"นาวิก นาวี สัญจร" ทหารพบประชาชน ลดความหวาดระแวงในจังหวัดชายแดนใต้

ภูมิภาค
29 พ.ย. 58
09:30
263
Logo Thai PBS
"นาวิก นาวี สัญจร" ทหารพบประชาชน ลดความหวาดระแวงในจังหวัดชายแดนใต้

ด้วยความตระหนักถึงความรู้สึก "หวาดระแวง" ที่ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีต่อเจ้าหน้าที่ทหาร ถึงขนาดที่เมื่อเห็นทหารใส่เครื่องแบบมาหลายคนอาจไม่อยากคุยด้วย ทหารนาวิกโยธินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้จัดกิจกรรม "นาวิก นาวี สัญจร" ให้ทหารและเจ้าหน้าที่ของรัฐจากหน่วยงานต่างๆ เดินทางไปพบปะพูดคุยและให้บริการประชาชนถึงในหมู่บ้าน ที่จ.นราธิวาส โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดความหวาดระแวงระหว่างกันและสร้างความร่วมมือในการพัฒนาชุมชน

การพบปะพูดคุยกับคนท้องถิ่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากจะพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างทหารกับชุมชนแล้ว ยังทำให้เจ้าหน้าที่ได้แนวคิดในการป้องกันและรับมือกับเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายใต้ เช่น ข้อเสนอให้กำหนด "เส้นทางปลอดภัย" ระยะทาง 18 กิโลเมตรเป็นต้นแบบของการดูแลความปลอดภัยร่วมกันระหว่างชาวบ้านและเจ้าหน้าที่

กิจกรรม "นาวิก นาวี สัญจร" ครั้งล่าสุดจัดขึ้นเมื่อวันที่ 21-22 พ.ย.2558 ที่มัสยิดวาดีลฮูเซ็น บ้านตะโละมาเนาะ ต.บาเจาะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส มีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการประชาชน ซ่อมรถจักรยานยนต์ ตัดผม มอบข้าวสาร และขนมให้เด็กในชุมชน เพื่อให้ชาวบ้านลดความหวาดระแวงต่อเจ้าหน้าที่และได้พูดคุยปัญหากัน

                     

<"">

น.อ.นพดล ฐิตวัฒนะสกุล ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินภาคใต้ เปิดเผยว่า สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ลดลงมาก โดยปี 2557 เหตุความรุนแรงลดลงจากปี 2546-2547 กว่าร้อยละ 50 โดยทหารได้ปฏิบัติงานด้านความมั่นคงควบคู่กับงานด้านการพัฒนาของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง รวมทั้งประชาชนให้ความร่วมมือในการพัฒนาพื้นที่ ส่วนการดำเนินการกับผู้ก่อเหตุความรุนแรงหรือกลุ่มผู้มีความคิดเห็นต่างจากรัฐ เจ้าหน้าที่จะไม่ใช้ความรุนแรง เน้นดำเนินการด้วยสันติวิธีและการบังคับใช้กฎหมาย นอกจากนี้ยังมี "โครงการพาคนกลับบ้าน" ซึ่งเป็นโครงการเร่งด่วนที่เกิดจากนโยบายสานใจสู่สันติ รองรับการกลับมาของผู้ที่ต้องการยุติการก่อเหตุและต้องการออกจากการเป็นแนวร่วมของขบวนการก่อความไม่สงบ โดยในปี 2557 มีผู้เข้าร่วมโครงการใน 4 อำเภอของจ.นราธิวาส จำนวน 213 คน และเตรียมสำรวจรายชื่อเพิ่มเติม

น.อ.นพดล ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาที่ชาวบ้านในพื้นที่ประสบคือการเข้าถึงการรักษาพยาบาล เจ้าหน้าที่จึงได้จัดทีมแพทย์มาให้บริการภายในชุมชน นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องสาธารณูปโภคพื้นฐานและการส่งน้ำเข้าพื้นที่นาของชาวบ้าน

"เวลาทหารใส่เครื่องแบบ ชาวบ้านเขาไม่อยากคุยเพราะกลัว แต่เมื่อเราได้พบปะพูดคุยกับเขา ทำให้ความกลัวและความหวาดระแวงลดลง ไม่ว่าศาสนาใด พุทธ คริสต์ อิสลาม เราอยู่ด้วยกันได้ การปฏิบัติหน้าที่ของทหารเพื่อดูแลความปลอดภัยในพื้นที่ยังคงเหมือนเดิม โดยมีส่วนราชการ อำเภอ กองอำนวยการรักษาความมั่นคภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) มาช่วยบูรณาการการทำงาน รวมทั้งเตรียมกำหนดเส้นทางถนนปลอดภัย ซึ่งเป็นเส้นทางที่ชาวบ้านและกำลังพลใช้ประจำ จากค่ายจุฬาภรณ์ ถึงเขตเมือง จ.นราธิวาส ระยะทาง 18 กม. และในอนาคตอาจขยายเพิ่มเติมมากกว่า 1 เส้นทาง" น.อ.นพดลกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศทั่วไปในจ.นราธิวาส ประชาชนในพื้นที่ดำเนินชีวิตตามปกติ ที่บริเวณตลาดเช้าเทศบาลเมืองนราธิวาส มีประชาชนจำนวนมากมาเลือกซื้อสินค้า ขณะที่เจ้าหน้าที่ตั้งจุดตรวจรักษาความปลอดภัยเป็นระยะๆ โดยในพื้นที่เศรษฐกิจ เช่น ในย่านที่มีธนาคาร ร้านค้าและร้านทอง และในเส้นทางเข้าสู่ตัวเมืองนราธิวาสจะมีการตั้งด่านตรวจตลอด 24 ชม. ซึ่งเป็นความร่วมมือของทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง เช่น ผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่อาสาสมัคร ขณะที่ชาวบ้านที่สัญจรไปมาให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบเป็นอย่างดี นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจน้ำตากใบยังได้จัดกำลังลาดตระเวน 24 ชม. ที่บริเวณแม่น้ำโกลก ชายแดนไทย-มาเลเซีย เพื่อป้องกันการลักลอบขนยาเสพติด ค้ามนุษย์ ค้าของเถื่อน และป้องกันกลุ่มมีความเห็นต่างจากรัฐเข้ามาก่อเหตุในไทย

แม่ค้าผลไม้ในตลาดเช้าของเทศบาลเมืองนราธิวาสบอกว่า ขายสินค้าที่นี่มากว่า 25 และไม่รู้สึกหวาดกลัวเพราะไม่เคยเกิดเหตุรุนแรงในบริเวณนี้ ส่วนใหญ่จะเกิดเหตุรอบนอกเมือง อีกทั้งยังรู้สึกปลอดภัยเพราะมีเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาดูแลทุกวัน ซึ่งลูกค้าจะมีทั้งชาวบ้านในพื้นที่และนักท่องเที่ยว รายได้วันละ 5,000-10,000 บาท

                     

<"">

                     

<"">

ภาพ/ข่าว: วรรณพร แก้วแพรก ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์


ข่าวที่เกี่ยวข้อง