ศูนย์สุขภาพคนข้ามเพศ "แทนเจอรีน" อีกทางเลือกช่วยลดอัตราโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

สังคม
1 ธ.ค. 58
14:45
416
Logo Thai PBS
ศูนย์สุขภาพคนข้ามเพศ "แทนเจอรีน" อีกทางเลือกช่วยลดอัตราโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

เป็นข้อมูลที่น่าตกใจไม่น้อย เมื่อศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย เผยว่า ในกลุ่มชายรักชายของไทย 100 คน เมื่อตรวจสอบจะพบผู้ติดเชื้อเอชไอวีถึง 20 คน สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะถูกเลือกปฏิบัติจากโรงพยาบาลบางแห่ง ส่งผลให้เข้าไม่ถึงยารักษาโรค “การตั้งศูนย์สุขภาพสำหรับคนข้ามเพศ” จึงตอบโจทย์ในเรื่องนี้ ติดตามจากรายงาน

วันนี้ (1 ธ.ค. 2558) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การให้บริการที่เป็นมิตรของศูนย์สุขภาพชุมชนแทนเจอรีน โดยศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ซึ่งเป็นศูนย์สุขภาพสำหรับคนข้ามเพศ เป็นสิ่งที่สร้างความประทับใจ และความสบายใจให้กับ ธัญกมล บุญชัย

เธอยอมรับว่าก่อนหน้านี้ไม่ค่อยได้ตรวจสุขภาพ เพราะไม่ประทับใจในการให้บริการของโรงพยาบาลบางแห่ง ที่เลือกปฏิบัติต่อคนข้ามเพศ

“เวลาเราไปที่โรงพยาบาลจะเจอสายตาที่จับจ้องเรา เวลาเดินไปที่ห้องตรวจเลือดเหมือนโดนเลือกปฏิบัติ ตีตราไว้แล้วว่าติดเชื้อเอชไอวี ทั้งที่ยังไม่ทราบผลเลือดด้วยซ้ำ” ธัญกมล ชี้แจง

ขณะที่ ธีระนาต บุญชัย เจ้าหน้าที่ดูแลสนับสนุนหลังการตรวจเลือด ศูนย์สุขภาพฟ้าสีรุ้ง กล่าวว่า การตีตราและเลือกปฏิบัติทำให้กลุ่มคนข้ามเพศขาดโอกาสในการตรวจคัดกรอง เฝ้าระวังโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมถึงการเข้าถึงยารักษาโรคฉวยโอกาสของผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้อย่างเท่าทัน

“ถ้าเค้าสบายใจในการเข้ารับบริการมากขึ้น ตัวเลขการติดเชื้อการเสียชีวิตจากเอชไอวีก็จะลดลง ไม่ใช่รอให้ป่วยขั้นทรุดหนักค่อยไปโรงพยาบาล มันดีกว่าที่เค้าได้ก้าวเข้าไปตรวจรักษา” เจ้าหน้าที่จากศูนย์สุขภาพฟ้าสีรุ้ง ระบุ

ทั้งนี้ ข้อมูลศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย พบผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ปีละประมาณ 8,000-10,000 คน สาเหตุหลักมาจากการฉีดสารเสพติดร้อยละ 40 รองลงมาคือเพศสัมพันธ์ โดยพบความชุกของการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มชายรักชายถึงร้อยละ 20

ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ ภานุภาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า เราเชื่อว่าศูนย์สุขภาพชุมชนที่ให้การรักษาเฉพาะทางเพื่อกลุ่มคนข้ามเพศ รวมถึงให้คำแนะนำความรู้ในการป้องกัน และรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี โดยไม่เลือกปฏิบัติไม่ตีตรา จะเป็นช่องทางหนึ่งที่ลดสถิติการติดเชื้อ และเสียชีวิตเพราะโรคฉวยโอกาสจากการติดเชื้อเอชไอวีได้

ด้าน ฐิติญานันท์ หนักป้อ เครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย เห็นว่า ภาครัฐควรสนับสนุน ให้จัดตั้งศูนย์สุขภาพสำหรับคนข้ามเพศครอบคลุมทั่วประเทศ

ไม่ต่างจาก นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ บอกว่า แม้ขณะนี้ภาครัฐยังไม่สามารถสนับสนุนศูนย์สุขภาพชุมชนสำหรับคนข้ามเพศได้ แต่ควรปรับปรุงการให้บริการของสถานพยาบาลทั่วไป โดยเจ้าหน้าที่ต้องไม่เลือกปฏิบัติต่อคนทุกกลุ่ม เพื่อให้คนเหล่านี้เข้าถึงบริการด้านสุขภาพ มีสุขภาพทางเพศที่ดี และเข้าถึงยารักษาโรค เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ของคนข้ามเพศ หรือป่วยจากโรคฉวยโอกาสจากเชื้อเอชไอวีได้อย่างเท่าทัน
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง