กสทช.มั่นใจประมูล 4G แข่งขันดุเดือด แม้มี 4 บริษัทร่วมชิงใบอนุญาต 4 ใบ

เศรษฐกิจ
4 พ.ย. 58
05:29
72
Logo Thai PBS
กสทช.มั่นใจประมูล 4G แข่งขันดุเดือด แม้มี 4 บริษัทร่วมชิงใบอนุญาต 4 ใบ

กสทช.มั่นใจว่าการประมูล 4G จะเกิดการแข่งขันกันอย่างดุเดือด แม้ว่าจะมี 4 บริษัทเข้าร่วมชิงใบอนุญาต 4 ใบ หลังจากประเมินว่าเอไอเอสต้องการ 2 ใบอนุญาต และ 2 คลื่นความถี่ เพราะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานแล้ว ขณะที่จัสมิน ซึ่งเป็นรายใหม่ต้องการใบอนุญาต เพื่อแข่งขันเชิงธุรกิจ ส่วนดีแทคและทรูที่ต้องการใบอนุญาตเช่นกัน แม้ว่าจะมีคลื่นความถี่ ซึ่งมีสัญญาสัมปทานเหลืออยู่

วันนี้ (4 พ.ย.2558) นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ภาพรวมการประมูล 4 จี คลื่นความถี่ 1800 และ 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่มี 4 บริษัท ได้แก่ บริษัทในเครือเอไอเอส ดีแทค ทรู และจัสมิน เข้าร่วมประมูลนั้นจะเกิดการแข่งขันกันอย่างดุเดือด โดยประเมินว่าเอไอเอสต้องการ 2 ใบอนุญาต และ 2 คลื่นความถี่ เนื่องจากสิ้นสุดสัญญาสัมปทานแล้ว และมีลูกค้าใช้งานอยู่จำนวนมาก หากไม่มีคลื่นความถี่มารองรับ จะทำให้เกิดผลกระทบกับธุรกิจ ขณะที่บริษัทในเครือจัสมินต้องการใบอนุญาต 1 ใบ เพื่อประกอบธุรกิจ เนื่องจากเป็นรายใหม่ และพร้อมแข่งขันเชิงธุรกิจ โดยได้ทั้ง 2 คลื่นความถี่ เช่นเดียวกับดีแทคและทรูที่ต้องการ 1 ใบอนุญาต หรือ 2 ใบ ไม่ว่าจะเป็นคลื่นความถี่ไหนก็ตาม นอกจากนี้ ยังประเมินว่าทั้ง 4 บริษัท มีความต้องการคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ มากที่สุด เพราะเป็นเทคโนโลยีที่ดี 
 
นายฐากร กล่าวอีกว่า ดีแทคหรือทรู แม้ว่าจะมีคลื่นความถี่เดิมที่ใช้งานได้อยู่ แต่ยังอยู่ภายใต้สัญญาสัมปทาน และการประกอบธุรกิจต้องส่งเงินให้ตลอดสัญญาสัมปทาน ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูง หากได้รับใบอนุญาตจาก กสทช.จะสามารถลดต้นทุน และมีโอกาสทำกำไรได้มากกว่า
 
นายไตรรัตน์ ฉัตรแก้ว ประธานคณะอนุกรรมการมาตรฐานวิจัยและพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า การสมยอมราคา หรือฮั้วประมูลอาจเกิดขึ้นได้น้อยมาก เพราะแต่ละบริษัทมีเป้าหมายทางธุรกิจแตกต่างกัน และการประมูล 4จี จะทำให้การค้าขายทางออนไลน์เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโต 
 
นายชาญไชย ไทยเจียม อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า บริษัทที่ไม่ชนะการประมูลจะเกิดผลเสียหายทางธุรกิจมาก เช่นเดียวกับการแข่งขันที่จะไม่ยอมกัน และมองว่าในแง่การลงทุน ผู้ประกอบการสนใจคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ มากกว่า เพราะถ้าประมูลมาแล้ว การลงทุนติดตั้งเสาสัญญาณจะน้อยกว่าคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง