ผลักดัน “กลุ่มป่าแก่งกระจาน” เป็นมรดกโลก (2)

10 ธ.ค. 58
02:19
362
Logo Thai PBS
ผลักดัน “กลุ่มป่าแก่งกระจาน” เป็นมรดกโลก  (2)

การผลักดันกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ แม้ว่าจะผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการมรดกโลก กลุ่มป่าแก่งกระจานขึ้นบัญชีรายชื่อเบื้องต้นไปแล้ว แต่ยังไม่ง่ายสำหรับการจะได้รับพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ

เพราะยังมีข้อท่วงติงถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน หลังมีหลายเหตุการณ์ที่ชาวกะเหรี่ยงป่าแก่งกระจานยังได้รับผลกระทบ จนเป็นประเด็นให้สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (OHCHR) ส่งหนังสือถึงคณะกรรมการมรดกโลก จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ในการประชุมคณะกรรมการครั้งลาสุด ได้ตีกลับรายงานที่ไทยได้นำเสนอโดยขอให้มีแผนการจัดการชุมชนกะเหรี่ยงให้เป็นรูปธรรม

การดำเนินงานขณะนี้อยู่ระหว่างขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ให้เป็นไปตามแผนการจัดการกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก ซึ่งมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน ในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานไปแล้ว 5 ครั้ง มีทั้งผู้สนับสนุนและผู้ที่ยังมีความกังวลถึงผลกระทบกับวิถีชีวิต

นายสรัชชา สุริยกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี ในฐานะ CEO กลุ่มป่าแก่งกระจาน ที่ตั้งขึ้นตามโรดแมปการจัดการกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก เปิดเผยว่า ตามแผนยุทธศาสตร์ทั้ง 4 ด้าน มีการประชุมทั้งในระดับเจ้าหน้าที่อุทยานมาแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างพื้นที่ และหาแนวทางการจัดการผืนป่าร่วมกันแล้วหลายครั้ง มีการขับเคลื่อนการบูรณาการการมีส่วนร่วม ด้วยการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว 5 ครั้ง ส่วนใหญ่เห็นด้วย แต่ส่วนที่ไม่เห็นด้วย จะเป็นชุมชนกะเหรี่ยง ซึ่งมองว่าอาจเกิดจากความไม่เข้าใจหรือเข้าใจผิด ในเรื่องของมรดกโลก ซึ่งก็ต้องพยายามทำความเข้าใจว่า ถ้าเป็นมรดกโลกพวกเขาก็จะยิ่งมีคุณค่ามากขึ้น เพราะพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งในพื้นที่มรดกโลก ก็จะต้องเพิ่มการประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจให้มากขึ้น ส่วนเรื่องกระบวนการขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกก็ต้องเดินหน้าเพราะถ้ารอช้ากว่านี้ ประเทศไทยก็อาจจะเป็นการเสียโอกาส

“ผมไม่ได้มองว่าเรื่องการฟื้นฟูวิถีวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยง เป็นปัจจัยไปขัดขวางการเป็นมรดกโลก แต่มองว่าเป็นเรื่องที่จะต้องมาแก้ไข และทำความเข้าใจกัน ดีกว่าเราไปประกาศเป็นมรดกโลก แล้วถูกกล่าวหาว่า รัฐทำอะไรไปแล้วประชาชนไม่มีส่วนร่วม” นายสรัชชากล่าว

นายสรัชชากล่าวว่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่อาจจะเข้าไปทำความเข้าใจกับชาวบ้านน้อยเกินไป ขณะที่การดำเนินการขับเคลื่อนโรดแมป มีกรอบเวลาก็ต้องดำเนินการไปตามแผนที่วางไว้ ซึ่งต่อจากนี้ก็จะต้องเน้นสร้างความเข้าใจกับประชาชนให้มากขึ้น โดยจะให้ชุมชนกะเหรี่ยงมีส่วนร่วมมากขึ้น จะต้องมีข้อตกลงร่วมกันว่า จะอยู่ในพื้นที่อย่างไรบนสิทธิที่พวกเขามีอยู่ และจะรับผิดชอบอย่างไรกับการดูแลรักษาพื้นที่ธรรมชาติ ให้คุณค่าที่ป่าแก่งกระจานโดดเด่น ยังคงอยู่ได้ ก็เป็นเรื่องที่ภาครัฐจะต้องดำเนินการต่อจากนี้

ด้านนายเกียรติศักดิ์ กล่อมสกุล ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและกลุ่มดูนกกลุ่มป่าแก่งกระจาน ระบุว่า หากกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกจะเป็นประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะการท่องเที่ยว เพราะเมื่อเป็นพื้นที่มรดกโลกคนทั่วโลกรู้จักเรามากขึ้น นักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่ก็นิยมเที่ยวในพื้นที่มรดกโลก ส่วนในมุมของทรัพยากรธรรมชาติ หากผนวกพื้นที่ 4 แห่งเข้าด้วยกันเป็นป่าผืนใหญ่ ควรจะต้องเป็นมรดกโลก

“ผมมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เพราะการเป็นมรดกโลกมันเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าเป็นมรดกโลกแต่ยังไม่มีแผนการจัดการที่ดี ก็อาจจะส่งผลกระทบได้ เช่น ป่าแก่งกระจานยังมีปัญหาชุมชนกะเหรี่ยง ต้องจัดการให้ดีก่อน จะให้เขาอยู่ในรูปแบบไหน และข้อมูลด้านทรัพยากรที่ยังไม่สมบูรณ์ ควรจะทำให้เรียบร้อยก่อน ถ้าเอาเขาออกจากพื้นที่ผมก็ไม่ยอม แต่ทำอย่างไรที่จะคุยกันว่าเขาก็ต้องรักษาป่า รักษาสัตว์ป่า ห้ามล่าสัตว์ ก็ต้องมีข้อตกลงกัน” นายเกียรติศักดิ์กล่าว

นายเกียรติศักดิ์กล่าวต่อว่า ไม่จำเป็นต้องเร่งรีบเป็นพื้นที่มรดกโลก เพราะถ้าประชาชนช่วยกันดูแลรักษา เจ้าหน้าที่จริงใจที่จะแก้ปัญหา และสามารถป้องกันรักษาผืนป่าและสัตว์ป่าไว้ได้เป็นอย่างดี ถึงอย่างไรก็ได้เป็นมรดกโลก ถ้ารักษาคุณค่าเหล่านั้นไว้ได้ ก็ไม่จำเป็นต้องเร่งผลักดันมรดกโลก ท่ามกลางปัญหาที่ยังมีเสียงเรียกร้องให้แก้ปัญหา

“มรดกโลกเป็นเรื่องที่ดี แต่พื้นที่แก่งกระจาน ยังไม่ต้องเป็นมรดกโลกก็ได้ เป็นมรดกของคนไทยก่อน แล้วมาแก้ปัญหาที่มีอยู่ เช่น การจัดการเรื่องเถาวัลย์ที่กำลังคุกคาม การจัดการแหล่งอาหารสัตว์ป่า และการแก้ปัญหาชุมชนกะเหรี่ยง มาแก้กันให้ได้ก่อน แล้วค่อยเป็นมรดกโลกก็ไม่สาย” นายเกียรติศักดิ์กล่าว

ขณะที่นายประจักษ์ สายน้ำเขียว ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ต.กุยบุรี อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ในฐานะคนปลายน้ำมองว่า การเป็นมรดกโลกเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์กับประเทศไทย ไม่เฉพาะคนกุยบุรี คนแก่งกระจานเท่านั้น เพราะมรดกโลกจะยิ่งทำให้เกิดความเข้มงวดในการจัดการได้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม คนในพื้นที่กุยบุรี ส่วนใหญ่สนับสนุนการเป็นมรดกโลก เพราะเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ทั้งด้านอนุรักษ์และการท่องเที่ยวที่ทำให้กระตุ้นเศรษฐกิจของชุมชนรอบพื้นที่มรดกโลกได้

อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะเห็นด้วย แต่นายประจักษ์เสนอว่า อยากให้เปลี่ยนชื่อจากกลุ่มป่าแก่งกระจาน เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติเทือกเขาตะนาวศรี เพราะคนกุยบุรีจะรู้สึกว่าคนจะรู้จักแค่แก่งกระจาน ซึ่งพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ก็มีความโดดเด่นไม่น้อยไปกว่าพื้นที่แก่งกระจาน หากใช้ชื่อรวมเป็นเทือกเขาตะนาวศรีก็จะทำให้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าเดียวกัน

ด้านนายวายุพงศ์ จิตร์วิจักษณ์ ผู้จัดการโครงการอนุรักษ์สัตว์ป่ากุยบุรี WWF ประเทศไทย บอกว่า กลุ่มป่าแก่งกระจานมีการจัดการที่ดีในระดับหนึ่ง ทำให้ถูกขึ้นบัญชีรายชื่อเบื้องต้นไปแล้ว เพราะสิ่งที่เหลืออยู่ในกลุ่มป่าแก่งกระจาน ยังมีความหลากหลายทั้งสัตว์ป่าและพืชป่า เป็นเพียงพื้นที่ไม่กี่แห่งที่ยังคงมีคุณค่าที่ส่งผลประโยชน์ต่อคนทั้งโลก หากกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ก็เป็นเครื่องยืนยันได้ว่า เป็นแหล่งที่มีคุณค่า จำเป็นต้องดูแลรักษาไว้ให้เป็นมรดกของโลก ขณะเดียวกันการเป็นมรดกโลกยังเป็นเครื่องป้องกันอย่างหนึ่ง ที่หากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐที่จะเข้ามาดำเนินการในพื้นที่ ก็จะทำได้ยากขึ้น

“แม้ว่าวันนี้ในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน ยังมีความเห็นที่แตกต่างในเรื่องมรดกโลก เช่น กังวลถึงการจัดการชุมชนกะเหรี่ยงในพื้นที่ป่าแก่งกระจาน แต่ถ้าเรามั่วรอให้จัดการให้เรียบร้อยก่อน ป่าไม้และสัตว์ป่าอาจจะไม่เหลือแล้วก็ได้ ผมมองว่า การขึ้นทะเบียนมรดกโลกสามารถเสนอได้ทันที เพราะเรามีความพร้อมแล้วในด้านทรัพยากร ส่วนด้านการจัดการก็จะต้องตามมาแน่นอน เพราะเมื่อเป็นมรดกโลกแล้ว ย่อมมีการจัดการที่ต้องดีกว่าเดิมแน่นอน” นายวายุพงศ์กล่าว

นายวายุพงศ์กล่าวว่า ในฐานะที่เข้ามาทำงานด้านการอนุรักษ์ร่วมกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่กุยบุรีไม่ต่ำกว่าสิบปี มีผลสะท้อนที่เห็นได้ชัดจากการแก้ปัญหาคนกับช้างป่า ด้วยวิธีการจัดการโดยดึงชุมชนที่มีผลกระทบกับช้างป่ามาทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ มีการจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศร่วมกัน ซึ่งเมื่อผู้ได้รับผลกระทบจากช้างป่า ได้รับประโยชน์ตอบแทนจากการดูแลผืนป่า ดูแลสัตว์ป่า ที่ได้กลับคืนมาจากการท่องเที่ยว จะทำให้เกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์ จึงช่วยลดปัญหาคนกับช้างป่าได้

“ผมมองว่าในความขัดแย้งของชุมชนกะเหรี่ยงป่าแก่งกระจาน ก็ต้องมีวิธีการจัดการเช่นกัน แต่การจัดการต้องอยู่บนพื้นที่ของสิทธิและหน้าที่ คือสิทธิในการอยู่อาศัยในพื้นที่ เพราะอยู่มาก่อนประกาศเขตป่า ส่วนหน้าที่ก็ต้องมีข้อตกลงว่า ทำอย่างไรเขาจะช่วยดูแลทรัพยากร สัตว์ป่า ผืนป่าในพื้นที่ที่เขาใช้ประโยนช์อยู่ ให้ยังคงคุณค่าต่อไปได้” นายวายุพงศ์กล่าว

ขณะที่ ดร.โรเบิร์ต มาเธอร์ หัวหน้ากลุ่มประเทศตะวันออกเฉียงใต้ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ให้ความเห็นว่า พื้นที่ที่มีชนพื้นเมือง (Indigenous People) อยู่ เช่น กลุ่มป่าแก่งกระจานนั้น IUCN ไม่มีหลักเกณฑ์พิเศษที่พิจารณา แต่เป็นประเด็นสำคัญมากในเรื่องการจัดการพื้นที่ ซึ่งมรดกโลกหมายถึงพื้นที่นี้มีความสำคัญความโดดเด่นมาเพียงพอที่จะเป็นมรดกโลกทางความหลากหลายทางชีวภาพ สิ่งที่ตามก็คือการจัดการ จะมีการจัดการอย่างไรที่ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพคงอยู่ได้ แล้วคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้น จะมีส่วนร่วมอย่างไร

“หลายคนอาจมองว่าชุมชนที่อยู่ในพื้นที่อนุรักษ์อาจจะมีส่วนในการทำลายได้ แต่มีหลายคนมองว่า ไม่ใช่ เขาก็มีส่วนช่วยในเรื่องการอนุรักษ์ นอกจากนี้ยังมีมุมมองในด้านสิทธิมนุษยชน เพราะเขาอยู่มาก่อนที่จะมาประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์เสียอีก ดังนั้น ไม่ว่าเขาจะทำดีหรือไม่ดี แต่เขาก็มีสิทธิที่จะอยู่ได้ อันนี้ไม่ใช่หลักเกณฑ์ แต่เป็นหลายมุมมองที่มีอยู่ตอนนี้” ดร.โรเบิร์ตกล่าว

ดร.โรเบิร์ตบอกอีกว่า ในเรื่องหลักเกณฑ์นั้น เน้นเรื่องการจัดการพื้นที่เพื่อรักษาสิ่งที่เราบอกว่าเป็นคุณค่า และถ้าเราจะทำตรงนั้น โดยเอาเปรียบคนที่อยู่ในพื้นที่หรือทำลายคนที่อยู่ในพื้นที่ ก็คงไม่เป็นที่ยอมรับเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นต้องหารูปแบบที่ทำงานด้วยกันได้ อยู่ด้วยกันได้ ชนกลุ่มน้อยเหล่านั้นต้องมีส่วนร่วมในการจัดการพื้นที่ตรงนั้นให้ได้

“ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ ก็ต้องมีทั้งสิทธิ และความรับผิดชอบ เช่น สิทธิ ก็ควรจะมีข้อตกลงร่วมกันว่า เขาจะเก็บหาของป่า ล่าสัตว์เล็กๆ ตัดไม้ใช้สอยหรือแม้กระทั่งตัดไม้ไปขายได้ไหม ในเรื่องสิทธิจึงมีหลายอย่างที่ต้องพิจารณาเป็นข้อๆ ไป หรืออย่างเรื่องเก็บของป่าไปขายหรือตัดไม้นั้น พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติก็ห้ามอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีข้อยกเว้นให้โดยอำนาจรัฐมนตรีหรืออธิบดีได้ ดังนั้นจึงต้องพิจารณาหลายข้อในเรื่องสิทธิว่ามีสิทธิอะไรบ้าง และแน่นอนว่าในแต่ละข้อนี้ก็ต้องมานั่งถกเถียงกันอีกนานแค่ไหนก็ไม่รู้กว่าจะตกลงกันได้” ดร.โรเบิร์ตกล่าว

ส่วนเรื่องความรับผิดชอบ ดร.โรเบิร์ตกล่าวว่า ต้องมีข้อตกลงร่วมกันว่า ในพื้นที่ที่ให้เขาดูแลหรือให้เขาหากินได้ เขาจะรับผิดชอบไม่ให้พรานจากที่อื่นมาล่าสัตว์ตรงนั้นได้ไหม ไม่ให้คนในชุมชนอื่นมาแอบตัดไม้ได้ไหม ในเมื่อมอบให้เขาดูแลและใช้ประโยชน์จากตรงนั้นได้แล้ว หรือแม้กระทั่งสามารถลาดตระเวนร่วมกับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า สามารถทำงานร่วมกันได้ไหม เขาก็น่าจะมีส่วนต้องร่วมรับผิดชอบด้วย เมื่อพื้นที่ตรงนั้นกลายเป็นมรดกโลกแล้ว เขาก็มีส่วนที่จะช่วยดูแลแทนคนทั้งโลก

ดร.โรเบิร์ตกล่าวต่อว่า มีหลายประเทศทั่วโลกที่มรดกโลกมีชุมชนอาศัยอยู่ข้างใน หรือเป็นกรณีอยู่รอบนอกแต่เข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ เช่น พื้นที่มาไซมารา (Maasai Mara) ในประเทศเคนยา ทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ก็มีชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่ค่อนข้างมาก หรือเขตอนุรักษ์โกรงโกโร (Ngorongoro Conservation Area) ประเทศแทนซาเนีย หรือในทวีปอเมริกาใต้ก็มีอีกหลายพื้นที่ การจัดการในพื้นที่เหล่านี้เป็นรูปแบบ Co-Management หรือจัดการร่วมกัน

“ทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องของสิทธิและความรับผิดชอบ คนที่อยู่ในหรือคนที่เข้าข้างชนกลุ่มน้อยก็จะเรียกร้องเรื่องสิทธิ ขณะเดียวกันจะให้สิทธิโดยไม่มีความรับผิดชอบก็คงไม่ได้ ถ้ามีสิทธิก็ต้องมีความรับผิดชอบคู่กัน ประเด็นสำคัญคือ จะทำให้เกิดความเข้าใจตรงกันระหว่างฝ่ายรัฐกับชุมชนในท้องถิ่นว่า ขอบเขตของสิทธิมีอะไรบ้างที่ตกลงกันได้ ขอบเขตของความรับผิดชอบมีอะไรบ้างที่ตกลงกันได้ และเมื่อตกลงกันแล้วว่าชนกลุ่มน้อยมีสิทธิอะไรบ้าง มีความรับผิดชอบอะไรบ้าง จะทำเป็น MOU หรือสัญญาระหว่างกรมอุทยานกับกะเหรี่ยงไหม หรือจะมีวิธีไหน ก็เป็นทางออกของปัญหาได้ถ้าตกลงกันได้” ดร.โรเบิร์ตกล่าว

ติดตามตอนที่ 1 ได้จาก ผลักดัน “กลุ่มป่าแก่งกระจาน” เป็นมรดกโลก (1) http://news.thaipbs.or.th/node/307868

เสาวนีย์ นิ่มปานพยุงวงศ์
ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส


ข่าวที่เกี่ยวข้อง