นักวิทยาศาสตร์เผยภาพหญิงสาวที่ซ่อนอยู่ในรูป "โมนาลิซ่า"

Logo Thai PBS
นักวิทยาศาสตร์เผยภาพหญิงสาวที่ซ่อนอยู่ในรูป "โมนาลิซ่า"

เป็นประเด็นถกเถียงในแวดวงศิลปะ เมื่อนักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสเปิดเผยว่ามีภาพหญิงสาวอีกคนถูกวาดทับในรูปโมนาลิซ่า ผลงานชิ้นเอกของ เลโอนาร์โด ดาวินชี โดยอ้างว่าหญิงสาวคนดังกล่าว คือโมนาลิซ่า ตัวจริง และภาพรอยยิ้มของหญิงสาวที่ผู้คุ้นเคย อาจเป็นของผู้หญิงคนละคนกันก็เป็นได้

รอยยิ้มที่เปี่ยมด้วยเสน่ห์และเต็มไปด้วยปริศนาของ โมนาลิซ่า จิตรกรรมชิ้นเอกของ เลโอนาร์โด ดาวินชี ยอดศิลปินแห่งยุคเรเนอซองส์ คือผลงานที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวมาเยือนพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ ในกรุงปารีสถึงปีละเกือบ 10 ล้านคน และยังเป็นภาพวาดที่มีราคาแพงที่สุดในโลก ประเมินราคาในปัจจุบันสูงถึง 782 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 27,000 ล้านบาท แต่กระบวนการวิทยาศาสตร์ล่าสุดได้เปิดเผยว่า รอยยิ้มที่ผู้คนคุ้นเคยมากว่า 500 ปีนี้ กลับเป็นของผู้หญิงคนอื่น เพราะภาพของนางแบบซึ่งเชื่อว่าเป็นโมนาลิซ่าตัวจริง ถูกวาดลงบนผืนผ้าใบเดียวกัน ก่อนจะถูกวาดทับด้วยภาพเหมือนของผู้หญิงอีกคนในเวลาต่อมา 
 
ข้อมูลดังกล่าวเปิดเผยโดย พาสคาล คอตต์ นักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ที่ได้รับอนุญาตจากพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ให้มาสำรวจภาพวาดโมนาลิซ่าตั้งแต่ปี 2004 ซึ่งเขาใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า Layer Amplification Method โดยฉายแสงไปยังภาพวาด ก่อนที่กล้องถ่ายภาพจะวัดปริมาณการสะท้อนของแสง และนำมาการสร้างภาพจำลองของสิ่งที่พบระหว่างชั้นสีของภาพวาดชื่อดัง ซึ่งกระบวนการดังกล่าวเปิดเผยภาพหญิงสาวอีกคนที่อยู่ในท่วงท่าที่คล้ายกับโมนาลิซ่า แต่ใบหน้าของเธอจับจ้องไปยังทิวทัศน์รอบข้าง 
 
พาสคาล คอตต์ อ้างว่าภาพหญิงสาวที่ถูกเปิดเผยนี้ คือ ลีซา เกอราร์ดีนี ซึ่ดาวินชีได้ว่าจ้างให้มาเป็นแบบ เพื่อวาดภาพเหมือนเมื่อ 500 ปีที่แล้ว ส่วนภาพวาดรอยยิ้มที่ชาวโลกคุ้นเคย อาจเป็นภาพของผู้หญิงคนอื่นที่ไม่ใช่โมนาลิซ่าอย่างที่โลกรู้จัก 
 
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลใหม่นี้กำลังเป็นที่ถกเถียงในแวดวงศิลปะ โดย แอนดรูว์ แกรม ดิ๊กสัน นักประวัติศาสตร์ศิลปะเชื่อว่าการค้นพบดังกล่าวอาจนำไปสู่การเปลี่ยนชื่อภาพวาดชิ้นนี้ แต่ มาร์ติน เคมป์ ศาสตราจารย์ประวัติศาสตร์ศิลป์ของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดชี้ว่าภาพทั้ง 2 คือส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างโมนาลิซ่าของดาวินชี ซึ่งเขาเชื่อว่าภาพหญิงที่ผู้คนคุ้ยเคย คือกระบวนการสร้างโมนาลิซ่าในฉบับที่เสร็จสมบูรณ์แล้วนั่นเอง โดยล่าสุดทางพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ปฏิเสธการให้ความเห็นต่อการค้นพบครั้งนี้ โดยระบุว่าทางพิพิธภัณฑ์ไม่ได้มีส่วนร่วมในการงานวิจัยที่เกิดขึ้น
 
ในอดีตการวาดภาพทับภาพเดิมของศิลปินเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ซึ่งการค้นพบครั้งนี้จะเป็นที่ยอมรับ ก็ต่อเมื่อนักวิชาการแวดวงศิลปะให้การรับรอง แทนที่จะเป็นความเห็นของนักวิทยาศาสตร์เพียงกลุ่มเดียว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง