วงการโมเดลลิ่งหนุนกระทรวงแรงงานจัดระเบียบการจ้างงานนายแบบ-นางแบบต่างชาติ

สังคม
6 ธ.ค. 58
07:20
1,619
Logo Thai PBS
วงการโมเดลลิ่งหนุนกระทรวงแรงงานจัดระเบียบการจ้างงานนายแบบ-นางแบบต่างชาติ

วงการโมเดลลิ่งสนับสนุนมาตรการของกระทรวงแรงงงานที่กำหนดให้นายแบบนางแบบต่างชาติที่มาทำงานในประเทศไทยต้องมีใบอนุญาตทำงานเนื่องจากช่วงที่ผ่านมาพบว่ามีบริษัทเอเจนซีบางแห่งว่าจ้างนายแบบนางแบบผิดกฎหมาย สมาคมอุตสาหกรรมถ่ายแบบระบุหากไม่มีการควบคุมดูแล บริษัทโมเดลลิ่งในประเทศต่างๆ อาจมองว่าไทยไม่มีการจัดระเบียบหรือให้ความคุ้มครองนายแบบนางแบบ

มาเรีย ยูเครียนา สาวยูเครนวัย 20 ปี เข้ามารับงานเป็นนางแบบถ่ายโฆษณาสินค้าในเมืองไทย 3 ครั้งในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา เธอเป็นหนึ่งในนางแบบและนายแบบชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในเมืองไทย แต่เธออาจโชคดีกว่าเพื่อนร่วมอาชีพอีกหลายคนตรงที่เธอมีใบอนุญาตทำงานอย่างถูกกฎหมาย ดั้งนั้นเมื่อกระทรวงแรงงานออกกฎคุมเข้มนางแบบนายแบบต่างชาติที่มาทำงานในประเทศไทย เธอจึงไม่ได้รับผลกระทบใด

มาเรียบอกว่า แม้ค่าตอบแทนในเมืองไทยจะไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย แต่ค่าครองชีพที่ถูกกว่า บรรยากาศการทำงานที่ดีและการมีอัธยาศัยที่ดีของคนไทยเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เธอเลือกมาทำงานที่นี่ ยิ่งการที่เธอมีใบอนุญาตทำงานถูกต้องก็ยิ่งทำให้การทำงานเป็นไปด้วยความราบรื่น 

"การมีใบอนุญาตทำงานทำให้ฉันรู้สึกสบายใจ แต่เพื่อนๆ หลายคนที่ไม่มีส่วนใหญ่กลัวว่าจะทำงานอย่างผิดกฎหมายและหลายบริษัทก็กลัวว่าจะต้องได้รับโทษหากนางแบบหรือนายแบบไม่มีใบอนุญาตทำงาน" มาเรียกล่าว

ปัจจุบันมีนายแบบนางแบบต่างชาติเข้ามารับงานในไทยไม่ต่ำกว่า 400 คน และมีไม่ถึงครึ่งที่มีใบอนุญาตทำงานถูกต้อง เหตุที่ต้องใช้นายแบบและนางแบบต่างชาติเป็นเพราะลูกค้ามีความต้องการที่หลากหลาย และหลายครั้งที่ผู้ว่าจ้างเห็นว่าการใช้คนต่างชาติมานำเสนอสินค้าจะทำให้ผู้บริโคมั่นใจในตัวสินค้ามากขึ้นบริษัทโมเดลลิ่งจึงจำเป็นต้องติดต่อหาชาวต่างชาติมาทำงาน ซึ่งค่าตอบแทนของชาวต่างชาติเหล่านี้ก็ไม่สูงเกินไปหากเทียบกับนายแบบนางแบบชื่อดังของไทย แต่ก็ขึ้นอยู่กับผู้ว่าจ้างที่จะตัดสินใจตามความเหมาะสมกับลักษณะงาน

ณัฐกานต์ สุมน ผู้บริหารสุมน เอเจนซี จำกัดกล่าวว่า ราคาอาจไม่ใช่ปัจจัยหลักในการตัดสินใจว่าจะเลือกนางแบบนายแบบไทยหรือต่างชาติ แต่ผู้ใช้บริการจะมีความตั้งใจมาตั้งแต่ต้นแล้วว่างานไหนอยากใช้คนไทย คนต่างชาติหรือลูกครึ่ง

อุตสาหกรรมถ่ายแบบในไทยที่เติบโตขึ้น ทำให้ในช่วง 5-6 ปีมานี้ ชาวต่างชาติในประเทศแถบอเมริกาใต้ ยุโรป และตะวันออกกลางหลั่งไหลเข้ามารับงานถ่ายแบบต่อเนื่อง

สมาคมอุตสาหกรรมถ่ายแบบและผู้ประกอบการไทยเห็นว่าเป็นเรื่องดีให้เกิดการแข่งขัน แต่ส่วนใหญ่เข้ามาทำงานแบบผิดขั้นตอนในลักษณะถือวีซ่าท่องเที่ยว จึงไม่ถูกตรวจสอบและเปิดช่องให้เลี่ยงภาษี ขณะนี้มีความพยายามยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมถ่ายแบบในไทยโดยเฉพาะความเข้มงวดให้โมเดลลิ่งดำเนินการให้นายแบบ นางแบบ ที่นำเข้ามามีใบอนุญาตทำงานถูกกฎหมาย

เอ็ดเวิร์ด กิตติ ผู้ก่อตั้งสมาคมอุตสาหกรรมถ่ายแบบฯ กล่าวว่าหากไม่มีการบังคับใช้กฎหมาย อุตสาหกรรมโมเดลลิ่งทั่วโลกอาจมองว่าประเทศไทยไม่มีการจัดระเบียบ ใครจะเข้ามาทำงานก็ได้

"ประเทศที่พัฒนาแล้วที่จะส่งนางแบบที่มีชื่อเสียงเข้ามาทำงานในเมืองไทยคงต้องคิดก่อนว่าส่งไปประเทศไหนดีกว่า เช่น ไทย สิงคโปร์ ฮ่องกง หรือญี่ปุ่น เขาย่อมมองประเทศที่มีกฎหมายคุ้มครองนางแบบนายแบบ" เอ็ดเวิร์ดให้ความเห็น

อารักษ์ พรมมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน อธิบดีกรมการจัดหางานมั่นใจว่าการกำหนดให้นางแบบนายแบบต้องมีใบอนุญาตทำงานจะช่วยป้องกันการถูกเอาเปรียบจากนายหน้า การใช้แรงงานเด็กที่อาจเข้าข่ายการค้ามนุษย์ เนื่องจากพบนางแบบหลายจำนวนไม่น้อยอายุไม่ถึง 18 ปี

"ชาวต่างชาติสามารถเข้ามาทำอาชีพนายแบบและนางแบบในไทยได้ แต่จะต้องขออนุญาตทำงาน เพราะอาชีพนี้มีค่าตัวและค่าแรงสูง มีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การแสวงหาประโยชน์ทางเพศ ถ้าไม่มีการคุ้มครอง เพราะฉะนั้นกฎเกณฑ์ที่บังคับใช้นั้น ไม่ได้ทำให้เกิดความล่าช้าหรือความไม่สะดวก แต่เป็นการคุ้มครองป้องกันไม่ให้สิ่งที่ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น" นายอารักษ์อธิบาย

จากนี้จะมีการเชิญผู้ประกอบการบริษัทโมเดลลิง เอเจนซีต่างๆ มาทำความเข้าใจในมาตรการต่างๆ ซึ่งคาดว่าต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ในการปรับเปลี่ยนและเตรียมพร้อมให้ผู้ประกอบการทุกรายดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน

ทั้งนี้กฎหมายการทำงานคนต่างด้าว พ.ศ.2551 ระบุว่าแรงงานต่างชาติที่ทำงานในไทย ต้องมีใบอนุญาตทำงาน หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงนายจ้างที่รับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 10,000 - 100,000 บาทต่อคน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง