7 เรื่องต้องรู้ เลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ของเมียนมา

ต่างประเทศ
3 พ.ย. 58
12:48
83
Logo Thai PBS
7 เรื่องต้องรู้ เลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ของเมียนมา

การเลือกตั้งเมียนมาในวันอาทิตย์ที่ 8 พ.ย.นี้ถูกจับตาในฐานะที่เป็นการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ ภายใต้กระแสที่โฟกัสพุ่งไปที่การขับเคี่ยวของพรรค NLD ของนางอองซาน ซู จี และพรรครัฐบาล USDP มีอีกหลายเรื่องที่มีผลต่อการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญที่กองทัพจะได้ที่นั่งในสภาแน่ๆ ร้อยละ 25 พรรคกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาจเป็นตัวแปรจัดตั้งรัฐบาล และประเด็นสิทธิมนุษยชนที่ตัดสิทธิ์ชนกลุ่มน้อยไม่ให้เลือกตั้ง

เมียนมากำลังจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 8 พ.ย.นี้ ซึ่งเป็นการเลือกตั้งระดับชาติครั้งแรก นับตั้งแต่เมียนมาสิ้นสุดการปกครองด้วยระบอบทหารและสามารถมีรัฐบาลที่เป็นพลเรือนได้เมื่อปี 2554  ขณะที่การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการเลือกตั้งที่เสรีที่สุดในรอบ 25 ปี มีเกร็ดเกี่ยวกับการเลือกตั้งหลายเรื่องที่เป็นความเฉพาะตัวของเมียนมา ซึ่งทำให้ผลการเลือกตั้งยังเป็นที่คาดเดาไม่ได้ว่าจะออกมาเป็นแบบไหน นี่เป็นปัจจัย 7 ข้อ ที่เป็นเงื่อนไขของการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น

1.อองซาน ซู จี เป็นประธานาธิบดีไม่ได้
การเลือกตั้งครั้งนี้แม้ว่าอองซาน ซู จี และสมาชิกพรรคสันนิบาตประชาธิปไตย (NLD) อาจจะกวาดที่นั่ง ส.ส.ในสภาได้หลายที่ แต่เธอก็ไม่สามารถที่จะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ เนื่องจากกฎหมายรัฐธรรมนูญที่เขียนโดยรัฐบาลทหารได้บัญญัติเงื่อนไขว่าผู้ที่เป็นประธานาธิบดีต้องไม่เป็นผู้ที่แต่งงานกับคนต่างชาติ กฎนี้ถูกเขียนขึ้นเพื่อกีดกันอองซานโดยแท้ เนื่องจากเธอได้แต่งงานกับ Briton และลูกชายของเธอก็ถือสัญชาติอังกฤษด้วย

2.มีสัญญาณว่าความนิยมพรรค NLD ลดลง
นี่เป็นการคาดเดาจากบางสำนักและยากต่อการประเมิน แม้ว่าผลการเลือกตั้งในปี 1990 พรรค NLD จะได้คะแนนโหวตจากทั้งประเทศร้อยละ 52.5 (392 จาก 492 ที่นั่ง) และในปี 2011 ได้คะแนนโหวตจากทั้งประเทศร้อยละ 66 (43 จาก 45 ที่นั่ง) อย่างไรก็ตามมีข้อวิเคราะห์บางอย่างที่อาจเป็นเหตุให้ผู้ลงคะแนนเลือกตั้งอาจไม่โหวตเลือกผู้สมัครจากพรรค NLD
- การส่งรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค เลี่ยงที่จะส่งคนที่มีชื่อเสียงเป็นแม่เหล็กลงแข่งขัน รวมทั้งกีดกันมุสลิม ซึ่งเป็นผลจากการส่งอิทธิพลของชาวพุทธสายสุดโต่งที่สนับสนุนพรรค
- พรรค NLD ห้ามผู้สมัครให้ข่าวกับสื่อเป็นเวลา 3 สัปดาห์ นั่นสะท้อนถึงแนวปฏิบัติในพรรคที่ไม่เป็นประชาธิปไตยในพรรค NLD ที่มีภาพลักษณ์สนับสนุนแนวทางประชาธิปไตยมาโดยตลอด
- พรรค NLD ไม่ได้เสนอบุคคลที่เป็น "ทางเลือก" ให้ประชาชน ในการนั่งเป็นประธานาธิบดี ซึ่งอองซาน ซูจี ไม่สามารถดำรงตำแหน่งนี้ได้
- ขณะที่ซูจีเป็นสัญลักษณ์ของ "ประชาธิปไตย" และได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง แต่ก็มีรายงานว่าทัศนคติต่อซูจีก็มีปะปนกันไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งความล้มเหลวของซูจีเมื่อกล่าวถึงการจัดการปัญหาของชาวโรฮิงญา ชนกลุ่มน้อยในเมียนมา เรื่องนี้อาจทำให้ไม่สามารถการันตีคะแนนเสียงที่พรรค NLD จะได้จากคนรุ่นใหม่ชาวเมียนมา

3.กฎหมายเมียนมาไม่ได้บังคับให้ต้องไปเลือกตั้ง
ออกจะเป็นที่ประหลาดใจต่อใครหลายคนที่แม้ว่าชาวเมียนมาจะไม่ได้เลือกตั้งเป็นเวลากว่า 20 ปี เมื่อมีรายงานว่าชาวเมียนมาบางส่วนไม่สนใจและขาดการกะตือรือร้นต่อการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้น

เทรเวอร์ วิลสัน อดีตเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำเมียนมา บอกกับสำนักข่าว ABC ว่าชาวเมียนมาบางคนที่ถูกสัมภาษณ์ความเห็นออกตัวแล้วว่า "พวกเขาไม่มีเวลาไปเลือกตั้งหรือคิดกังวลอะไรถึงการเลือกตั้งหรือลงคะแนนเสียงอะไรนั่นหรอก" พวกเขามีสิ่งที่สำคัญกว่าต้องทำอย่างเรื่องการทำมาหากิน

4.ชาวเมียนมาจำนวนหนึ่งถูกตัดสิทธิ์เลือกตั้ง
ในขณะที่มีรายงานว่าชาวเมียนมาบางคนไม่มีอารมณ์ร่วมต่อการเลือกตั้ง ทางการเมียนมาได้สั่งห้ามไม่ให้คนบางกลุ่มมีสิทธิเลือกผู้แทน ผู้สมัครหลายคนขาดคุณสมบัติในการลงสมัคร หลายคนขาดคุณสมบัติในการหย่อนบัตรลงหีบ บางส่วนไม่มีชื่อในบัญชีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่ตกหล่น รวมไปถึงผู้ลี้ภัย ผู้อพยพ หลายพันคน กลุ่มชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยอย่างเช่น ชาวโรฮิงญา ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้มีสิทธิ์เลือกตั้งด้วย

ขณะเดียวกันองค์การสหประชาชาติได้เตือนรัฐบาลเมียนมาถึงการรณรงค์ที่มีลักษณะข่มขู่ที่มีขึ้นในหลายพื้นที่ ยางฮี ลี ผู้เขียนรายงานพิเศษต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติต่อสถานการณ์ในเมียนมา ระบุว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยในเมียนมา และเขาได้ผลักดันให้คนทุกกลุ่มได้มีส่วนร่วมกับการเลือกตั้งเพื่อเป็นการรับรองว่าหลักสิทธิมนุษยชนจะเป็นแนวหน้าและเป็นหัวใจสำคัญที่จะขับเคลื่อนการเลือกตั้งและกระบวนการหลังเลือกตั้ง ยางฮีได้สังเกตเห็นข้อกังวลบางอย่างที่บ่อนทำลายพื้นที่ประชาธิปไตยในเมียนมา เขาเรียกร้องให้เมียนมายุติการจับกุม การตั้งข้อหา และการคุกคามภาคประชาสังคมและสื่อมวลชน โดยทันที "เสียงที่เป็นอิสระเป็นสิ่งจำเป็นและควรมีที่ทางในพื้นที่ของการถกเถียงสาธารณะ"

5.เลือกตั้งครั้งนี้เพื่อการเปลี่ยนแปลง
ไม่ว่าชาวเมียนมาจะเลือกสนับสนุนใครก็ตาม นักวิจารณ์มองว่าความต้องการในการปฏิรูปจะยังคงเกิดขึ้น แม้ว่าจะมีการยกระดับการแทรกแซงทางเศรษฐกิจ มีการเปลี่ยนแปลงที่สวยหรูในเมืองหลัก ธุรกิจและการลงทุนของชาติตะวันตกหลั่งไหลเข้ามา แต่ประชาชนเมียนมาเปลี่ยนไปแล้ว พวกเขากระจ่างแล้วว่าสิ่งใดเป็นรื่องที่พวกเขาคาดหวังในยุคเปลี่ยนผ่านเพื่อเป็นประชาธิปไตย

อดีตเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำเมียนมาคนเดิมบอก ABC ว่าหนึ่งในปัญหาที่ชาวเมียนมาส่วนใหญ่คิดตรงกันคือความทับซ้อนทางการเมืองระหว่างพรรคที่ได้เป็นรัฐบาลกับกองทัพ สิ่งนี้เป็นปัญหาว่าการนิรโทษกรรมกองทัพจะยังคงอยู่ และระบอบทหารก็สามารถละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือมีพฤติกรรมที่เลวร้ายอื่นๆ สิ่งนี้เป็นข้อกังวลของชาวเมียนมา

ขณะที่ยังมีปัญหาอื่นๆ ที่เป็นตัวเร่งให้ผลักดันการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ การไม่มีสันติภาพที่แท้จริงในพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ถึงแม้ว่าจะมีการพูดคุยสันติภาพและมีสนธิสัญญาหยุดยิง การถูกบังคับให้ย้ายถิ่นในพื้นที่ขัดแย้งระหว่างกองกำลังต่อต้านและรัฐบาล และความทุกข์ทรมานของผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาในไทย

6.พรรคของกลุ่มชาติพันธุ์อาจได้หลายที่นั่งในสภา
แม้ว่าพรรค NLD จะได้รับความนิยม แต่พรรคของตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ก็ถูกคาดการณ์ว่าจะได้หลายที่นั่งในสภาด้วยภาพลักษณ์ความเป็นตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์ท้องถิ่น ซึ่งเป็นสิ่งที่พรรครัฐบาลทหาร USDP ต้องการให้เกิดเพื่อที่จะได้ดึงคะแนนเสียงจากพรรค NLD ของนางอองซาน ซูจี โดยการผุดสโลแกนหาเสียงให้โหวตเพื่อพรรค ไม่ใช่ผู้สมัคร ขณะที่นางอองซาน ซูจี ก็ได้ลงพื้นที่หาเสียงอย่างหนักในพื้นที่ชาติพันธุ์เพราะเห็นความสำคัญดังกล่าว มีแนวโน้มว่าหากพรรคของกลุ่มชาติพันธุ์ได้รับการเลือกตั้งเข้าไป พวกเขาจะต้องรวมตัวและลบความแตกต่างของแต่ละกลุ่มออกเพื่อต้อสู้กับแรงกดดันทางการเมืองในสภาใหม่ภายใต้ระบบเลือกตั้งแบบผู้ได้คะแนนสูงสุดชนะเลือกตั้ง

วิลสันบอกกับ ABC ว่าผลการเลือกตั้งอาจมีความเป็นไปได้ว่าอาจมีการเจรจาต่อรองของพรรคใหญ่กับพรรคกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อจะจัดตั้งรัฐบาล หากออกมาเป็นเช่นนี้ พรรค USDP อาจกังวลหนักเพราะพรรครัฐบาลได้กอบโกยประโยชน์จากพื้นที่ชาติพันธุ์เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเหมืองหยก ไม้สัก และทรัพยากรอื่นๆ

7.ร้อยละ 25 ของที่นั่งในสภาถูกกันไว้สำหรับบุคคลในกองทัพ
รัฐธรรมนูญของเมียนมาเขียนไว้ว่า ที่นั่ง ส.ส.ร้อยละ 25 ถูกจัดให้เป็นของกองทัพ ซึ่งเป็นสัดส่วนของผู้แทนที่ทำให้เสียงที่จะโหวตเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ยาก

ธันยพร บัวทอง
แปลและเรียบเรียงจาก “7 things you may not know about Burma’s historic elections” http://asiancorrespondent.com/2015/11/7-things-you-may-not-know-about-bu...

<"">


ข่าวที่เกี่ยวข้อง