ปิดหีบเลือกตั้งเมียนมา นักวิเคราะห์เชื่อ "ออง ซาน ซู จี" ชนะได้ยาก

ต่างประเทศ
8 พ.ย. 58
13:21
382
Logo Thai PBS
ปิดหีบเลือกตั้งเมียนมา นักวิเคราะห์เชื่อ "ออง ซาน ซู จี" ชนะได้ยาก

เวลา 16.30 น.วันนี้ (8 พ.ย.2558) ตามเวลาประเทศไทย การเลือกตั้งทั่วไปเมียนมาได้ปิดฉากลงเมื่อถึงเวลาปิดหีบเลือกตั้ง ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในภาพรวมการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่มีการร้องเรียนเรื่องความผิดปกติในบางหน่วยการเลือกตั้ง เช่น ในเมืองมัณฑะเลย์ ขณะที่การนับคะแนนได้เริ่มต้นขึ้น นักวิเคราะห์ยังคาดการณ์ผลการเลือกตั้งต่างกัน บางส่วนมองว่าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) จะชนะถล่มทลาย แต่บางคนกลับมองว่าพรรค NLD จะพ่ายแพ้ และรัฐบาลที่นำโดยทหารจะกลับเข้ามาบริหารประเทศอีกครั้ง

ในนครย่างกุ้ง หลังจากการปิดหีบเลือกตั้ง ผู้แทนจากพรรคการเมืองต่างๆ ได้เข้าประจำที่เพื่อสังเกตการณ์การนับคะแนน ขณะที่ในเมืองมัณฑะเลย์มีความวุ่นวายเกิดขึ้นที่หน่วยเลือกตั้งบะฮัมใยเมื่อชาวบ้านไปร้องเรียนกับคณะกรรมการการเลือกตั้งว่ามีคนต่างถิ่นมากกว่า 60 คนเดินทางไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งที่นั่น ต่อมาผู้สมัครของพรรค NLD ในหน่วยเลือกตั้งดังกล่าวเตรียมเข้าแจ้งความกับตำรวจเพื่อให้สอบสวนเรื่องนี้แล้ว

หลังจากปิดหีบเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งในนครย่างกุ้งและทั่วประเทศเริ่มต้นการนับคะแนนเสียง รองผู้อำนวยการคณะกรรมการการเลือกตั้งเมียนมาเปิดเผยว่า ข้อมูลในเบื้องต้นชี้ให้เห็นว่า ตั้งแต่เปิดหีบเลือกตั้งเมื่อเวลา 06.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น มีชาวเมียนมาเดินทางไปใช้สิทธิ์ลงคะแนนประมาณร้อยละ 80 ของจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด และยังไม่มีรายงานความรุนแรงตามที่หลายฝ่ายกังวล

ผู้สนับสนุนพรรค NLD ไปรวมตัวกันที่ที่ทำการพรรคเพื่อติดตามนับผลคะแนน ซึ่งมีรายงานว่าออง ซาน ซู จี จะออกมาพูดคุยกับผู้ให้การสนับสนุนพรรคในคืนนี้

ส่วนบรรยากาศระหว่างการปิดการเลือกตั้งเมื่อช่วงเย็น คะแนนเบื้องต้นออกมาหลายเขตแล้ว NLD ชนะในหลายพื้นที่ ยกเว้นในเขตพื้นที่ทหาร ซึ่งพรรค USDP ได้เสียงข้างมาก แต่ผลคะแนนนี้ยังไม่สามารถชี้ชัดอะไรได้ ต้องรอผลอย่างเป็นทางการ

นายอเล็กซานเดอร์ แลมป์สดอร์ฟ หัวหน้าคณะผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งจากสหภาพยุโรประบุว่า กระบวนการเลือกตั้งเป็นที่น่าพอใจและเป็นการเลือกตั้งที่เชื่อถือได้ หลายหน่วยเลือกตั้งในเขตทหารสามารถเข้าไปสังเกตการณ์ได้อย่างเสรี ยอมรับว่าอาจจะมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นบ้าง แต่ยังไม่สามารถลงในรายละเอียดได้ ต้องรอการแถลงในวันที่ 10 พ.ย. และระบุว่าเป็นคล้ายๆ กับการเลือกตั้งในประเทศเสรีแล้วที่ย่อมจะมีช่องโหว่เกิดขึ้น

นายเดเมียน คิงส์บิวรี ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองระหว่างประเทศและผู้ประสานงานของคณะผู้สังเกตการณ์ การเลือกตั้งของออสเตรเลียมองว่า แม้ว่าการเลือกตั้งทั่วไปในครั้งนี้จะมีคณะผู้สังเกตการณ์ทั้งในประเทศและ ต่างประเทศเข้าร่วมมากกว่า 11,000 คน แต่ปัญหาสำคัญต่อจากนี้คือ กระบวนการนับผลคะแนน ซึ่งอาจใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์เนื่องจากต้องใช้เวลาในการประมวลผลตั้งแต่ระดับหมู่บ้านไปจนถึงระดับ ประเทศ

หากผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ถูกมองว่า "ไม่ชอบด้วยกฎหมาย" เหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้น มีตั้งแต่พรรคการเมืองหลักเร่งหาพันธมิตรและจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นบริหาร ประเทศไปจนถึงการยกเลิกผลการเลือกตั้งทั้งหมด และเปิดทางให้ทหารเข้ามาควบคุมอำนาจอีกครั้ง เนื่องจากรัฐบาลพลเรือนยังไม่พร้อมในการบริหารประเทศ

การเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์นี้ นอกจากชาวพุทธแล้วยังมีชาวมุสลิมในนครย่างกุ้งจำนวนมากที่ตื่นตัวเดินทางไปใช้สิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเช่นกัน เนื่องจากหวังว่าการเลือกตั้งครั้งนี้อาจจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางบวกให้กับชาวมุสลิมในเมียนมา

ก่อนหน้านี้ประชาคมโลกวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจของรัฐบาลเมียนมา ที่ไม่อนุญาตให้ชาวโรฮิงญาที่เคยมีสิทธิ์ในการออกเสียงเลือกตั้งประมาณ 5 แสนคน จากทั้งหมด 1.3 ล้านคน ลงคะแนนเสียงหรือส่งผู้แทนลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งนี้ แม้ว่าชะตากรรมของชาวโรฮิงญาจะถือเป็นประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ก็ตาม

นอกจากนี้มีผู้สมัครชาวมุสลิมเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่มีโอกาสลงชิงชัยในการเลือกตั้ง โดยทั้งพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (USPD) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลและพรรค NLD ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ต่างไม่ส่งผู้สมัครที่นับถือศาสนาอิสลามลงชิงชัยในการเลือกตั้งครั้งนี้แม้แต่คนเดียว

สิ่งที่นักสังเกตการณ์การเลือกตั้งเห็นตรงกันก็คือ ภาพรวมของการเลือกตั้งครั้งนี้พบว่าประชาชนชาวเมียนมามีความตื่นตัวในการไปใช้สิทธิ์อย่างมาก ซึ่งนายทรงฤทธิ์ โพนเงิน ผู้เชี่ยวชาญด้านสถานการณ์ในประเทศลุ่มแม่น้ำโขง วิเคราะห์ว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญใหม่ของเมียนมาที่พรรค NLD ที่มีนางออง ซาน ซู จีเป็นผู้นำพรรคส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งด้วยเต็มทุกพื้นที่ และประชาชนซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจของพรรคเดียวมา 53 ปี และอยู่ภายใต้กฎเหล็กเริ่มรู้สึกว่าน่าจะเปลี่ยนอนาคตของตนเอง

อย่างไรก็ตาม นายทรงฤทธิ์มองว่าเป็นไปได้ยากที่พรรค NLD จะชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้

"คงเป็นไปได้ยาก (ที่พรรค NLD จะชนะ) เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้มีความไม่ยุติธรรมตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว กฎ กติกาที่ออกมาก็ให้กองทัพส่งคนเข้ามาในสภาได้ถึง 1 ใน 4 ของจำนวนที่นั่งทั้งหมด ทำให้สมาชิกสภาที่มาจากการเลือกตั้งมีเพียงร้อยละ 75 ซึ่งนางออง ซาน ซู จี จะมีสิทธิ์เลือกคนที่จะเป็นประธานาธิบดีได้ต้องแย่งเก้าอี้ให้ได้ร้อยละ 51 ของที่นั่งในสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ในขณะที่ฝั่งของรัฐบาลต้องการแค่ร้อยละ 26 เพราะเขามีอยู่แล้วร้อยละ 25 ที่ได้จากการแต่งของกองทัพ" นายทรงฤทธิ์กล่าว

นายทรงฤทธิ์วิเคราะห์เพิ่มเติมว่าคะแนนเสียงในการเลือกตั้งแบ่งได้เป็นกลุ่มใหญ่ๆ  คือ  กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เลือกพรรค NLD มีประมาณ 11 ล้านเสียง จากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด 33 ล้านเสียง ซึ่งอาจจะไม่ได้เป็นเสียงส่วนใหญ่ในสภาฯ อีกกลุ่มหนึ่งคือ คะแนนจัดตั้งของทหาร ข้าราชการและนักธุรกิจซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่กล้าเลือกนางออง ซาน ซู จี เพราะไม่มั่นใจการบริหารงานด้านเศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลถือว่าพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (USDP) ทำได้ได้ดี จนกระทั่งสหรัฐฯ ผ่อนคลายมาตรการ และสหภาพยุโรปยกเลิกการคว่ำบาตร

นายทรงฤทธิ์มองว่าสถานการณ์หลังเลือกตั้งไม่น่าจะมีความวุ่นวายเกิดขึ้น เพราะกว่าจะเดินทางมาถึงการเลือกตั้งวันนี้ได้ผ่านการประนีประนอมทางการเมืองร่วมกัน เห็นได้จากการที่นางออง ซาน ซู จีไม่ได้คว่ำบาตรการเลือกตั้ง ยังเห็นความหวังที่จะพัฒนาการเมืองเมียนมาให้เป็นประชาธิปไตยเต็มใบได้ ในขณะที่ประธานาธิบดีเต็ง เส่งก็ประกาศว่ายอมรับผลการเลือกตั้ง

"แต่ผมมองว่าการที่เต็ง เส่งประกาศอย่างนี้เป็นเพราะเขามั่นใจแล้วว่ายากที่ออง ซาน ซู จีจะได้เสียงส่วนมากในสภา"

ผศ.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่าหลังการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่น่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางนโยบายเศรษฐกิจเพราะคาดว่าพรรค USDP น่าจะชนะการเลือกตั้ง ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าพรรค USDP จะได้เป็นรัฐบาลเหมือนเดิม โดยมีพรรคของชนกลุ่มน้อยที่รวมตัวกันเข้ามาร่วมด้วย ประกอบกับการตรวจสอบของพรรค NLD ที่แข็งแกร่งมากขึ้น คิดว่านโยบายของเมียนมาไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงไปมาก และถ้าไม่มีความรุนแรงใดๆ เกิดขึ้น การเลือกตั้งครั้งนี้ก็น่าจะได้รับการยอมรับจากนานาชาติ

"เมื่อได้รับการยอมรับมากขึ้น ก็จะมีนักลงทุนเข้ามาลงทุนในเมียนมามากขึ้น เศรษฐกิจเมียนมาก็จะดีขึ้น ซึ่งย่อมส่งผลดีต่อประเทศไทย เพราะเมื่อเศรษฐกิจเมียนมาโตขึ้น กำลังซื้อของจากไทยก็มีมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันผู้ประกอบการไทยก็จะมีคู่แข่งในตลาดเมียนมาเพิ่มขึ้น" ผศ.ปิติกล่าว

ด้านนายวินมิตร โญสาละวิน ผู้สื่อข่าวบีบีซี ภาคภาษาเมียนมา วิเคราะห์ว่าพรรคใหญ่อย่าง NLD และ USDP ยังครองฐานเสียงของตัวเองได้อยู่ กล่าวคือในเขตเลือกตั้งของทหาร พรรค USDP จะชนะ ส่วนเขตเลือกตั้งในเขตเมือง พรรค NLD จะชนะ ที่น่าสนใจคือมีเสียงแตกในส่วนของพรรคชนกลุ่มน้อย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง