กษัตริย์แห่งซาอุฯทรงมีรับสั่งทบทวนมาตรการรักษาความปลอดภัยในการประกอบพิธีฮัจญ์

ต่างประเทศ
25 ก.ย. 58
07:19
136
Logo Thai PBS
กษัตริย์แห่งซาอุฯทรงมีรับสั่งทบทวนมาตรการรักษาความปลอดภัยในการประกอบพิธีฮัจญ์

กษัตริย์แห่งซาอุดิอาระเบียทรงมีรับสั่งให้หน่วยงานที่ดูแลเรื่องการประกอบพิธีฮัจญ์ทบทวนมาตรการรักษาความปลอดภัยทั้งหมด พร้อมสอบสวนหาสาเหตุของการเกิดโศกนาฏกรรมที่ทำให้ผู้แสวงบุญเสียชีวิตมากกว่า 700 คน

สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน บิน อับดุลอาซิซ อัล ซาอูด แห่งซาอุดิอาระเบียทรงมีรับสั่งผ่านรายการสดทางสถานีโทรทัศน์อัล อะราบียา ให้เจ้าหน้าที่ทางการซาอุดิอาระเบียทบทวนมาตรการแผนการรักษาความปลอดภัยด้านต่างๆ ในการประกอบพิธีฮัจญ์ประจำปีนี้ทั้งหมด พร้อมทั้งให้เร่งการสอบสวนหาสาเหตุของการเกิดโศกนาฏกรรมที่พระองค์ตรัสว่าเป็นเหตุการณ์ที่น่าเจ็บปวด โดยเร็วที่สุด
 
ด้าน พล.ต.มานซูร์ อัล ตูร์กิ โฆษกกระทรวงมหาดไทยซาอุดิอาระเบีย แถลงว่า ทางการจะเร่งดำเนินการสอบสวนหาสาเหตุของการเหยียบกันตายในครั้งนี้ ซึ่งจุดดังกล่าวอยู่ห่างจากนครมักกะห์ไปประมาณ 5 กิโลเมตร และเป็นบริเวณเดียวกับเมืองเต็นท์ ซึ่งมีเต็นท์ของผู้แสวงบุญมากกว่า 160,000 หลัง โดยผู้แสวงบุญจะต้องเดินไปตามเส้นทางที่เจ้าหน้าที่กำหนดเอาไว้ เพื่อไปเข้าไปขว้างก้อนหินใส่เสาที่ถือเป็นตัวแทนของปีศาจร้าย
 
ขณะที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ประมุขแห่งคริสตจักรนิกายโรมันแคทอลิค ซึ่งอยู่ระหว่างการเสด็จเยือนสหรัฐอเมริกา ทรงมีพระราชดำรัสแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกับชาวมุสลิม พร้อมกับสวดภาวนาให้ผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุการณ์เหยียบกันตายดังกล่าว
 
เหตุเหยียบกันตายในครั้งนี้ มีผู้เสียชีวิต 717 คน ในจำนวนนี้เป็นชาวอิหร่าน 95 คน ซึ่งทำให้นายฮอสเซน อาเมียร์ อับดอลลาเฮียน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศอิหร่าน ออกมากล่าวโทษว่าเป็นความผิดของซาอุดิอาระเบียที่จัดเตรียมการไม่ดีจนเกิดโศกนาฏกรรมขึ้น และเจ้าหน้าที่ของซาอุดิอาระเบียจะต้องรับผิดชอบต่อโศกนาฏกรรมครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบ 25 ปี ของการประกอบพิธีฮัจญ์
 
ทั้งนี้ โศกนาฏกกรรมครั้งเลวร้ายที่สุดเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคมปี 2533 โดยครั้งนั้นมีผู้แสวงบุญเสียชีวิต 1,426 คน เนื่องจากขาดอากาศหายใจขณะอยู่ในอุโมงค์ ซึ่งเป็นเส้นทางที่ผู้แสวงบุญจะเดินไปทำพิธีขว้างเสาหิน
 
ขณะที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การบริหารจัดการผู้แสวงบุญไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากอุปสรรคด้านการสื่อสาร เพราะผู้แสวงบุญที่คาดว่าปีนี้มีมากถึง 2,000,000 คน จาก 200 ประเทศทั่วโลก สื่อสารด้วยภาษาที่แตกต่างกันมากกว่าร้อยภาษา ดังนั้น ผู้แสวงบุญอาจจะไม่เข้าใจภาษาที่เจ้าหน้าที่พยายามสื่อสารและอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมครั้งนี้ขึ้นในที่สุด


ข่าวที่เกี่ยวข้อง