ส่องเลือกตั้งเมียนมา 58 คึกคักและโครมครามในรอบ 25 ปี

2 พ.ย. 58
09:01
385
Logo Thai PBS
ส่องเลือกตั้งเมียนมา 58 คึกคักและโครมครามในรอบ 25 ปี

วันนี้ (2 พ.ย.2558) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงานว่า สำนักข่าวคนชายข่าว คนชายขอบ transbordernews.in.th นำเสนอรายงานการเตรียมตัวเพื่อการเลือกตั้งในเมียนมา หัวข้อ “ส่องเลือกตั้งพม่า 58 คึกคักและโครมครามในรอบ 25 ปี” เขียนโดย หมอกเต่หว่า ระบุว่า

“สิ่งที่สำคัญที่สุดในวันเลือกตั้งก็คือการมีเสถียรภาพ ใครก็ตามที่ยั่วยุคุณ โปรดจงยับยั้งชั่งใจ อาจมีบางคนที่ต้องการชักใบให้เรือเสียด้วยเหตุผลมากมาย จงระวังต่อกันไว้ ถ้าหากเราชนะ อย่าสร้างความปั่นป่วน ถ้าหากเราโชคร้ายพอที่จะสูญเสีย จงเผชิญกับผลอย่างมีเกียรติ”

สาสน์จากนางอองซาน ซูจี ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน NLD ล่าสุด ที่เผยแพร่ลงบนเฟซบุ๊กของพรรค ในขณะที่ใกล้วันเลือกตั้ง 8 พฤศจิกายน 2558 เข้ามาทุกที การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นตัวกำหนดอนาคตประเทศเมียนมาหรือไม่ หรือเป็นแค่การจัดฉากประชาธิปไตยอวดชาวโลก(อีกครั้ง) การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมในรอบ 25 ปี ตามที่รัฐบาลและคณะกรรมการเลือกตั้งออกมาคุยโวไว้นั้น จะเป็นจริงได้มากน้อยแค่ไหน เพราะขณะนี้เริ่มมีสัญญาณที่ไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นก่อนวันเลือกตั้ง

การโจมตีพรรคฝ่ายค้าน จำกัดการลงพื้นที่หาเสียงและแสดงออก นายหน่าย งัน ลิน ส.ส.จากเมืองเดกคีนาทีรี เขตเนปีดอว์ ถูกทำร้ายได้รับบาดเจ็บสาหัส (ภาพ Thet Ko/Mizzima) นับตั้งแต่คณะกรรมการเลือกตั้งเปิดให้พรรคการเมืองทั้ง 93 พรรคหาเสียงเมื่อวันที่ 8 กันยายน จึงทำให้ได้เห็นภาพบรรยากาศการหาเสียงที่เป็นไปอย่างคึกคัก มีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้มากถึง 6,065 คน เป็นตัวเลขสองเท่าตัวของผู้สมัครในปี 2553 ที่มีอยู่แค่ 3,069 คน จึงพบการแข่งขันกันสูงโดยเฉพาะพรรคใหญ่ๆ ระหว่างพรรค NLD ของนางซูจี และพรรค USDP ของรัฐบาลชุดปัจจุบัน นอกจากการรณรงค์หาเสียงที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ อีกด้านหนึ่งก็มีภาพของการเล่นการเมืองสกปรกปรากฏขึ้นตามสื่อต่างๆ ซึ่งพรรคฝ่ายค้าน NLD มักถูกเป็นเป้าโจมตีจากฝ่ายตรงข้ามอยู่บ่อยครั้ง

จากการรวบรวมของสำนักข่าว Irrawaddy ระหว่างวันที่ 20 สิงหาคม- 29 ตุลาคม สมาชิกของพรรค NLD ถูกทำร้ายร่างกายและถูกหมิ่นประมาทจากฝ่ายตรงข้ามถึง 18 ครั้ง ที่บางเหตุการณ์ก็พบความเชื่อมโยงกับพรรค USDP เช่น การตัดต่อภาพเปลือยของนางอองซาน ซูจี และการเผยแพร่ข้อความเกลียดชังใส่ร้ายป้ายสีพรรคฝ่ายค้านบนโลกโซเชียลมีเดีย การออกแถลงการณ์ของข้าราชการท้องถิ่นบนเกาะ “ไฮจี” กล่าวหานางซูจีทรยศชาติ เพราะแต่งงานกับชายอังกฤษ การขึ้นป้ายเป็นต้นว่า นางซูจีจะคุกคามความเป็นชาวพุทธในประเทศ ซึ่งพรรค NLD มองว่านี่เป็นการทำให้พรรคเสื่อมเสียชื่อเสียง แม้แต่เหตุการณ์นายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ หอมแก้มนางซูจี ก็ถูกนายเทอู ประธานพรรค USDP หยิบยกมาเป็นประเด็นดราม่าตั้งคำถามด้านศีลธรรมกับนางซูจี

เหตุการณ์ที่ดูเหมือนร้ายแรงที่สุด เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม เมื่อ ส.ส.ของพรรค NLD และสมาชิกพรรคอีก 2 คน ถูกกลุ่มคนร้ายเป็นชาย 4 คนใช้มีดฟันตามร่างกาย ระหว่างที่ทั้ง 3 คน กำลังหาเสียงในเมืองทะคีตา เขตย่างกุ้ง นายหน่าย งัน ลิน ส.ส.จากเมืองเดกคีนาทีรี เขตเนปีดอว์ ถูกทำร้ายได้รับบาดเจ็บสาหัส ซึ่งไม่ใช่เหตุการณ์ครั้งแรกที่สมาชิกพรรค NLD ถูกโจมตี

นอกจากนี้ พรรคฝ่ายค้านยังถูกจำกัดในการลงพื้นที่หาเสียงเลือกตั้ง เช่น ไม่ได้รับอนุญาตให้ผ่านหรือเข้าไปหาเสียงในพื้นที่ของทหารและทางราชการ การเคาะประตูตามบ้านพักราชการ โดยเฉพาะในเมืองซาบูทีรี เขตเนปีดอว์ ฐานเสียงสำคัญของพรรค USDP ก็เป็นสิ่งต้องห้าม เช่นเดียวกับในเมือง”ปะเต่ง”เมืองหลวงเขตอิรวดี ซึ่งมีทหารพม่าและครอบครัวอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ก็ไม่อนุญาตให้พรรคการเมืองอื่นๆ เข้าไปหาเสียงในเขตของทหาร โดยเชื่อว่า ทหารกลัวพรรคการเมืองหาเสียงให้ร้ายกองทัพ มีข้อมูลออกมาว่า ทหารและครอบครัวส่วนใหญ่จะลงคะแนนเสียงให้กับพรรค USDP ก่อนหน้านั้น ทางพลเอกมิ้นอ่องหล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพเองก็ได้ออกมาเรียกร้องให้ข้าราชการเลือกพรรคการเมืองที่เข้าใจทหาร ซึ่งเข้าใจตรงกันได้ว่า ใครเลยจะเข้าใจทหารได้เท่าพรรค USDP ซึ่งลูกพรรคส่วนใหญ่ก็เคยเป็นทหารมาก่อน

“ฉันจะเลือกพรรค USDP ไม่ใช่เพราะว่าฉันชอบพรรคนี้ แต่จะทำตามสิ่งที่ผู้นำทหารปรารถนา” ภรรยาของนายทหารคนหนึ่งให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Irrawaddy ซึ่งแม่บ้านทหารรายนี้ก็เหมือนกับภรรยาของทหารคนอื่นๆ ที่ต้องเลือกพรรค USDP เพื่อไม่ให้สามีเดือดร้อน ว่ากันว่า ในการเลือกตั้งซ่อมเมื่อปี 2555 ที่พรรค NLD ชนะเลือกตั้งในเมืองปะเต่ง มีการสอบสวนทหาร หลังพบว่ามีคะแนนจากทหารบางส่วนเลือกพรรค NLD

“90 % ของทหารในกองพันเรากลัว แม้ส่วนใหญ่จะชอบอองซาน ซูจีก็ตาม ทหารไม่กล้าพูดคำว่า ไม่ หากผู้บังคับบัญชาให้เลือกพรรค USDP” นายทหารคนหนึ่งกล่าวให้สัมภาษณ์ ทั้งนี้ ผู้สมัครจากพรรค NLD และพรรคประชาธิปไตยสำหรับสังคมใหม่(DPNS)ต่างร้องเรียนว่า ที่หมู่บ้าน โพ ฉ่วย เมียะ โก่ง (Poe Shwe Mya Gon)ข้อมูลและเลขบัตรประจำตัวของครอบครัวทหารถูกทางกองทัพรวบรวมนำไปเลือกตั้งล่วงหน้าไว้แล้ว

อีกด้านหนึ่ง กลุ่มที่เฝ้าสังเกตการณ์ลงพื้นที่หาเสียง อย่างกลุ่ม People’s Alliance for Credible Elections(PACE) ได้ออกรายงานเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พบพรรคการเมืองหลายพรรคติดสินบนประชาชน แต่พรรค USDP นั้น ติดสินบนประชาชนมากที่สุด มีทั้งการแจกข้าวของ การบริจาคเงินช่วยเหลือวัดเพื่อหวังผลทางการเมือง ไปจนถึงซื้อเสียง โดยข้อมูลในรายงานมาจากการสัมภาษณ์ประชาชน เจ้าหน้าที่เลือกตั้งและผู้สมัครพรรคการเมืองมากกว่า 2,600 คน โดยกลุ่ม PACE ยังได้ลงพื้นที่สังเกตการณ์รณรงค์หาเสียงของการพรรคการเมือง 1,500 ครั้ง ใน 129 เมืองทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 8 กันยายน-18 ตุลาคม ที่ผ่านมา

ปัญหาที่พบบ่อยมากที่สุด นับตั้งแต่คณะกรรมการเลือกตั้งพม่าได้เริ่มประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเมื่อปลายเดือน มีนาคมจนถึงตอนนี้ก็คือ ปัญหารายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งตกหล่นเป็นจำนวนมาก เหมือนเช่นที่เมืองกอกาเร็ก รัฐกะเหรี่ยง ที่พบว่ามีรายชื่อกว่า 5,000 ชื่อหายไปจากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ชาวบ้านบางรายที่เคยไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งในปี 2533 และปี 2553 กลับไม่มีสิทธิ์เลือกตั้งในปี 2558 เป็นต้น ความผิดปกตินี้พบเห็นในเขตเลือกตั้ง 3 ใน 7 เขตของเมืองกอกาเร็ก

ชาวพม่าในหลายประเทศที่ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าตั้งแต่เมื่อกลางเดือน ตุลาคมที่ผ่านมาก็พบปัญหานี้เช่นเดียวกัน ชาวพม่าบางส่วนต้องสูญเสียสิทธิ์ แม้จะยื่นเอกสารขอเลือกตั้งล่วงหน้าไว้ก่อนแล้ว แต่เมื่อถึงวันเลือกตั้งกลับไม่พบรายชื่อตนอยู่ในบัญชี เช่น นายเข่าว์มองมิ้น ซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศสิงคโปร์ที่มาจากเมืองหม่ายางโก่ง ทางเหนือของย่างกุ้ง ที่พบว่าเขตที่เขาอาศัยอยู่ทั้งเขตไม่ติดอยู่ในบัญชีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง

หรืออีกเหตุการณ์ที่นายอ่องทุนลิน ชาวพม่าในญี่ปุ่นที่มาจากเมืองโอ้กกะลาป้าใต้ เขตย่างกุ้ง โพสต์ลงเฟซบุ๊กว่า คนบ้านเดียวกับเขาส่วนใหญ่ไม่ได้เลือกตัวแทนไปสภาผู้แทนราษฎร โดยเจ้าหน้าที่จากสถานทูตเมียนมาบอกเพียงว่า เมือง”โอ้กกะลาป้าใต้” นั้น ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร โดยพบปัญหานี้เช่นเดียวกันในประเทศออสเตรเลีย ทั้งที่ในความเป็นจริง ชาวพม่าจำเป็นต้องกากบาทลงคะแนน 3 ใบ เพื่อเลือกผู้แทนไปสู่ 3 สภา คือ สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภาและสภาภูมิภาค และสภารัฐ

ชาวพม่าในต่างประเทศระบุ พบเห็นเหตุการณ์เช่นนี้บ่อยครั้งในวันที่ไปเลือกตั้ง อีกทั้งร้องเรียนว่า พบเห็นใบลงคะแนนฉีกขาดและเปรอะเปื้อนสกปรก นอกจากนี้ยังพบใบลงคะแนนบางส่วนไม่มีลายเซ็นของเจ้าหน้าที่เขตเลือกตั้ง หลายคนได้ตั้งคำถามถึงความไม่โปร่งใส และต่างกังวลว่า เสียงโหวตของพวกเขาจะไปไม่ถึงคนที่พวกเขาเลือก

ในส่วนของชาวพม่าที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ซึ่งคาดว่ามีอยู่ราว 3-4 ล้านคน พบมีแค่ 10,000 คน ที่ยื่นขอเลือกตั้งล่วงหน้า แต่ก็มีเพียง 500 คนเท่านั้นที่ได้เลือกตั้ง แรงงานที่เหลืออีกหลายล้านคน เช่นเดียวกันกับแรงงานเมียนมาในมาเลเซียอีก 7 แสนคนจะพลาดโอกาสในเลือกตั้งครั้งนี้ไปอย่างน่าเสียดาย ทางองค์กรภาคสังคมพม่าที่อยู่ในประเทศมาเลเซียอย่างกลุ่ม Kampung free funeral service group วิพากษ์วิจารณ์คณะกรรมการเลือกตั้งเมียนมาว่า ทำหน้าที่ไม่ดีพอ ไม่มีทั้งการประชาสัมพันธ์หรือการช่วยเหลือให้แรงงานในต่างประเทศไปเลือกตั้ง

ขณะที่ล่าสุด ทางคณะกรรมการเลือกตั้งเมียนมาจะประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งรอบสุดท้ายในวันที่ 2 พฤศจิกายนก่อนหน้าเลือกตั้งเพียงไม่กี่วัน ซึ่งทั้งกลุ่มภาคสังคมและพรรคการเมืองต่างแสดงความเป็นห่วงว่า อาจทำให้ประชาชนบางส่วนมีเวลาไม่มากพอในการตรวจสอบรายชื่อหรือแก้ไขข้อมูลของตน โดยเฉพาะแรงงานที่อาศัยอยู่นอกเขตเลือกตั้ง

พรรคฝ่ายค้าน NLD ได้ร้องเรียนว่า ในบางพื้นที่นั้น มีข้อมูลมากถึง 80 % ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่ไม่ถูกต้อง โดยยังตั้งข้อสังเกตว่า ในเขตที่ผู้สมัครคนสำคัญของพรรครัฐบาล USDP ลงแข่งขันเลือกตั้ง ยิ่งพบเห็นข้อมูลไม่ถูกต้องโปร่งใส นอกจากปัญหารายชื่อตกหล่นแล้ว ยังพบมีรายชื่อเพิ่มเข้ามาในบางเขตพื้นที่เลือกตั้งอย่างน่าสงสัย ซึ่งทาง NLD เรียกรายชื่อเหล่านี้ว่า “ผู้ลงคะแนนผี”

ยกตัวอย่างในเมือง “มหาเหมี่ย” เขตมัณฑะเลย์ ตามข้อมูลของคณะกรรมการเลือกตั้งพบมีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งอยู่ประมาณ 14,000 คน แต่จากการสำรวจของพรรค NLD พบผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเพียงแค่ 8,725 คน ตัวเลขที่เกินมานี้ เป็นชาวบ้านที่ย้ายออกไปอยู่ในพื้นที่อื่นแล้ว หรือเป็นประชาชนที่บวชเป็นพระ แต่ทางการยังไม่แก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องแม้จะใกล้วันเลือกตั้งเต็มที ทาง NLD ได้แสดงความเป็นห่วงว่า รายชื่อดังกล่าวจะถูกนำไปใช้หาประโยชน์โดยการสวมรอยเลือกตั้ง

นอกจากนี้ ยังพบเห็นรายชื่อเกินเป็นจำนวนมากทั่วประเทศ เช่น ที่รัฐชิน มีประชาชนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งอยู่ประมาณ 273,995 คน โดย 53.8 % เป็นประชาชนที่ได้รับการยืนยันแล้วว่าอยู่ในรัฐชิน แต่มากกว่า 23,000 คน หรือคิดเป็น 12 % เป็นรายชื่อที่ถูกพรรคการเมืองท้องถิ่นร้องขอให้ลบทิ้ง เนื่องจากประชาชนกลุ่มนี้ได้ย้ายออกไปอยู่ที่อื่นหรืออาศัยอยู่ในต่างประเทศ

ทั้งนี้ ในรัฐชินนั้น ทุกครอบครัวจะมีสมาชิกคนใดคนหนึ่งอาศัยอยู่ในต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น หากมีสมาชิกครอบครัวจำนวน 5 คน จะมีเพียง 2 หรือ 3 คนเท่านั้นที่ยังอยู่ในรัฐชิน ที่เหลืออยู่ในต่างประเทศ พรรคการเมืองท้องถิ่นในรัฐชินอย่างพรรค Chin League for Democracy และพรรค Chin National Democratic Party ได้แสดงความกังวลเช่นกันว่า อาจมีเสียงโหวตที่มองไม่เห็นเกิดขึ้นในรัฐชินเช่นเดียวกัน

เป็นข่าวที่สร้างความผิดหวังให้กับพรรคการเมืองไทใหญ่อยู่ไม่น้อย หลังทางคณะกรรมการเลือกตั้งพม่าได้ประกาศยกเลิกจัดเลือกตั้งเพิ่มในเมืองเกซี เมืองสู้ และในอีก 8 ตำบลในเมืองต้างยาน รวมถึง 37 ตำบล และอีก 5 เขตในเมืองโหป่าง ในรัฐฉาน โดยอ้างว่า ในพื้นที่นี้จะไม่มีการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์และยุติธรรม

เป็นที่ทราบดีว่า ขณะนี้ กองทัพพม่าได้เปิดฉากโจมตีทหารไทใหญ่ พรรครัฐฉานก้าวหน้า/กองทัพรัฐฉานเหนือ (Shan State Progress Party/Shan State Army-SSPP/SSA) ในเมืองสู้ เมืองเกซี รวมถึง 8 ตำบลในเมืองต้างยาน จากข้อมูลของคณะกรรมการเลือกตั้ง จนถึงขณะนี้มีทั้งสิ้น 400 หมู่บ้าน ใน 4 รัฐชาติพันธุ์(รัฐฉาน รัฐกะเหรี่ยง รัฐคะฉิ่น รัฐมอญ) และเขตพะโค จะไม่มีการจัดเลือกตั้ง หรือรวมทั้งสิ้น 17 เมือง โดยในรัฐฉานเพียงแห่งเดียว มีถึง 8 เมืองที่ประชาชนจะสูญเสียสิทธิ์เลือกตั้ง

หลังคำประกาศของคณะกรรมการเลือกตั้ง ทางพรรคหัวเสือไทใหญ่ SNLD ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านทันที ระบุว่า การยกเลิกเลือกตั้งในรัฐฉาน เป็นการกระทำที่ไม่ตรวจสอบสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ แต่ด่วนตัดสินใจยกเลิกและฟังความข้างเดียว เป็นการปิดกั้นประชาชนขึ้นเป็นรัฐบาลเพื่อเข้าไปแก้รัฐธรรมนูญปี 2551 ซึ่งทำให้ผู้สมัครของพรรคอย่างน้อย 10 คน สูญเสียโอกาสเข้าไปในสภา โดยเมืองสู้และเมืองเกซีต่างเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคหัวเสือ SNLD

“พวกเขากลัวว่า เราจะเป็นพันธมิตรกับพรรค NLD พวกเขากลัวว่า เราจะรวมเสียงกับนางอองซาน ซูจี ในสภา จึงยกเลิกจัดเลือกตั้งเพื่อลดเสียงของเรา เราไม่ยอมรับ เพราะไม่ยุติธรรม พวกเขารู้ล่วงหน้าได้อย่างไรว่า สงครามจะเกิดขึ้นต่อไปในอีก 10 วันข้างหน้า” ขุนทุนอูยังตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมประชาชนยังต้องออกมาลงประชามติ แม้เพิ่งประสบภัยพิบัติพายุไซโคลนนาร์กีสไม่กี่วันเมื่อปี 2551 และยังไม่มีการเลื่อนเลือกตั้งในรัฐชินและรัฐอาระกันที่เพิ่งประสบเหตุน้ำท่วมใหญ่และดินถล่ม “เหตุการณ์ยังไม่ถึงขั้นร้ายแรงที่จะต้องยกเลิกจัดเลือกตั้งในทั้ง 2 เมืองของรัฐฉาน ผมหมดศรัทธาในคณะกรรมการเลือกตั้ง ” ขุนทุนอูกล่าว

ผลของการเลือกตั้งครั้งนี้อาจไม่ตรงใจของประชาชน หากการเลือกตั้งไม่เป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม และสิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือกองทัพยังไม่วางมือจากการเมืองไปอย่างง่ายดาย ประชาธิปไตยที่หอมหวานและสันติสุข อาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับชนชั้นผู้นำทหารบางคนที่ยังคงต้องการหาผลประโยชน์จากการที่ประเทศยังตกอยู่ในภาวะสงครามการเมือง ความขัดแย้งและไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ประชาชนคือผู้รับเคราะห์ ซึ่งเป็นโชคร้ายของคนในพม่า
————
บทความโดย หมอกเต่หว่า
ขอบคุณข้อมูลจาก www.irrawaddy.org, www.mmtimes.com, www.elevenmyanmar.com, www.taifreedom.com
ที่มา http://transbordernews.in.th/home/?p=10501#prettyPhoto .


ข่าวที่เกี่ยวข้อง