ปลัด ทส. ชี้ร่าง พ.ร.บ.จีเอ็มโอเน้นป้องกัน-ควบคุมการตัดต่อพันธุกรรม

สิ่งแวดล้อม
10 ธ.ค. 58
14:59
230
Logo Thai PBS
ปลัด ทส. ชี้ร่าง พ.ร.บ.จีเอ็มโอเน้นป้องกัน-ควบคุมการตัดต่อพันธุกรรม

ปลัด ทส. ชี้ร่าง พ.ร.บ.จีเอ็มโอปรับปรุงเนื้อหาเชิงบวกเน้นป้องกัน-ควบคุมการตัดต่อพันธุกรรม ด้าน สนช.เตรียมเชิญ เข้าหารือถึงข้อกังวลในข้อกฎหมาย ในที่ 15 ธ.ค.นี้

วันนี้ (10 ธ.ค.2558) นายเกษมสันต์ จิณณวาโส ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. ...มีความพยายามผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากประเทศไทยไม่มีกฎหมายรองรับในเรื่องดังกล่าว ซึ่งเคยเสนอเข้าที่ประชุม ครม.และผ่านมติเห็นชอบ ครม.มาแล้วเมื่อปี 2551 ในชื่อ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพของเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ แต่ไม่ได้ถูกพิจารณาต่อ ส่วนร่าง พ.ร.บ. ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ....ที่ผ่านความเห็นชอบแล้วปี 2558 ก็เป็นเรื่องเดียวกันในหลักการ ที่มีเจตนารมณ์เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการจัดระบบการป้องกันและควบคุมความปลอดภัยทางชีวภาพ แต่วิธีการเขียนกฎหมายอาจจะมีความแตกต่างกันจากฉบับเดิมเขียนกฎหมายออกมาใช้เชิงลบ โดยมีเนื้อหาที่เป็นข้อห้ามต่าง ๆ

ขณะที่ร่าง พ.ร.บ. ความปลอดภัยทางชีวภาพในฉบับปัจจุบัน ปลัดกระทรวงทรัพยากรฯระบุว่า มีการปรับเปลี่ยนวิธีการเขียนกฎหมายใหม่ โดยปรับเนื้อหาไปในเชิงบวก ที่ระบุถึงขอบเขตในการดำเนินการว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง ซึ่งหากมีผู้ที่กระทำนอกเหนือจากที่ระบุในกฎหมาย ก็ถือว่ามีความผิด และมีการกำหนดโทษทางอาญาเอาไว้ แต่ยืนยันว่าทั้ง 2 ฉบับ มีเจตนารมณ์ที่มุ่งไปสู่การทำระบบที่เน้นป้องกันและควบคุมทุกอย่างที่เกี่ยวกับการตัดต่อพันธุกรรมพืช สัตว์ จุลินทรีย์  ซึ่งประเทศไทยยังไม่เคยมีกฎหมายรองรับในเรื่องนี้ ทำให้ไม่สามารถจะป้องกันด้วยวิธีการควบคุมได้

นายเกษมสันต์ กล่าวต่อว่า กระบวนการก่อนที่จะมีการขึ้นบัญชีสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม ต้องลงทะเบียน และต้องผ่านขั้นตอนศึกษาวิจัย มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และต้องประเมินความเสี่ยงก่อนว่ามีความปลอดภัย ก่อนที่จะถูกพิจารณาขึ้นบัญชี  ซึ่งไม่ได้หมายความว่า สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม ทุกอย่างจะขึ้นบัญชีได้เลย เมื่อขึ้นบัญชีสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมแล้ว ต้องผ่านกระบวนการทดสอบเพื่อประเมินความเสี่ยงอีกครั้ง ซึ่งต้องให้แน่ใจว่าจะไม่กระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจึงจะถูกขึ้นบัญชีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งหมายถึงสามารถทดลองในระดับไร่นา หรือ ภาคสนามได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการจัดทำบัญชีสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่เป็นอันตรายหรือไม่ ปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ กล่าวว่า ไม่เคยมีการจัดทำ เนื่องจากกฎหมายไทยไม่มีรองรับให้ศึกษาเรื่องนี้ ซึ่งหากไทยมีกฎหมาย พ.ร.บ.ความหลากหลายทางชีวภาพ ก็จะเป็นจะเริ่มต้นที่จะทำให้สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม และความหลากหลายทางชีวภาพเข้าสู่ระบบการจัดการ ตามกลไกที่กฎหมายกำหนด เพื่อเป็นการควบคุม ดูแล และจะได้ทำไปสู่การป้องกัน” นายเกษมสันต์ กล่าว

ด้านนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า ภาคประชาสังคมไม่ได้ปฏิเสธการมีกฎหมายมาควบคุม แต่กฎหมายที่มีต้องเป็นกฎหมายที่ดี อยู่บนฐานของความปลอดภัยเข้าไว้ก่อนและต้องคำถึงเศรษฐกิจและสังคมเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นบรรทัดฐานซึ่งต้องนำมาเป็นหลักการในการเขียนกฎหมายในเรื่องนี้ แต่ ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ.... ไม่ได้ยึดหลักดังกล่าวและไม่ได้ให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนในการกำหนดร่างกฎหมายฉบับนี้จึงมองว่าหากกฎหมายออกมาไม่ดีแล้ว จะปล่อยให้เป็นเช่นนั้นไม่ได้ เพราะความเสียหายจากพืชจีเอ็มโอ หากระทบ เสียหายต่อสิ่งแวดล้อมแล้วก็ไม่สามารถเรียกคืนกลับมาได้ เรื่องนี้จึงต้องเป็นเรื่องที่ต้องป้องกันไว้ตั้งแต่ต้น

ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวด้วยว่า หลังจากที่เครือข่ายภาคประชาชนออกมาเคลื่อนไหว และยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ให้ชะลอร่างกฎหมาย และตั้งคณะกรรมการปรับปรุงร่างกฎหมายพร้อมกันทั่วประเทศเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.นั้น มีเสียงตอบรับจากฝั่งรัฐบาลค่อนข้างดี และหลังจากที่ยื่นหนังสือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อเย็นวันที่ 9 ธ.ค.ว่าจะนำสิ่งที่ภาคประชาชนเรียกร้องมาพิจารณา และแสดงออกถึงการไม่เห็นด้วยกับพืชจีเอ็มโอ  ซึ่งอาจต้องรอดูถ้าทีของรัฐบาลอีกครั้ง ว่าจะสั่งให้ชะลอและปรับปรุงร่างกฎหมายนี้หรือไม่

นายวิฑูรย์ กล่าวต่อว่า ทางสภานิธิบัญญัติแห่งชาติก็ได้ตอบรับเรื่องนี้ โดยได้เชิญภาคประชาชนมาร่วมหารือถึงข้อกังวลในข้อกฎหมาย ในวันอังคารที่ 15 ธ.ค.นี้ ที่อาคารรัฐสภา 2  ซึ่งก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ภาคประชาชนจะได้มีส่วนร่วมในการปรับปรุงกฎหมาย โดยเตรียมที่จะเสนอให้คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นคนกลาง ในการปรังปรุงร่างกฎหมายความหลากหลายทางชีวภาพ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง