คอมเม้นเตเตอร์ กับจุดเปลี่ยนเรียลลิตี้

Logo Thai PBS
คอมเม้นเตเตอร์ กับจุดเปลี่ยนเรียลลิตี้

การแข่งขันของช่องทีวีดิจิทัลยังต้องดูกันยาวๆ อย่างรายการประกวดเรียลลิตี้ที่เฟ้นหาดาวสักดวงประดับวงการเพลง แม้ว่าจะอยู่มาถึง 11 ปี แต่การย้ายมาออกอากาศช่องใหม่ในสังกัดเดิม ดูจะมีผลต่อการเรียกเรตติ้ง จนการรื้อผังคอมเม้นเตเตอร์ใหม่ทั้งหมดเป็นที่พูดถึง

 เปรียบเทียบได้ชัดเจนถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น กับการรื้อคอมเม้นเตเตอร์ดังยกแผง เพราะต้องตอบโจทย์รูปแบบใหม่ๆ ให้รายการแข่งขันความสามารถที่ยืนยาวเข้าสู่ปีที่ 12 อยู่ได้ ท่ามกลางการแข่งขันของรายการที่วัดความสำเร็จกันที่เรตติ้ง หนึ่งในคอมเม้นเตเตอร์ เพชร มาร์ ยอมรับว่ารู้ตัวมากว่า 2 เดือนแล้วกับการปรับผังรายการ ในขณะที่กระแสเป็นที่พูดถึง เมื่อคอมเม้นเตเตอร์อย่าง ม้า อรนภา โพสต์ข้อความถึงเบื้องลึกเบื้องหลังของการสละเก้าอี้ครั้งนี้ และยังพูดถึงกติกาใหม่ที่จะไม่รับผู้สมัครจากทุกภูมิภาคเหมือนก่อน นี่เป็นจุดหักเหที่น่าสนถึงใจถึงเส้นทางใหม่ที่ปราศจากสัญลักษณ์ของรายการ   

 
กว่าจะสร้างฐานผู้ชม และส่งผู้ชนะการประกวดมาเปล่งแสงในวงการบันเทิงได้ ต้องใช้เวลาบ่มเพาะกว่า 3 ปีถึงเป็นที่รู้จัก เพราะเอาเข้าจริง ผู้ชมเริ่มได้เห็นผลงานในวงการบันเทิงของผู้ชนะการประกวด อย่าง บี้ สุกฤษณ์ รองชนะเลิศ ปี 3 ที่ผลงานโดดเด่นนำหน้าแชมป์อย่าง อาร์ อาณัตพล การเป็นเรียลลิตี้ ที่ผู้ชนะมีสังกัดอ้าแขนรออยู่ จึงทำให้คนธรรมดาที่มีฝันร่วมสมัครเป็นสีสันของรายการ และหลายครั้งที่ดราม่าเรื่องราวชีวิตจริงของผู้แข่งขัน ทำให้ทางบ้านทุ่มคะแนนโหวต และสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ คือแรงกดดันจากคอมเม้นเตเตอร์ที่ฉีกแนวกันไปทั้งวิธีการสอน และสุ้มเสียงในการวิจารณ์ ต้องวางกลยุทธ์ให้มีทั้งคนหยอด คนชง คนติ และผู้ปลอบประโลม 
 
นี่ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงครั้งแรกในปีนี้ เพราะพายุผู้ชมได้โหมพัดหนักครั้งเปลี่ยนโค้ชแสตมป์ อภิวัชร์ ออกจากรายการประกวดร้องเพลงอีกเวทีหนึ่ง การตลาดที่เปลี่ยนไปแล้ว จึงทำให้เห็นว่าภาพจำของกรรมการที่ทางรายการเคยสร้าง อาจไม่ใช่ที่สุดอีกต่อไป เมื่อวันนี้การเปลี่ยนแปลงสิ่งที่คุ้นเคย ดูจะเป็นกลยุทธ์ที่หยุดผู้ชมได้   
 
รายการเรียลลิตี้ในบ้านเราในช่วงหลายปีมานี้ มีกว่า 30 รายการส่วนใหญ่ซื้อลิขสิทธิ์มาจากต่างประเทศ เพราะมีรูปแบบที่คิดมาแล้วว่าโดนใจและยังตอบโจทย์ความอยากรู้ และชวนให้ติดตาม เรียลลิตี้ อาจยังไม่ถึงจุดอื่มตัวก็จริง แต่ยิ่งต้องพัฒนารูปแบบให้ทันเหตุการณ์ ตอบโจทย์คนดูที่เดี๋ยวนี้แค่ความสามารถคงไม่พอ เพราะต้องมีดราม่ามาเอี่ยวให้ลุ้นจนแทบรอดูตอนต่อไปไม่ไหว  
 
ช่วงที่รายการเรียลลิตี้ระบาด ทำให้เกมเศรษฐีที่กำลังฟีเวอร์เหงาไปเลย แต่หลังจากนี้ก็ต้องดูว่าจะมีอะไรมาลดกระแสเรียลลิตี้ได้รึเปล่า ซึ่งการเปลี่ยนแปลงบนหน้าจอก็ยังอาจเปลี่ยนหัวใจสำคัญของรายการเรียลลิตี้ไป จากที่ต้องสด ไม่มีสคริปต์ ก็กลายเป็นว่าบางรายการดูดราม่า เข้าจังหวะกันมาก จนผู้ชมสงสัยว่าอาจมีการเขียนบทนั่นเอง     


ข่าวที่เกี่ยวข้อง