นักวิชาการชี้ร่างกฎหมายแร่เปิดช่องทำเหมืองแร่ในพื้นที่ป่าสงวน

สิ่งแวดล้อม
28 ก.ย. 58
10:08
190
Logo Thai PBS
นักวิชาการชี้ร่างกฎหมายแร่เปิดช่องทำเหมืองแร่ในพื้นที่ป่าสงวน

กลุ่มนักวิชาการระบุร่างกฎหมายแร่เปิดช่องทำแร่ในพื้นที่ป่าสงวน อนาคตอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้างทั้งในเรื่องทรัพยากร สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ พร้อมเสนอให้รัฐใช้มาตรการเข้มงวดกับเอกชนที่ได้รับสัปทานเพื่อแสดงถึงความรับผิดชอบต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ก่อนที่จะเสนอร่าง พรบ. ให้คณะรัฐมนตรีและสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา

วันนี้ (28 ก.ย.2558) งานเสวนา “จับตาร่างกฎหมายแร่ การอนุญาตให้สำรวจและสัมปทานแร่ภายใต้ภาวะอำนาจพิเศษ” จัดโดย ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ร่วมกับคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน(กป.อพช.) และสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สคส.) ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยมีตัวแทนนักวิชาการและชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่เหมืองแร่ทองคำเข้าร่วม โดยพูดคุยกันถึงผลกระทบที่เกิดกับสัตว์ป่าและการกำหนดพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพื่อให้สัมปทานเหมือง รวมถึงระบบนิเวศน์ ก่อนเสนอร่างพรบ.เพื่อศึกษาถึงผลกระทบให้รอบด้าน

นายสุรพล ดวงแข ตัวแทนมูลนิธิเพื่อนช้าง ระบุว่า สิ่งที่จะต้องทำ คือ การปฏิรูประบบธรรมาภิบาลเกี่ยวกับระบบการทำเหมืองแร่  เช่น การควบคุมเวลาการใช้เส้นทางที่ผ่านเข้าออกเหมืองแร่ เพื่อไม่ให้รบกวนหรือส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชนหรือพื้นที่เกี่ยวข้องและทำให้ผู้สร้างมลพิษรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบและสิ่งแวดล้อมที่เสียหาย

ขณะที่นายศศิน เฉลิมลาภ  ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุว่า ควรมีการควบคุมเวลาการใช้เส้นทางเข้าออกเหมืองแร่ เพื่อไม่ให้กระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมมากนัก รวมถึงกำหนดให้ใช้มาตรการเข้มงวดให้ผู้ที่ทำลายสิ่งแวดล้อมรับผิดชอบและเยียวยาต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น แหล่งแร่ในไทยถูกประกาศอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ แต่ดูเหมือนจะมีความพยายามที่จะรุกเข้ามานำแร่ไปใช้ โดยเฉพาะแร่ทองคำ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่กฎหมายเปิดช่องให้ทำได้ ทั้งในป่าสงวนแห่งชาติ ของกรมป่าไม้ที่มีพื้นที่ป่าสงวนจำนวน 1,221 ป่า พื้นที่ บภท. และพื้นที่สปก. เพื่อสงวนให้กิจการต่างๆ มาขอใช้ประโยชน์ไม่ใช่การสงวนเพื่อรักษาป่า ซึ่่งเหมืองแร่ทองคำยู่ในพื้นที่ประมาณร้อยละ 80% ที่อยู่ในพื้นที่ชุมชนซึ่งไปอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าเขา

ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ยังกล่าวอีกว่า ปัจจุบันสิ่งที่เอกชนกำลังจะขอคือการยื่นเรื่องจองพื้นที่เพื่อขอใบอาชญาบัตรสำรวจ หากความเข้มข้นของแร่มีมากพอเอกชนก็จะขอใบประทานบัตรทำเหมืองแร่ จากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.)  จากนั้นก็จะใช้วิธีประชาคมระดับ อบต.  เพื่อขอความเห็นจากคนในชุมชนแต่ก็จะเกิดปัญหา จากกรณีการโหวตโดยเฉพาะสมาชิก อบต. แต่ละพื้นที่จะโหวตให้ เพราะมีค่าภาคหลวงที่ได้รับ แนวสายแร่ขณะนี้ที่จะสำรวจ ก็ยังไม่แน่ใจว่าพื้นที่ที่ชัดเจนจะไปอยู่ที่ตรงไหน ซึ่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นและเห็นได้ชัดเจน คือ จะต้องมีการต้องระเบิดหินใหญ่ๆ ตามเส้นทางสายแหล่งแร่ ตั้งแต่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือไล่ลงมาภาคกลาง และภาคตะวันออกจะต้อง มีพื้นที่ที่โดนระเบิดหินเป็นวงกว้าง เพื่อหาแร่แล้วนำมารวมกันเพื่อจะหาแร่ทองในจำนวนที่ต้องการ การระเบิดหินเป็นตันๆ อาจได้ทองไม่ถึง 1 บาท

ด้านกับนางศยามล ไกยูรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ระบุว่า คณะกรรมการนโยบายแร่มีความสำคัญซึ่งมีหน้าที่จัดทำแผนบริหารแร่แห่งชาติ โดยกรรมการชุดนี้จะต้องประเมินผลกระทบทางยุทธศาสตร์ของแหล่งแร่ที่จะต้องเกิดขึ้นรวมทั้งต้องกำหนดให้เอกชน ประเมินรายได้จากที่จะต้องดำเนินการรวมถึงการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและชุมชน ส่วนกรรมการแร่และกรรมการแร่จังหวัด จะต้องมีบทบาทสำคัญซึ่งองค์ประกอบทั้งหมดของตัวกรรมการจะต้องได้รับการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย เพื่อพิจารณาว่าจะพัฒนาแหล่งแร่อย่างไร หรือจะป้องกันอย่างไร ไม่ให้เกิดผลกระทบและต้องตัดสินใจว่า จะเลือกรายได้จากการทำแร่หรือเกษตรกรรม การท่องเที่ยวเพื่อตัดสินใจว่าต้องการเดินหน้าเหมืองแร่หรือไม่

"เราอาจเลี่ยงการทำเหมืองแร่ไม่ได้ แต่กฎหมายต้องให้หลักประกันได้ว่าจะมีความชัดเจนเกิดขึ้น  ซึ่งกว่าที่เอกชนจะได้สัมประทานบัตร จาก กพร. ปัจจุบันขั้นตอนไม่ง่ายนัก เนื่องจากประชาชนรับทราบข้อมูลและต้องการมีส่วนร่วมมากขึ้น และต้องไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งรวมทั้งการใช้หลักของมนุษยธรรมมาพิจารณา" รองเลขาธิการคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ระบุ

ทั้งนี้ร่างกฏหมายแร่ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นกฤษฏีกา คาดว่าจะถูกส่งต่อให้ คณะรัฐมนตรีและสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาภายในเร็วๆ นี้ ซึ่งร่างกฎหมายแร่ที่จะออกมาจะมีผลต้องการให้เอกชนได้สิทธิ์สำรวจและทำแร่ในพื้นที่ป่าชุ่มน้ำหรือป่าสงวนได้ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นักวิชาการในเวทีเสวนายังตั้งข้อสังเกตว่า หากดูตามแหล่งสายแร่ที่มีอยู่ตั้งแต่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ไปจนถึงภาคตะวันออกแล้ว ประเทศไทยยังไม่มีเทคโนโลยีที่มีความพร้อมในการทำเหมืองทองคำ เพราะกว่าจะได้ทองคำต้องระเบิดหินขนาดใหญ่เพื่อให้ได้สายแร่

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มว่า ขณะที่กลุ่มชาวบ้านร่วมกันสะท้อนความเห็นต่อแนวนโยบายที่รัฐบาล ถึงเตรียมการสร้างเหมืองและพื้นที่ขยายพื้นที่ทำเหมืองแร่ โดยเสนอให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมรอบเหมืองแร่ที่สร้างแล้วในปัจจุบันให้เรียบร้อย ก่อนจะเดินหน้าขยายทำพื้นที่เหมืองทองในพื้นที่ใหม่


ข่าวที่เกี่ยวข้อง