เครือข่ายฯฟ้องศาลปกครองถอนประกาศทส. ไฟเขียว "โรงไฟฟ้าขยะ" ไม่ต้องทำอีไอเอ

Logo Thai PBS
เครือข่ายฯฟ้องศาลปกครองถอนประกาศทส. ไฟเขียว "โรงไฟฟ้าขยะ" ไม่ต้องทำอีไอเอ

เครือข่ายชาวบ้าน 7 จังหวัด และมูลนิธิบูรณะนิเวศ ร่วมกับ ไอลอว์ ฟ้องศาลปกครองสูงสุด เพิกถอนประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ที่อนุญาตให้โรงไฟฟ้าขยะทุกชนิด ไม่ต้องทำอีไอเอ ขณะที่ประกาศกระทรวงก่อนหน้านี้ระบุ โรงไฟฟ้า 10 เมกกะวัตต์ขึ้นไปต้องทำอีไอเอ

วันนี้ (3 ธ.ค.) มูลนิธิบูรณะนิเวศ ร่วมกับเครือข่ายประชาชนศึกษาและติดตามปัญหาขยะ 7 จังหวัด (ปทุมธานี ชลบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา สระบุรี) ยื่นฟ้องศาลปกครองกลาง ขอให้เพิกถอนประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2558 ที่ยกเว้นให้โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนซึ่งใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิงทุกขนาด ไม่ต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)

ซึ่งเดิมประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องขนาดและประเภทโครงการที่ต้องทำอีไอเอ กำหนดให้โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทุกประเภท ที่มีกำลังผลิต10 เมกกะวัตต์ขึ้นไป ต้องทำอีไอเอ เพราะเป็นโครงการที่มีความเสี่ยงสูงว่าจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

มูลนิธิบูรณะนิเวศ และเครือข่ายประชาชนศึกษาและติดตามปัญหาขยะ มอบอำนาจให้มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ดำเนินการยื่นฟ้องคดีปกครองหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง คือ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ 1 และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่ 2 ในฐานะหน่วยงานรัฐผู้ออกประกาศกระทรวงฯ ฉบับดังกล่าวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นการใช้อำนาจที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย และเป็นการยกเลิกมาตรการหรือกลไกที่สำคัญในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชน ปิดกั้นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการร่วมแสดงความคิดเห็นและติดตามตรวจสอบโครงการโรงไฟฟ้าขยะทั้งของรัฐและเอกชน ขณะเดียวกัน ในกระบวนการออกประกาศกระทรวงฯ ฉบับดังกล่าว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมิได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย ก่อนที่จะออกประกาศฯ ทั้งที่เป็นการออกกฎที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนทั้งประเทศ ขัดต่อหลักการที่รัฐธรรมนูญกำหนดคุ้มครองไว้ ว่ากรณีมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง จะต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียก่อน

ผู้ฟ้องคดี ขอให้ศาลปกครองพิพากษาเพิกถอนประกาศกระทรวงฯที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายฉบับดังกล่าว โดยเห็นว่า แม้การจัดการปัญหาขยะจะเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่การรีบเร่งผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าขยะซึ่งเป็นกิจการที่มีความเสี่ยงสูงว่าจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ด้วยการออกกฎหมายยกเว้นการจัดทำรายงาน EIA โดยไม่มีหลักประกันหรือมาตรการการประเมิน และควบคุมผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่ารองรับ ถือเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาการจัดการขยะที่ผิดพลาด


ข่าวที่เกี่ยวข้อง