รองปลัดกระทรวงยุติธรรมโพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเห็นกรณีบริษัทเหมืองทองฟ้องเยาวชน "นักข่าวพลเมือง ไทยพีบีเอส"

ภูมิภาค
15 ธ.ค. 58
03:26
306
Logo Thai PBS
รองปลัดกระทรวงยุติธรรมโพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเห็นกรณีบริษัทเหมืองทองฟ้องเยาวชน "นักข่าวพลเมือง ไทยพีบีเอส"

นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม โพสต์เฟซบุ๊กอธิบายข้อกฎหมายเกี่ยวกับการฟ้องร้องเยาวชนหลังจากที่บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ทำหนังสือขออนุญาตฟ้องเยาวชนในคดีอาญา ข้อหาหมิ่นประมาทต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง จากการเผยแพร่ข้อมูลในฐานะนักข่าวพลเมืองผ่านทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส โดยนายธวัชชัยระบุว่าหากพิจารณาตามหลักกฎหมายและธรรมเนียมปฏิบัติของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กที่ผ่านมาจะพิจารณาไม่อนุญาตให้ฟ้อง ทางด้านนายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกล่าวว่าในชั้นนี้ยังไม่มีคำสั่งให้ความเห็นทางคดี

นอกจากการขออนุญาตฟ้องร้องคดีอาญาเยาวชนที่เป็นผู้ดำเนินรายการนักข่าวพลเมือง  ตอน "นักสืบลำน้ำฮวยแท้ๆ แน๊ว" ออกอากาศทางไทยพีบีเอสเมื่อต้นเดือนกันยายน 2558 ที่อ้างถึงผลกระทบของแหล่งน้ำสาธารณะ และพาดพิงเหมืองแร่ทองคำ จ.เลย บริษัท ทุ่งคำยังได้ยื่นฟ้องสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ผู้ดำเนินรายการและผู้บริหารรวม 5 คนอีกด้วย

นายธวัชชัย ซึ่งเป็นอดีตอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กเขียนข้อความในเฟซบุ๊ก "ธวัชชัย ไทยเขียว" ถึง‎กรณีบริษัทเหมืองทองแห่งหนึ่งได้ขออนุญาตฟ้องเยาวชนไปยังผู้อำนวยการสถานพินิจฯ‬ ฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ด้วยบอกกล่าวและโทรทัศน์ โดยนายธวัชชัยอธิบายว่า มาตรา 99 วรรคแรก ของพ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ กำหนดไว้ว่า "ห้ามมิให้ผู้เสียหายฟ้องคดีอาญาซึ่งมีข้อหาว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดต่อศาลเยาวชนและครอบครัวเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการสถานพินิจที่เด็กหรือเยาวชนนั้นอยู่ในเขตอำนาจ" ซึ่งตามขั้นตอนผู้อำนวยการสถานพินิจฯ จะดำเนินการสืบสวนและสอบสวนหลังจากได้รับการร้องขอของผู้เสียหายที่จะฟ้องคดีอาญาเพื่อดูว่าข้อกล่าวหานั้นมีมูลสมควรอนุญาตให้ผู้เสียหายฟ้องหรือไม่ แล้วแจ้งให้ผู้เสียหายทราบว่าอนุญาตให้ฟ้องหรือไม่อนุญาตให้ฟ้อง

ในกรณีที่ผู้อำนวยการสถานพินิจไม่อนุญาตให้ฟ้อง ผู้เสียหายจะร้องต่อศาลขอให้สั่งอนุญาตก็ได้ ซึ่งในกรณีเช่นว่านี้ให้ศาลเรียกผู้อำนวยการสถานพินิจมาสอบถามแล้วสั่งตามที่เห็นสมควร คำสั่งศาลให้เป็นที่สุด เมื่อศาลเยาวชนและครอบครัวได้ไต่สวนมูลฟ้องและมีคำสั่งประทับรับฟ้องของผู้เสียหายแล้วให้ผู้อำนวยการสถานพินิจดำเนินการสืบเสาะตามมาตรา 82 ตามควรแก่กรณี

อย่างไรก็ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายตามมาตรา 119 ของพ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า "ในการพิจารณาและพิพากษาคดีที่มีข้อหาว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวคำนึงถึงสวัสดิภาพและอนาคตของเด็กหรือเยาวชน ซึ่งควรจะได้รับการฝึกอบรม สั่งสอน และสงเคราะห์ให้กลับตัวเป็นพลเมืองดียิ่งกว่าการที่จะลงโทษ"

"ดังนั้น จะเห็นได้ว่าในการพิพากษาคดีเด็กหรือเยาวชนนั้นให้ศาลคำนึงถึงบุคลิกลักษณะ สภาพร่างกายและสภาพจิตของเด็กหรือเยาวชนซึ่งแตกต่างกันเป็นคนๆ ไป และลงโทษหรือเปลี่ยนโทษหรือใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนให้เหมาะสมกับตัวเด็กหรือเยาวชน และพฤติการณ์เฉพาะเรื่อง แม้เด็กหรือเยาวชนนั้นจะได้กระทำความผิดร่วมกันก็ตาม ฉะนั้น หากพิจารณาตามหลักกฏหมายและธรรมเนียมปฏิบัติของสถานพินิจฯ ที่ผ่านมาจะพิจารณาไม่อนุญาต ซึ่งหากผู้เสียหายติดใจก็สามารถไปร้องขอต่อศาลให้พิจารณาหรือญาตตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ได้" นายธวัชชัยระบุ

สำหรับความคืบหน้าในกรณีนี้ หลังจากที่บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ทำหนังสือขออนุญาตฟ้องเยาวชนในคดีอาญาข้อหาหมิ่นประมาทต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางแล้ว สถานพินิจและคุ้มครองเด็ก จ.เลย จะเชิญผู้ปกครอง เยาวชนและกลุ่มนักข่าวพลเมืองเข้าให้ถ้อยคำต่อพนักงานคุมประพฤติในวันที่ 21 ธ.ค. 58 ว่าสมควรอนุญาตให้บริษัทฟ้องคดีอาญาเรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาทหรือไม่

ด้านนายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกล่าววันนี้ (15 ธ.ค.2558) ว่าในชั้นนี้ยังไม่มีคำสั่งให้ความเห็นทางคดี แต่มอบหมายให้ผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กจังหวัดเลยพิจารณาข้อเท็จจริง กรณี บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ยื่นฟ้องเยาวชนที่รายงานสกู๊ปข่าวกิจกรรมค่ายเยาวชนฮักบ้านเกิดเจ้าของ ตอน "นักสืบลำน้ำฮวยแท้ๆ แน๊ว" ในข้อหาหมิ่นประมาทฯ และยื่นฟ้องสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ผู้ดำเนินรายการ และผู้บริหารรวม 5 คน ซึ่งในชั้นนี้ทางสถานพินิจฯ จะใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กและเยาวชน มาตรา 99 เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงจากทั้งสองฝ่าย เนื่องจากการฟ้องร้องดำเนินคดีกับเยาวชน ผู้เสียหายจะฟ้องร้องเองไม่ได้ และตามกฎหมายต้องใช้ความเห็นของผู้อำนวยการสถานพินิจฯ เพื่อพิจารณาว่า การฟ้องร้องคดีดังกล่าวมีมูลเหตุ และสมควรแก่เหตุที่จะฟ้องร้องกับเยาวชนหรือไม่/ซึ่งตามกฎหมายหากดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ไม่เห็นสมควรให้ฟ้องร้องเยาวชน  ผู้เสียหายสามารถยื่นอุทธรณ์คำสั่งกับศาลเยาวชนได้ หรือใช้ช่องทางตามกฎหมายอื่น เช่น ยื่นฟ้องผ่านตำรวจ และอัยการ

"เนื่องจากเป็นการดำเนินคดีอาญา กฎหมายไม่ได้กำหนดกรอบเวลาเอาไว้ชัดเจน ขึ้นอยู่กับว่าทางผู้เสียหายจะนำพยานหลักฐานมาให้เรามากน้อยแค่ไหน และมาให้ถ้อยคำกับเจ้าหน้าที่ กรณีนี้ต้องเริ่มจากฝ่ายผู้เสียหายก่อนเราถึงจะทราบได้ว่าคดีมีมูลหรือไม่ ส่วนเรื่องความสมควรจะเป็นประเด็นที่กรมพินิจและคุ้มครองเด็กฯ จะได้มีข้อสั่งการต่อไป" นายวิศิษฏ์กล่าว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง