SMEs ขานรับนโยบายหนุนเข้าถึงแหล่งทุน ระบุกระตุ้นกำลังซื้อ-เปิดโอกาสขยายกิจการ

29 ก.ย. 58
04:36
237
Logo Thai PBS
SMEs ขานรับนโยบายหนุนเข้าถึงแหล่งทุน ระบุกระตุ้นกำลังซื้อ-เปิดโอกาสขยายกิจการ

ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยระบุว่า มาตรการช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี วงเงิน 1 แสนล้านบาทของรัฐบาล เป็นการแก้ปัญหาได้ตรงจุดและจะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สอดคล้องกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เห็นว่าจะทำให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้นและกระตุ้นกำลังซื้อ

ภายหลังที่คณะรัฐมนตรีผ่านความเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี โดยแบ่งเป็น 2 ช่วงคือ การเสริมสภาพคล่อง โดยให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ วงเงิน 1 แสนล้านบาท รวมถึงการใช้มาตรการด้านภาษีเพื่อลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ส่วนช่วงที่ 2 เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้เอสเอ็มอี โดยให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงอุตสาหกรรมศึกษาการหาตลาดผ่านออนไลน์หรืออีคอมเมิร์ส

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวกับ “ไทยพีบีเอสออนไลน์” ถึงมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี วงเงิน 1 แสนล้านบาทของรัฐบาลว่า มาตรการนี้แตกต่างจากครั้งก่อนๆ เพราะทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น โดยไม่จำกัดเฉพาะธนาคารของรัฐ แต่ให้ธนาคารพาณิชย์เข้ามามีส่วนร่วม เนื่องจากธนาคารพาณิชย์เป็นผู้ที่ปล่อยสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอีมากที่สุดถึงร้อยละ 80 และการที่ให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นผู้ค้ำประกันก็จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นมากขึ้น พร้อมเห็นว่ามาตรการนี้สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด เพราะมีการเริ่มต้นที่เป็นรูปธรรม โดยนำเงินเข้ามาหมุนเวียนในระบบก่อนเพื่อเสริมสภาพคล่องและสร้างการตลาด จึงเชื่อว่าจะได้รับความสำเร็จและสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้

ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยยังระบุถึงปัญหาใหญ่ที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีประสบในขณะนี้คือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนและตลาด ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการแก้ไขเป็นอันดับแรกและควรผลักดันให้เกิดนวัตกรรม เพราะธุรกิจเอสเอ็มอียังขาดนวัตกรรมที่จะสร้างความเข้มแข็งให้สินค้าหรือบริการ จึงทำให้การเติบโตของธุรกิจเป็นไปได้ยาก เพราะนวัตกรรมจะเป็นตัวช่วยลดต้นทุนการผลิต ทำให้สินค้าหรือบริการมีความแตกต่างและเกิดการพัฒนาการแข่งขันในตลาดโลก จึงเป็นหัวใจสำคัญในการกระตุ้นเอสเอ็มอี นอกจากนี้รัฐควรมุ่งเน้นกลุ่มธุรกิจหรือคลัสเตอร์ (Cluster) ใหญ่ๆ เช่น กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มแปรรูป กลุ่มดีไซน์ เป็นต้น เพราะหากกลุ่มเหล่านี้ได้รับการพัฒนาจะสร้างความเข้มแข็งและเป็นประโยชน์ในการพัฒนาเอสเอ็มอีต่อไป

อีกหนึ่งปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อตลาดเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นตลาดหลักของประเทศ คือกำลังซื้อที่ลดลง โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดเป็นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค รัฐควรจัดกิจกรรมและเปิดพื้นที่ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนำสินค้าไปจำหน่าย โดยต้องสร้างตลาดค้าส่งขนาดใหญ่และตลาดชุมชนให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมถึงการหาตลาดผ่านทางออนไลน์หรือ อีคอมเมิร์ช (E-Commerce) ซึ่งเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้เอสเอ็มอีเข้าสู่กลไกตลาดได้ไม่จำกัด แต่ต้องมีระบบการจัดการที่ดี ส่วนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะต้องเข้าใจการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวที่จะอยู่รอดและแข่งขันในตลาดได้ นอกจากนี้การรวมตัวกันหรือรวมกลุ่มคลัสเตอร์จะช่วยสร้างความเข้มแข็งได้อีกทางหนึ่ง

ด้านผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมองว่า มาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลครั้งนี้ เป็นผลดีต่อผู้ประกอบการในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและกระตุ้นให้เกิดกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น

นายรัฐเขต เนตรประภา เจ้าของธุรกิจไอศครีมมะพร้าว Coco cream เปิดเผยว่า อดีตเคยเป็นผู้บริหารบริษัทประมูลรถแห่งหนึ่งและเห็นว่าถึงเวลาที่ต้องเริ่มต้นทำธุรกิจของตัวเอง ประกอบกับที่บ้านมีสูตรเฉพาะในการทำไอศครีมมะพร้าว และในตลาดยังไม่มีแบรนด์ไหนที่ผลิตไอศครีมมะพร้าวได้โดดเด่น จึงเห็นโอกาสและเชื่อว่าจะทำเป็นอุตสาหกรรมได้

ธุรกิจไอศครีมมะพร้าว Coco cream เริ่มต้นโดยใช้เงินทุนส่วนตัวประมาณ 2-3 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นแบรนด์ใหม่ในตลาดเนื่องจากดำเนินธุรกิจมาได้เพียง 1 ปี ปีแรกเป็นการทดลองผลิตภัณฑ์และทดลองตลาด ใช้วิธีการออกบูธและวิธีปากต่อปาก แต่จะไม่ลงทุนงบประมาณในการซื้อพื้นที่โฆษณา ซึ่งขณะนี้มีแฟรนไชส์ในกรุงเทพฯ 51 สาขาและอีก 6 สาขาในต่างจังหวัด

ส่วนมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีของรัฐบาล นายรัฐเขตมองว่า ภาพรวมถือเป็นผลดี เพราะรัฐบาลนำเงินใส่ให้ประชาชนโดยตรงทำให้มีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น อีกส่วนหนึ่งก็เป็นผลดีต่อผู้ประกอบการในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเช่นกัน ซึ่งในปี 2559 มีแผนที่จะกู้เงินจากธนาคารเพื่อนำมาขยายธุรกิจ โดยตั้งเป้าว่าไตรมาส 3 ของปี 2559 จะส่งออกไอศครีมมะพร้าว Coco cream ไปต่างประเทศ แต่ก็ขึ้นอยู่กับเงินทุนที่จะสามารถกู้ได้ รวมถึงศักยภาพในการผลิตด้วย

ทั้งนี้ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ Small and Medium Enterprises (SMEs) ครอบคลุมกิจการ 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ กิจการการผลิต ครอบคลุมการผลิตในภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรมและเหมืองแร่, กิจการการค้า ครอบคลุมการค้าส่งและการค้าปลีก และกิจการบริการ โดยกฎกระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดจำนวนการจ้างงานและมูลค่าสินทรัพย์ถาวรของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ.2545 ไว้ดังนี้

           

<"">

ดวงกมล เจนจบ
ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์

ติดตามข่าวสารอย่างรวดเร็วผ่านไทยพีบีเอสออนไลน์
https://www.facebook.com/ThaiPBSNews?ref=hl


ข่าวที่เกี่ยวข้อง