ย้อนดูเส้นทางการเจรจาร่วมทุน รถไฟไทย-จีน ทำไมจึงล่าช้า

เศรษฐกิจ
3 ธ.ค. 58
14:19
314
Logo Thai PBS
ย้อนดูเส้นทางการเจรจาร่วมทุน รถไฟไทย-จีน ทำไมจึงล่าช้า

ย้อนดูเงื่อนไขการร่วมทุนการก่อสร้างโครงการรถไฟไทย-จีน หลังเจรจา 9 ครั้ง แต่ยังต่อรองสัดส่วนการลงทุนไม่ได้ ขณะที่กำลังจะมีการวางศิลาฤกษ์ เปิดศูนย์ควบคุมและบริหารการเดินรถ (OCC ) ที่สถานีเชียงรากน้อย ในวันที่ 19 ธันวาคมนี้

เส้นทางที่จะก่อสร้างโครงการร่วมทุนรถไฟไทย-จีน มีระยะทางรวมกัน 873 กิโลเมตร แบ่งเป็น 4 ช่วง คือ กรุงเทพ-แก่งคอย 133 กิโลเมตร แก่งคอย-มาบตาพุด 246.5 กิโลเมตร แก่งคอย-โคราช 138.5 กิโลเมตร โคราช-หนองคาย 355 กิโลเมตร นี่เป็นเส้นทางที่จีนคาดหวังมากที่จะเชื่อมต่อทางรถไฟในภูมิภาคนี้เพื่อขนส่งสินค้าจากประเทศลาวผ่านหลวงพระบางเข้ามาที่หนองคาย และมีแผนที่จะวางโครงข่ายให้ครอบคลุมทั้งอาเซียน

แต่ปัญหาหลักๆที่ทำให้ถูกตั้งข้อสังเกตว่าโครงการนี้จะไปถึงตลอดรอดฝั่งหรือไม่ คือดอกเบี้ยที่ไทยจะกู้เงินจากจีนก่อนจะกู้เงินต้องตกลงสัดส่วนการลงทุนให้ได้ก่อน จีนเคยเสนอลงทุนระบบและเดินรถร้อยละ 40 ส่วนไทยต้องการให้จีนแบกรับความเสี่ยงร่วมโดยการลงทุนร้อยละ 50 ยังไม่มีข้อสรุป แต่ที่ต่อรองกันอยู่คือดอกเบี้ย เมื่อได้สัดส่วนการลงทุนแล้วไทยจะกู้เงินจากจีน จีนขอดอกเบี้ยร้อยละ 2.5 ต่อปี ไทยอ้างว่าควรจะต่ำกว่าร้อยละ 2 จึงเป็นที่มาที่ทำให้นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เคยกล่าวไว้ว่ากู้ในประเทศดีกว่าหรือกู้จากญี่ปุ่นอาจได้อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า

ขณะที่เงื่อนไขของโครงการรถไฟลาวจีน ที่ลงนามสัญญาสร้างแล้ว มีเงินลงทุน 6,280 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 222,000 ล้านบาท จีนลงทุนร้อยละ 70 ลาวร้อยละ 30 ตั้งวิสาหกิจบริหาร ซึ่งมีลักษณะคล้ายบริษัทที่ผู้มีอำนาจตัดสินใจตามสัดส่วนผู้ถือหุ้น ทรัพย์สินทุกอย่างเป็นการค้ำประกัน ในสัดส่วนร้อยละ 30 ที่ลาวลงทุน ลาวต้องกู้เงินจากดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี อายุสัญญาเงินกู้ 20 ปี และต้องใช้มูลค่าของเหมืองแร่ 4 แห่ง ค้ำประกันเงินกู้ ถ้ามองผิวเผินคงจะเห็นชัดว่าใครได้เปรียบเสียเปรียบ แต่อีกด้านลาวไม่มีทางเลือกมากนักต้องการจะมีทางรถไฟ ในขณะที่ไม่มีเงินลงทุนแถมติดเงื่อนไขจากไอเอ็มเอฟด้วย อาจจะเปรียบเทียบกับไทยโดยตรงไม่ได้ แต่อาจจะประเมินท่าทีของจีน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง