคนจะเริ่มต้นการแสวงบุญไม่ตรงกัน โดยทางการซาอุดิอาระเบียจะเป็นผู้กำหนด แต่สำหรับโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น เมื่อวานนี้ จุดที่เกิดเหตุ เป็นเส้นทางถนนในเมืองมีนาที่มีคนเดินสวนกัน กลุ่มหนึ่งจะไปยังเสาหินเมืองมีนา ส่วนอีกกลุ่มจะมุ่งหน้าไปเขาอาราฟัต ซึ่งทางการซาอุดิอาระเบีย อยู่ระหว่างสอบสวนว่าเหตุใดคนจึงกระจุกตัวกันบริเวณถนนมากจนเหยียบกันเสียชีวิต

ติดตามข่าวสารผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ไทยพีบีเอสออนไลน์
https://www.facebook.com/ThaiPBSNews?ref=hl
 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง