"หมอลี่" ชี้ราคาประมูล 4G คลื่น 1800 MHz ไม่ได้ทำลายสถิติโลก-คาดว่าคลื่น 900 MHz แข่งเข้มข้น

เศรษฐกิจ
22 พ.ย. 58
09:23
131
Logo Thai PBS
"หมอลี่" ชี้ราคาประมูล 4G คลื่น 1800 MHz ไม่ได้ทำลายสถิติโลก-คาดว่าคลื่น 900 MHz แข่งเข้มข้น
นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา เผยราคาประมูล 4 จี คลื่น 1800 MHz ไม่ได้ทำลายสถิติโลก และมิได้เกินราคาคาดการณ์ขั้นสูงที่ กสทช.คำนวณไว้ โดยคาดการณ์ว่าการประมูล 4 จี คลื่น 900 MHz จะมีความเข้มข้นไม่แพ้กัน แต่เม็ดเงินประมูลไม่น่าแตะระดับ 80,000 ล้านบาท

นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา เผยราคาประมูล 4 จี คลื่น 1800 MHz ไม่ได้ทำลายสถิติโลก และมิได้เกินราคาคาดการณ์ขั้นสูงที่ กสทช.คำนวณไว้ โดยคาดการณ์ว่าการประมูล 4 จี คลื่น 900 MHz จะมีความเข้มข้นไม่แพ้กัน แต่เม็ดเงินประมูลไม่น่าแตะระดับ 80,000 ล้านบาท เนื่องจากคลื่นที่นำมาประมูลมีน้อยกว่า ระยะเวลาสั้น และข้อกำหนดภาระในการขยายโครงข่ายสูงกว่าคลื่น 1800 MHz

วันนี้ (22 พ.ย.2558) นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เผยแพร่บทความพิเศษเรื่อง "ตกลงว่าราคาประมูลคลื่น 1800 แพงหรือถูกกันแน่" มีเนื้อหาดังนี้

ภายหลังการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz สิ้นสุดลง ก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นราคาชนะประมูลที่สูงเป็นสถิติโลกบ้าง หรือเป็นราคาที่แพงเกินไปบ้าง จนแม้แต่บริษัทจัดอันดับเครดิตบางสำนักก็แถลงว่าการประมูลจบด้วยราคาประมูลที่สูงกว่าที่คาด หากการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ยังเป็นลักษณะนี้ จะต้องปรับลดอันดับเครดิตของผู้ชนะการประมูลบางราย

ในทางตรงข้าม มีผู้คำนวณว่าราคานี้หากนำมาเฉลี่ยต่อจำนวนปีที่ได้รับอนุญาตแล้ว เอกชนจะเหลือต้นทุนค่าคลื่นความถี่เพียงปีละ 2,000 ล้านบาทเศษ ทั้งที่แต่เดิมส่วนแบ่งรายได้ตามระบบสัมปทานที่เอกชนต้องนำส่งรัฐบนคลื่นความถี่ย่านดังกล่าวอยู่ในระดับปีละ 10,000 ล้านบาท ราคาที่ประมูลกันไปนั้นจึงเป็นราคาที่ถูกลงมาก

การอธิบายทั้ง 2 ด้านนี้ เป็นไปตามมุมมองของแต่ละฝ่าย แต่ในตลาดโทรคมนาคมแล้ว เราต้องยอมรับว่าทิศทางของโลก คือการเปลี่ยนผ่านจากการผูกขาดบริการโดยรัฐเป็นการแข่งขันโดยเอกชนมีส่วนร่วม ตลอดจนเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาต เพราะอุตสาหกรรมโทรคมนาคมใช้เม็ดเงินลงทุนสูง มีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว จนลำพังรัฐเพียงฝ่ายเดียวไม่สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ให้ทันการเปลี่ยนแปลงได้

การชำระเงินประมูลคลื่นความถี่นั้น ประเทศส่วนใหญ่จะกำหนดให้ชำระในช่วงแรกของใบอนุญาต หากจะให้ผ่อนชำระก็จำกัดเพียงปีแรกๆ เท่านั้น เพื่อให้ต้นทุนค่าคลื่นความถี่มีลักษณะเป็นต้นทุนจม คล้ายกับค่าเซ้งอาคาร แม้ผู้ประกอบการจะเจ๊งหรือเลิกกิจการ ก็ไม่สามารถทวงเงินส่วนนี้คืนไปได้ หรือแม้จะขาดทุนก็จ่ายล่วงหน้าเต็มจำนวนไปแล้ว ไม่สามารถลดหย่อนได้ ต่างจากเงินส่วนแบ่งรายได้สัมปทานที่นำส่งรัฐเป็นรายปี หากขาดทุนก็ไม่ต้องจ่าย หรือหากเลิกกิจการไปก่อนก็ยุติการคิดส่วนแบ่ง รัฐก็ขาดรายได้หลังจากนั้น

ส่วนแบ่งรายได้แบบนี้จึงมีลักษณะเป็นค่าเช่ารายปี มิใช่ต้นทุนจม และถูกจัดเป็นต้นทุนดำเนินการ ซึ่งผู้ประกอบการมักจะผลักภาระมาให้ผู้บริโภคเป็นผู้แบกรับแทนได้ง่ายกว่าต้นทุนจม ในประเทศสหรัฐอเมริกามีการฟันธงลงไปว่าเงินประมูลคลื่นความถี่เป็นต้นทุนจม และเป็นรายได้เข้ารัฐที่ไม่กระทบอัตราค่าบริการที่ผู้บริโภคใช้จริงแต่อย่างใด กล่าวคือเป็นต้นทุนที่ผู้ประกอบการต้องแบกรับเองโดยแบ่งมาจากส่วนกำไรที่ตนจะได้รับ ไม่สามารถผลักภาระให้ผู้บริโภคได้

 
หน้าที่สำคัญของการประมูลคลื่นความถี่ก็คือการคัดเลือกผู้ที่มีศักยภาพในการนำคลื่นความถี่นั้นไปใช้ให้เกิดมูลค่าทางธุรกิจสูงสุด ผู้ที่สามารถทำรายได้จากบริการมากย่อมจะยอมจ่ายค่าคลื่นสูงกว่าผู้ที่มีความสามารถต่ำกว่า ราคาประมูลจึงยุติลงเมื่อผู้แข่งขันรายอื่นไม่สามารถเสนอราคาได้สูงกว่าข้อจำกัดทางธุรกิจของตนเอง เพราะหากเสนอราคาสูงกว่าความสามารถในการหารายได้ก็จะขาดทุนนั่นเอง

ราคาชนะประมูลจึงเป็นราคาที่เป็นไปตามสภาพแวดล้อมของประเทศที่จัดประมูลในครั้งนั้นๆ หากมีความต้องการคลื่นความถี่น้อยก็จะจบลงที่ราคาต่ำ หากมีความต้องการคลื่นความถี่มากราคาก็จะสูง จึงมีหลักการว่า ในการประมูลที่แข่งขันราคากันอย่างเต็มที่ ราคาสุดท้ายคือราคาที่เหมาะสม

 
สำหรับการประมูลในครั้งนี้ ผู้ชนะการประมูลยืนยันว่าต้นทุนค่าคลื่นความถี่ระดับนี้ยังอยู่ในระดับที่ทำกำไรจากบริการได้ มิใช่ประมูลมาเพื่อขาดทุน และจากข้อมูลการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ ที่ กสทช. ได้จัดทำสำหรับการประมูลครั้งนี้ ยืนยันได้ว่า 
 
1. ราคานี้มิได้ทำลายสถิติโลก เพราะหากนำข้อมูลการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ในประเทศต่างๆ มาเปรียบเทียบโดยปรับตัวเลขประชากรและปริมาณคลื่นความถี่ให้เข้ากับสถานการณ์การประมูลของเราแล้ว ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา มูลค่าคลื่นที่สูงสุดรวม 2 ใบอนุญาต จะอยู่ที่ 100,000 ล้านบาทเศษ และมูลค่าสูงสุดในกลุ่มประเทศแถบเอเชียแปซิฟิกจะอยู่ที่ 150,000 ล้านบาทเศษ การประมูลในครั้งนี้จบลงที่ 80,000 ล้านบาทเศษ จึงมิได้ทำลายสถิติใดๆ เลย
 
2. ราคานี้มิได้เกินราคาคาดการณ์ขั้นสูงที่ กสทช.ได้คำนวณโดยใช้หลักวิชาการ ซึ่งพบว่าเพดานราคาสูงสุดที่ยังทำกำไรได้นั้นสูงกว่าราคาชนะประมูลครั้งนี้นับพันล้านบาท แต่เหตุที่การประมูลมิได้จบที่ราคานั้น เพราะผู้แข่งขันในการประมูลรายที่ 3 ยุติการเสนอราคาตามศักยภาพทางธุรกิจของตน กรณีจึงมิได้เกิดจากการสมยอมราคา
 
เมื่อพิจารณาจากข้อมูลต่างๆ ข้างต้นแล้ว จึงไม่อาจสรุปว่าราคาชนะประมูลครั้งนี้เป็นราคาที่แพงเกินไป ขณะเดียวกัน ไม่สามารถเปรียบเทียบโดยตรงกับส่วนแบ่งรายได้จากระบบสัมปทาน เพราะมีฐานคิดและผลกระทบต่อผู้บริโภคแตกต่างกัน แต่ราคาชนะประมูลครั้งนี้สะท้อนความต้องการคลื่นความถี่ในตลาดโทรคมนาคมไทย และเป็นผลลัพธ์จากความต้องการแทรกตัวเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการรายใหม่ ซึ่งหากทั้ง 2 องค์ประกอบนี้ยังดำรงอยู่ในช่วงการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz เราก็คงจะเห็นการประมูลที่เข้มข้นไม่ต่างจากการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz 
 
เพียงแต่ปริมาณคลื่นความถี่ 900 MHz ที่นำมาประมูลมีจำนวนน้อยกว่า ระยะเวลาอนุญาตสั้นกว่า และข้อกำหนดภาระในการขยายโครงข่ายสูงกว่าคลื่นความถี่ 1800 MHz ดังนั้น แม้ในสถานการณ์ที่การแข่งขันประมูลเข้มข้น แต่คาดการณ์ได้ว่าจำนวนเงินสุดท้ายที่รัฐจะได้รับ ก็ไม่น่าจะแตะระดับ 80,000 ล้านอย่างคลื่นความถี่ 1800 MHz เพราะจะเป็นระดับราคาที่ทำกำไรได้ค่อนข้างยาก ภายใต้เงื่อนไขใบอนุญาตดังกล่าว และสุดท้ายแล้ว ผู้ที่กำหนดราคาชนะประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ว่าจะสูงมากน้อยเพียงใด คือผู้เข้าร่วมประมูลทุกรายนั่นเอง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง