นักวิชาการแนะจัดระเบียบการใช้ปะการัง คุมมาตรฐานผู้ประกอบการนำเที่ยวเกาะพีพี

Logo Thai PBS
นักวิชาการแนะจัดระเบียบการใช้ปะการัง คุมมาตรฐานผู้ประกอบการนำเที่ยวเกาะพีพี

นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่า จำเป็นต้องแบ่งพื้นที่การใช้ประโยชน์ตามแนวปะการัง หรือการทำกิจกรรมต่าง ๆ และจัดมาตรฐานของผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการนักท่องเที่ยวที่ในการให้ความรู้ ดูแล และควบคุมพฤติกรรมนักท่องเที่ยว ขณะที่ปะการังที่เสียหายจากกิจกรรมต่าง ๆ ในทะเล ใช้เวลาฟื้นตัวอย่างน้อย 4-5 ปี

วันนี้ (6 พ.ย.2558) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ สั่งห้ามบริการดำน้ำแบบ Try dive และห้ามเรือเข้าเขตอุทยานเด็ดขาด จึงทำให้เรือท่องเที่ยวขนาดใหญ่จำนวน 5 ลำ ต้องออกจากอ่าวต้นไทร หมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่

น.ส.นลินี ทองแถม นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสว่า จำเป็นต้องแบ่งพื้นที่การใช้ประโยชน์ตามแนวปะการัง หรือการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การว่ายน้ำ การดำน้ำ การจัดมาตรฐานของผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการนักท่องเที่ยวที่สามารถดูแลและควบคุมพฤติกรรมนักท่องเที่ยวได้

ทั้งนี้ การดำน้ำแบบ Try dive คือการติดตั้งถังออกซิเจนและตะกั่วให้นักท่องเที่ยว ใส่รองเท้ายางดำน้ำพร้อมครูฝึก วิธีการนี้นักท่องเที่ยวไม่จำเป็นต้องผ่านการฝึกฝนดำน้ำมาก่อน อาจไม่สามารถทรงตัวได้ จึงมีความเสี่ยงไปทำลายแนวปะการัง ในขณะที่เรือจอดลอยลำจุดเดิมนานกว่า 3 ปี บดบังการสังเคราะห์แสงของปะการัง

การดำน้ำแบบนี้ได้รับความนิยมในช่วง 3-4 ปีหลัง ราคาคนละ 800 - 1,000 บาท ได้รับความนิยมสูงในช่วง 3-4 ปีหลัง โดยเฉพาะกรุ๊ปทัวร์ชาวจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ไกด์สอนดำน้ำเป็นชาวต่างชาติที่เช่าเรือจากผู้ประกอบการไทย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง