ชาวแม่สอดร้องนายกฯทบทวนทำเขตศก.พิเศษ ชี้ไม่เหมาะทำอุตสาหกรรม-ไม่ทำอีเอชไอเอ

ภูมิภาค
25 ก.ย. 58
15:02
200
Logo Thai PBS
ชาวแม่สอดร้องนายกฯทบทวนทำเขตศก.พิเศษ ชี้ไม่เหมาะทำอุตสาหกรรม-ไม่ทำอีเอชไอเอ

กลุ่มแม่สอดรักษ์ถิ่นยื่นหนังสือถึงนายกฯ ผ่านศูนย์ดำรงธรรม หลังถูกเจ้าหน้าที่กันไม่ให้ยื่นกับชัยยา ยิ้มวิลัย ผช.รมต.ประจำสำนักนายกฯ ที่ไปเปิดงาน “มหกรรมการค้าการลงทุนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก” ให้ทบทวนเขตศก.พิเศษแม่สอด รวมทั้งการเวนคืนที่ดินด้วย

วันนี้ (25 ก.ย.2558) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงานว่า ตัวแทนเจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรม เข้ารับหนังสือจากชาวบ้าน ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งขอให้รัฐบาลทบทวนการใช้มาตรา 44 เวนคืนที่ดินกว่า 2,000 ไร่ เพื่อดำเนินโครงการจัดสรรที่ดินเขตเศรษฐกิจพิเศษตาก หลังถูกเจ้าหน้าที่สกัดไม่ให้เข้ายื่นหนังสือกับนายชัยยา ยิ้มวิลัย ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่เดินทางมาร่วมงาน “มหกรรมการค้าการลงทุนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก” Mae Sot SEZ Expo 2015 ที่อาคารศูนย์แสดงสินค้าและศูนย์ประชุมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว (OTOP) อ.เเม่สอด จ.ตาก ทั้งนี้ภาครัฐอยู่ระหว่างขั้นตอนการประเมินทรัพย์สิน ก่อนเวนคืนที่ดินในบริเวณดังกล่าว

โดยกลุ่มคนแม่สอดรักษ์ถิ่น ออกแถลงการณ์ขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. สั่งยกเลิก หรือชะลอการเวนคืนที่ดินของชาวบ้าน ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อดำเนินโครงการจัดสรรที่ดินเขตเศรษฐกิจพิเศษตาก ชี้ยังขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน กระทบพื้นที่เกษตรและชุมชน รวมทั้งไม่มีการสำรวจผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีคำสั่งที่ 17/2558 เรื่องการจัดหาที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในเขตพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตาก และอาศัยอำนาจตามความในมาตร 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ให้เป็นพื้นที่ราชพัสดุโดยความเห็นชอบของ คสช. จึงมีคำสั่งดังนี้

1.ที่ดินในท้องที่ ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก เฉพาะภายในแนวเขตตามแผนที่หมายเลข 1/8 ท้ายคำสั่งนี้ โดยให้มีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติตามกฎกระทรวงฉบับที่ 945 (พ.ศ.2524) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และเขตป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรี และถอนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน

จากการประกาศคำสั่งที่ 17/2558 และอำนาจความตามในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 โดยมอบหมายให้กรมธนารักษ์เป็นผู้ดูแลในการจัดหาที่ดินเพื่อการใช้ประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก ได้สร้างความเดือดร้อนและความเสียหายให้กับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่บ้านวังตะเคียน หมู่ 4 และหมู่ 7 ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก เพราะที่ดินผืนนี้เป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำการเกษตรหาเลี้ยงชีพมา ซึ่งได้สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ หากพื้นที่ดังกล่าวถูกยกให้เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จะมีนิคมอุตสาหกรรมเกิดขึ้น ชาวบ้านหลายครอบครัวต้องสูญสิ้นที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย และชุมชนบริเวณโดยรอบต้องมารับผลกระทบจากการสร้างนิคมอุตสากรรม ทั้งสุขภาพร่างกาย สุขภาพจิต และทำลายทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ซึ่งทางภาครัฐไม่มีความชัดเจนของข้อมูล ไม่มีมาตรการรองรับ ไม่มีพื้นที่ที่จะรองรับให้ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ และไม่ให้ภาคประชาชนคนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดใจการพัฒนา ขณะนี้ยังไม่มีการแก้ไขปัญหาผู้ได้รับผลกระทบ หรือข้อยุติร่วมกัน แต่ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามารังวัด ชี้แนวเขตในพื้นที่ โดยผู้ได้รับผลกระทบได้ยื่นหนังสือคัดค้านกับเจ้าหน้าที่รังวัดที่ดินและศูนย์ดำรงธรรมทำเนียบรัฐบาล รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยแล้ว แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ จึงถือได้ว่าขาดการมีส่วนร่วมและความยินยอมจากชาวบ้าน

ดังนั้นเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ในนามของกลุ่มคนแม่สอดรักษ์ถิ่น จึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการดังต่อไปนี้

1.พื้นที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมในการรองรับเขตพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เนื่องจากเป็นพื้นที่เกษตรกรรมและมีชุมชนอยู่อาศัยหนาแน่นรอบพื้นที่ หากมีการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่จะก่อให้เกิดมลพิษ สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชุมชนโดยรอบอย่างรุนแรง
2.ในการประกาศเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก และการจัดหาพื้นที่รองรับเขตฯ ตามคำสั่ง คสช.ที่ 17/2558 อันเป็นมูลเหตุที่นำมาสู่การรังวัดออกโฉนดในครั้งนี้ ปรากฎว่าไม่มีการศึกษาและจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ไม่มีหลักประกันและไม่สามารถตรวจสอบผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้
3.ไม่ให้มีการรังวัดพื้นที่ของกรมที่ดินจนกว่าการแก้ไขปัญหาจะได้ข้อยุติร่วมกัน
4.ให้มีการพิสูจน์สิทธิ์การทำประโยชน์ในที่ดินของชาวบ้านอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม
5.ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.มีคำสั่งยกเลิกประกาศคำสั่งที่ 17/2558 หรือชะลอการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับพื้นที่ได้รับผลกระทบออกไปก่อน จนกว่าจะได้ข้อยุติการแก้ไขปัญหา

ติดตามข่าวสารอย่างรวดเร็วผ่านไทยพีบีเอสออนไลน์
https://www.facebook.com/ThaiPBSNews?ref=hl


ข่าวที่เกี่ยวข้อง