"เดอะ เกรท ไฟร์วอลล์" กรณีศึกษา "อินเทอร์เน็ต เกตเวย์" จากจีน

Logo Thai PBS
"เดอะ เกรท ไฟร์วอลล์" กรณีศึกษา "อินเทอร์เน็ต เกตเวย์" จากจีน

ขณะที่สังคมไทยกำลังถกเถียงกันถึงข้อดี-ข้อเสียของ "ซิงเกิล เกตเวย์" หรือการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตช่องทางเดียว ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยได้มีการหยิบยกการควบคุมอินเทอร์เน็ตของประเทศจีนมาเป็นกรณีศึกษา เพราะอาจพูดได้ว่าจีนเป็นต้นแบบที่โดดเด่นและอาจจะประสบความสำเร็จมากที่สุดในการควบคุมประชากรที่ใช้อินเทอร์เน็ต

โครงการควบคุมอินเทอร์เน็ตของจีนมีชื่อว่า "โกลเด้น ชิล" ซึ่วทำมาเกือบ 20 ปีแล้ว แต่สื่อตะวันตกมักจะเรียกว่า The Great Firewall of China ซึ่งเป็นชื่อที่ล้อเลียน "กำแพงเมืองจีน" (The Great Wall of China) ที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศจีน

รัฐบาลจีนมประตูเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต 3 เกตเวย์ อยู่ที่ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้และ กว่างโจว ในด้านเทคนิคถือว่ามี 3 ประตู แต่ในด้านการควบคุมเป็น "ซิงเกิล เกตเวย์" เพราะรัฐคุมทั้ง 3 เกตเวย์ โดยใช้งบประมาณกว่า 24,000 ล้านบาท เพื่อควบคุมประชากรที่ใช้อินเทอร์เน็ตกว่า 500 ล้านคน สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า จีนจ้างบุคลากรกว่า 2 ล้านคนมานั่งตรวจสอบข้อมูลที่รัฐบาลคิดว่ากระทบต่อความมั่นคงและบล็อกข้อความดังกล่าว

คนที่เคยไปเที่ยวประเทศจีนก็คุ้นเคยว่าเว็บไซต์ที่คนใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก เช่น เฟซบุ๊ก ยูทูป ทวิตเตอร์ กูเกิ้ล ไลน์ ไม่สามารถใช้ในจีนได้ โดยจีนได้สร้างสังคมออนไลน์ใช้ภายในประเทศขึ้นมา เช่น เว็บไซต์ค้นหา (search engine) อย่างไบดู และโปรแกรมแชทอย่างเวยป๋อ ที่มีคนใช้นับ 100 ล้านคน โดยสรุปประเมินว่าจีนควบคุมได้ถึง 90% ที่เหลือ 10% ยังมีช่องทองที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตลักลอบเข้าเว็บไซต์ต้องห้ามได้
 
แต่การควบคุมเหล่านี้ดูเหมือนจะไม่ได้เป็นอุปสรรคด้านดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจของจีนสักเท่าไหร่  เพราะถึงอย่างไรปัจจัยอื่นยังทำให้จีนเป็นมหาอำนาจในทางเศรษฐกิจอยู่ดี แม้เว็บไซต์ดังๆ พยายามเจาะตลาดเข้าไปในจีนให้ได้ก็ตาม


ข่าวที่เกี่ยวข้อง