เปิดกฎหมาย : เสียชีวิตระหว่างควบคุมตัว ต้อง “ชันสูตรพลิกศพ” และ “ไต่สวนการตาย”

อาชญากรรม
10 พ.ย. 58
10:01
2,257
Logo Thai PBS
เปิดกฎหมาย : เสียชีวิตระหว่างควบคุมตัว ต้อง “ชันสูตรพลิกศพ” และ “ไต่สวนการตาย”

ไอลอว์ไขข้อคาใจ “ตายในคุก” ต้องชันสูตรพลิกศพและไต่สวนการตายหรือไม่

วันนี้ (10 พ.ย. 2558) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์รายงานว่า จากกรณีการเสียชีวิตของ พ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา และ นายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือ หมอหยอง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ระหว่างถูกควบคุมตัวจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ

เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ (ไอลอว์) หรือ  ilaw.or.th ได้ระบุเนื้อหาถึงความสำคัญของทั้ง 2 ขั้นตอน ไว้ดังนี้
“การชันสูตรพลิกศพ” หมายถึง การตรวจดูศพภายนอก เพื่อพิสูจน์ว่าผู้ตายเป็นใคร และหาสาเหตุของการตาย การชันสูตรพลิกศพเป็นขั้นตอนของพนักงานสอบสวนและแพทย์เป็นหลัก สาเหตุที่เรียกว่าชันสูตรพลิกศพนั้น ก็เพราะต้องตรวจดูศพให้ทั่วทั้งสองด้านโดยต้องพลิกศพอีกด้านหนึ่งขึ้นดูด้วย ในการชันสูตรพลิกศพหากแพทย์เห็นว่าต้องผ่าศพเพื่อหาร่องรายสาเหตุของการตายก็สามารถสั่งให้ผ่า หรือแยกชิ้นส่วนของศพก็ได้

ขณะที่ “การไต่สวนการตาย” หมายถึง การที่อัยการยื่นคำร้องต่อศาล ให้นำบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้าไต่สวนและเรียกพยานหลักฐานต่างๆ เข้าประกอบการพิจารณา เพื่อให้ศาลออกคำสั่งแสดงว่า ผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน เมื่อไร สาเหตุและพฤติการณ์ของการตายเป็นอย่างไร การไต่สวนการตายเป็นขั้นตอนของพนักงานอัยการและศาลเป็นหลัก

ส่วนกรณีที่กฎหมายกำหนดให้ต้องชันสูตรพลิกศพและไต่สวนการตาย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการขั้นตอนไว้ใน มาตรา 148-156 โดยการชันสูตรพลิกศพต้องเป็นการตายที่

1.ตายโดยผิดธรรมชาติ ซึ่งหมายถึง ฆ่าตัวตาย ถูกผู้อื่นทำให้ตาย ถูกสัตว์ทำร้ายตาย ตายโดยอุบัติเหตุ ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ

2.ตายระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน

โดยการชันสูตรพลิกศพ เป็นหน้าที่พนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบในพื้นที่นั้นทำร่วมกับแพทย์นิติเวช หากไม่มีแพทย์นิติเวชก็ให้เป็นหน้าที่ของแพทย์โรงพยาบาลรัฐ หรือถ้าไม่มีแพทย์ของโรงพยาบาลรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้เป็นแพทย์ที่ตำแหน่งลดหลั่นลงไปตาม มาตรา 150 วรรคหนึ่ง ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยก่อนการชันสูตรพลิกศพให้แจ้งญาติของผู้ตายอย่างน้อยหนึ่งคนทราบก่อน

เมื่อชันสูตรพลิกศพเสร็จแล้ว ภายใน 7 วันให้พนักงานสอบสวนและแพทย์ทำรายงานเป็นหนังสือแสดงสาเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ระบุว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด ถ้าตายโดยคนทำร้าย ให้กล่าวว่าใครหรือสงสัยว่าใครเป็นผู้กระทำผิดเท่าที่จะทราบได้

หากผลการชันสูตรพลิกศพพบว่าการตายไม่เกี่ยวข้องกับการทำผิดอาญา ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนการชันสูตรพลิกศพให้อัยการ และให้อัยการส่งสำนวนไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัดต่อไป หากผลการชันสูตรพลิกศพพบว่ามีการกระทำผิดอาญาเกี่ยวข้อง พนักงานสอบสวนก็ต้องดำเนินคดีกับผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิดต่อไป

ทั้งนี้ การตายระหว่างถูกควบคุมตัวต้องไต่สวนการตายโดยศาล เช่น การตายที่เกิดขึ้นโดยเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติตามหน้าที่ จากการวิสามัญฆาตกรรม หรือการตายเกิดขึ้นระหว่างอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าพนักงาน เช่น ระหว่างอยู่ในเรือนจำ ระหว่างอยู่ในห้องขังของตำรวจ หรือระหว่างถูกกักตัวตามกฎอัยการศึก ถือว่ามีเหตุให้สงสัยว่าพนักงานเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง หรือเป็นสาเหตุของการตายหรือไม่ จึงต้องมีกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นพิเศษ

การชันสูตรพลิกศพในกรณีที่การตายเกิดขึ้นโดยเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติตามหน้าที่ หรือระหว่างอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าพนักงาน นอกจากจะทำโดยแพทย์และพนักงานสอบสวนแล้ว ยังต้องให้มีพนักงานอัยการและพนักงานฝ่ายปกครองตำแหน่งตั้งแต่ระดับปลัดอำเภอขึ้นไปเข้าร่วมด้วย

กรณีเช่นนี้ ผู้ชันสูตรพลิกศพไม่ใช่ผู้ทำรายงานเอง แต่เมื่อชันสูตรพลิกศพเสร็จแล้ว ให้พนักงานสอบสวนร่วมกับอัยการทำสำนวนและยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อให้มีการไต่สวนการตายโดยศาล และให้ศาลเป็นผู้ทำคำสั่งแสดงว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และระบุถึงสาเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย

ก่อนการไต่สวน ศาลต้องปิดประกาศแจ้งกำหนดวันไต่สวน และต้องแจ้งให้ญาติของผู้ตายทราบ โดยญาติของผู้ตายจะแต่งตั้งทนายความเข้ามาหรือนำส่งพยานหลักฐานอื่นเข้ามาร่วมในการไต่สวนได้ ในกระบวนการการไต่สวน อัยการหรือญาติของผู้ตายจะนำพยานที่เกี่ยวข้องหรือรู้เห็นพฤติการณ์การตายเข้าเบิกความต่อศาล และศาลอาจเรียกพยานผู้เชี่ยวชาญมาให้ความเห็นประกอบ จนกว่าศาลจะพอใจและทำคำสั่ง

ซึ่งคำสั่งของศาลจะเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญในการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการตายนั้นต่อไป เช่น การเอาผิดผู้ที่ทำให้ตาย การจัดการมรดก เป็นต้น แต่การดำเนินคดีอื่นๆ ยังต้องอาศัยการนำสืบพยานหลักฐานต่างๆ มาประกอบด้วย ไม่จำเป็นต้องผูกพันกับคำสั่งของศาลจากการไต่สวนการตาย

อย่างไรก็ดี การไต่สวนการตายโดยศาลเป็นขั้นตอนสำหรับตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ว่ามีการใช้อำนาจโดยไม่ชอบจนเป็นเหตุให้มีการตายเกิดขึ้นหรือไม่ กรณีที่การตายเกิดขึ้นโดยเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติตามหน้าที่ หรือระหว่างอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าพนักงาน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 วรรค 5 จึงกำหนดไว้ชัดเจนว่าต้องมีการไต่สวนโดยศาล พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการมีหน้าที่ต้องทำสำนวนส่งให้ศาลโดยไม่มีข้อยกเว้น แม้จะพอทราบถึงสาเหตุการตายได้แล้วก็ยังคงต้องให้ศาลเป็นผู้ทำคำสั่ง จะไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนนี้ไม่ได้

เว็บไซต์ไอลอว์ระบุเพิ่มว่า ต่างจากกรณี  นายอำพล ตั้งนพกุล หรือ อากง SMS ผู้ต้องหาคดีหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ตามกฎหมายอาญามาตรา 112 และ นายสุรกริช ชัยมงคล นักโทษคดีการเมือง ที่เสียชีวิตระหว่างควบคุมตัว โดยทั้ง 2 กรณี เจ้าหน้าที่ดำเนินกระบวนการชันสูตรพลิกศพและการไต่สวนการตาย ตามขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งแม้ผู้เกี่ยวข้องบางส่วนอาจยังไม่พอใจผลการไต่สวนตามคำสั่งศาล แต่ในแง่กระบวนการ ทั้ง 2 กรณีก็เป็นตัวอย่างที่เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินกระบวนการตามกฎหมายอย่างครบถ้วน

โดยในยุคของรัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีการปราบปรามขบวนการแอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อเรียกรับผลประโยชน์อย่างหนัก โดยใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นข้อหาในการดำเนินคดี นับถึงสิ้นเดือน ต.ค. 2558 มีผู้ถูกจับกุมและดำเนินคดีตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการแอบอ้างสถาบันเบื้องสูงอย่างน้อย 36 คน ซึ่งมีรายงานว่า 2 คน เสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัว

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง