"หอภาพยนตร์" พัฒนาห้องเย็นเก็บฟิล์มหนังใหม่-ย้ายอาคารเพื่อสะดวกต่อการเก็บรักษา

Logo Thai PBS
"หอภาพยนตร์" พัฒนาห้องเย็นเก็บฟิล์มหนังใหม่-ย้ายอาคารเพื่อสะดวกต่อการเก็บรักษา

อุณหภูมิและความชื้นที่เหมาะสมมีส่วนสำคัญต่อการเก็บรักษาคุณภาพฟิล์มหนัง ซึ่งหากเก็บอย่างถูกวิธี ฟิล์มภาพยนตร์ก็จะสามารถอยู่ได้ยาวนานหลายร้อยปี หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) จึงพัฒนาห้องเย็นสำหรับเก็บฟิล์มนับแสนม้วน และย้ายไปอาคารใหม่เพื่อให้สะดวกต่อการเก็บรักษามากขึ้น

แม้ทำรายได้ไม่ถึง 50 ล้านบาท หาก "รักแห่งสยาม" ภาพยนตร์วัยรุ่น ปี 2550 ก็ประสบความสำเร็จทั้งเสียงวิจารณ์และรางวัล การสะท้อนอารมณ์ร่วมของยุคสมัยและสร้างกระแสให้เกิดการพูดถึงความรักของเพศทางเลือก ทำให้ได้รับเลือกเป็นหนึ่งใน 25 เรื่องล่าสุดที่ขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ นำมาเข้าเครื่องฉายอีกครั้งให้ผู้ชมได้สัมผัสคุณค่าของเรื่องราวที่บันทึกผ่านแผ่นฟิลม์ 35 มิลลิเมตร ซึ่งเก็บรักษาไว้อย่างดีในหอภาพยนตร์
 
ภาพเบื้องหลังการฉายหนังบนแผ่นฟิล์มค่อยๆ จะหมดไป ด้วยแทนที่จากสื่อดิจิทัล แต่การไม่ได้ทำหน้าที่ฉายความบันเทิงเช่นวันวานไม่ได้ลดทอนคุณค่าของฟิล์มหนัง โดยเฉพาะในฐานะจดหมายเหตุสำคัญที่บันทึกเรื่องราวของสังคมการพยายามค้นหาและพัฒนาวิธีการรักษาคุณภาพของแผ่นฟิลม์หนังแต่ละม้วนให้อยู่ยาวนานที่สุด จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่คนวงการหนังทั่วโลกให้ความสำคัญ
 
การช่วยต่อชีวิตของฟิลม์ภาพยนตร์ให้อยู่นานมากขึ้นอีกหลายร้อยปี คือการเก็บในอุณหภูมิที่เหมาะสมอย่างห้องเย็นเก็บฟิล์มของหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ที่สร้างใหม่ให้มีอุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส ควบคุมความชื้นคงที่ พร้อมกับขยายพื้นที่เพื่อรองรับฟิล์มหนังที่มีเพิ่มขึ้นในแต่ละปี โดยทยอยขนย้ายฟิล์มหนังนับแสนม้วนมาเก็บในห้องเย็นใหม่ที่เพิ่งเปิดใช้งานเมื่อต้นเดือน ธ.ค.2558
 
ตลอด 30 ปีที่เก็บกู้ซ่อมและรักษาแผ่นฟิล์มหนัง วันนี้ หอภาพยนตร์มีฟิล์มหนังที่เก็บรักษาไว้เป็นสมบัติชาติรวมกว่า 100,000 ม้วน หลายหมื่นยังอยู่ในกระบวนการตรวจสอบและซ่อมแซม แม้ปัจจุบันบริษัทภาพยนตร์แทบไม่ถ่ายทำด้วยฟิลม์เหมือนเก่า หันมาใช้สื่อดิจิทัลในการบันทึกภาพเพราะสะดวกและคุ้มทุนกว่า หากสำหรับคนรักหนังบางส่วนยังมองว่าคุณค่าของแผ่นฟิล์มไม่เพียงเป็นความคงทนที่เสถียรกว่าสื่อใหม่อย่างดิจิทัล ภาพและสีสันจากแผ่นฟิล์มผ่านเครื่องฉายยังให้อารมณ์และความรู้สึกที่ไม่อาจแทนที่ได้จากดิจิทัล
 
แม้ในอนาคตแผ่นฟิล์มจะไม่ได้ถูกใช้เพื่อสร้างความบันเทิงเช่นวันวาน หากคุณค่าของฟิล์มหนังเก่า ทำให้ผู้กำกับชื่อดัง อย่าง มาติน สกอเซซี่ และเพื่อนร่วมวงการภาพยนตร์ทั่วโลก เคลื่อนไหวและพยายามผลักดันให้ยูเนสโก้ ขึ้นทะเบียนม้วนฟิล์มหนังเป็นมรดกโลก เพื่อให้ฟิล์มหนังที่แม้ไม่ถูกสร้างใหม่ หากของเก่ายังได้รับการดูแลและเก็บรักษาอย่างถูกวิธี พร้อมกับสนับสนุนให้ทั่วโลกได้ใช้แผ่นฟิล์มหนังเป็นสื่อสร้างปัญญา


ข่าวที่เกี่ยวข้อง