ภาคเกษตรค้าน TPP กระทบเกษตรกรเพียบ ระบุไทย-สหรัฐฯสัมพันธ์ดีขึ้นแต่กระทบด้านอื่น

สังคม
20 พ.ย. 58
11:15
142
Logo Thai PBS
ภาคเกษตรค้าน TPP กระทบเกษตรกรเพียบ ระบุไทย-สหรัฐฯสัมพันธ์ดีขึ้นแต่กระทบด้านอื่น

ภาคเกษตรกังวลผลกระทบจากกรณีไทยเข้าร่วมทีพีพี หวั่นเกษตรกรเดือดร้อนหลายล้านคน ทั้งเลี้ยงสุกร เลี้ยงไก่เนื้อ ปลูกข้าวโพ ถั่วเหลือง เตรียมทำหนังสือถึงรัฐบาลให้ทบทวน ด้านนักวิชาการระบุเป็นการเมืองรูปแบบใหม่ ที่ทำให้ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯดีขึ้น แต่จะเกิดผลกระทบตามมา

การเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกหรือ ทีพีพี ของประเทศไทย จะมีข้อดีหรือข้อเสียมากกว่ากัน ตอนนี้ยังมีมุมมองหลากหลาย แต่ภาคปศุสัตว์-นักวิชาการ ก็ออกมาคัดค้าน หากไทยจะเข้าร่วม TPP ภาคการเกษตร เพราะมีข้อกังวลสำคัญ คือ ไก่และหมู ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ จะผลักดันสินค้าเข้ามาไทยจนล้นตลาด ส่งผลให้เกษตรกรไทยได้รับผลกระทบ

วันนี้ (20 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเวทีเสวนา “TPP กับผลกระทบภาคเกษตร-ปศุสัตว์ไทย ควรหรือไม่ควรเข้าร่วม” นายสุเทพ วงศ์รื่น นายกสัตวบาลแห่งประเทศไทย ระบุว่า กังวลกับท่าทีของไทยในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกข้อตกลงการค้าเสรี (TPP) เนื่องจากเกรงจะกระทบภาคเกษตรและปศุสัตว์ไทย เช่น ผู้เลี้ยงสุกร ไก่ รวมถึงการปลูกข้าวโพดและถั่วเหลือง ทำให้แรงงานภาคเกษตรขาดอาชีพและรายได้ เพราะไม่สามารถแข่งขันกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้ผลิตปศุสัตว์รายใหญ่ของโลก

นายสุเทพระบุว่า หากไทยเข้าร่วม TPP จะทำให้ผลผลิตสหรัฐฯ ทะลักเข้ามา และกระทบผู้เลี้ยงสุกรกว่า 190,000 ครัวเรือน ผู้เลี้ยงไก่เนื้อกว่า 5,000 ครัวเรือน ผู้ปลูกข้าวโพดกว่า 470,000 ครัวเรือน และผู้ปลูกถั่วเหลืองกว่า 31,000 ครัวเรือน รวมทั้งหมดแล้วจะมีเกษตรกรเดือดร้อนกว่าล้านคน ซึ่งตนจะทำหนังสือคัดค้านถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

ด้าน นายพิพัฒน์ เนื้อนิ่ม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี ระบุว่า การเข้าร่วมกลุ่ม TPP จะทำให้สหรัฐฯซึ่งเป็นผู้ผลิตสุกรรายใหญ่ของโลก ผลักดันเนื้อหมูและชิ้นส่วนที่ไม่ต้องการ เช่น เครื่องใน หัว ขา และหนังหมู เข้ามา ทำให้สินค้าในประเทศล้นตลาด

นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อการส่งออก ระบุว่า เกษตรกรไทยมีความสามารถในการผลิตสินค้าปศุสัตว์เพียงพอต่อการบริโภค และผู้ส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์เป็นอันดับ 4 ของโลก และไทยยังมีกรอบเจรจาการค้าอาเซียน + 6 หรือ RCEP ซึ่งอยู่ระหว่างทำข้อตกลง โดยมีตลาดรองรับถึง 3,500 ล้านคน มากกว่า TPP ที่มีตลาดเพียง 800 ล้านคน

ด้านรศ.ประภัสร์ เทพชาตรี ผอ.ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ ระบุว่า TPP ไม่ใช่เรื่องการค้า แต่เป็นเกมการเมืองรูปแบบใหม่ ทำให้ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ดีขึ้น แต่ต้องพิจารณาผลกระทบที่ตามมา เช่น การเกษตร การค้าและบริการ รวมถึงทรัพย์สินทางปัญญาด้วย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง