นายกฯ สั่งยกเลิกพิจารณาร่างพ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ

สิ่งแวดล้อม
15 ธ.ค. 58
09:46
742
Logo Thai PBS
นายกฯ สั่งยกเลิกพิจารณาร่างพ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งยุติการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพหรือที่รู้จักกันว่า พ.ร.บ.จีเอ็มโอ หลังจากกฎหมายดังกล่าวถูกคัดค้านจากเครือข่ายภาคประชาชน เกษตรกร นักวิชาการบางส่วนอย่างหนัก โดยนายกฯ ระบุว่าประเทศไทยยังไม่มีความชัดเจนเพียงพอ

 
"วันนี้ผมสั่งให้ยกเลิกการพิจารณาพ.ร.บ.จีเอ็มโอ ที่มีปัญหาแล้ว กฎหมายฉบับนี้คุยกันมาตั้งแต่ปี 2540 ถกเถียงกันมาตลอด มาถึงวันนี้ผมเห็นว่าถ้ามันไม่เกิดประโยชน์ก็เลิกมันไป พอแล้ว ที่ต่างประเทศเขาให้ทำในกรณีที่มีสงครามหรือผลิตสินค้าการเกษตรไม่ได้จากการปนเปื้อนหรือเกิดโรคระบาดหรือภัยพิบัติ แต่ในบ้านเรายังไม่ชัดเจนในเรื่องนี้ เราก็หวังว่าบ้านเราจะไม่เกิดภัยพิบัติ อย่างน้ำแล้ง เพราะพืชพวกนี้ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรมมาให้ใช้น้ำน้อย มีผลผลิตสูง ข้าวโพดก็แมลงไม่กิน เราก็หวังว่าอย่าเกิดสงครามก็แล้วกัน เพราะเรายังไม่ได้ทำ" พล.อ.ประยุทธ์กล่าวในการแถลงข่าวหลังการประชุมครม.วันนี้ (15 ธ.ค.)

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพเมื่อวันที่ 24 พ.ย.2558 โดยหลักการสำคัญร่างกฎหมายฉบับนี้ คือการกำหนดให้มีสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายได้ และให้มีคณะกรรมการความปลอดภัยทางชีวภาพ ทำหน้าที่กำกับดูแล รับผิดชอบเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม
 
หลังจากมีมติดังกล่าว เครือข่ายเกษตรกรและองค์กรภาคประชาชนได้ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านพ.ร.บ.ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยให้เหตุผลว่าการอนุญาตให้ปลูกพืชจีเอ็มโอจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ พันธุ์พืชท้องถิ่นและอาจเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนด้านการเกษตรบางกลุ่ม และขอให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมกับการนโยบายในเรื่องนี้

"จีเอ็มโอ" คืออะไร

GMO ย่อมาจาก Genetically Modified Organisms คือ การดัดแปลงพันธุกรรมพืช สัตว์ หรือจุลินทรีย์ โดยการค้นหายีนที่มีคุณลักษณะแฝงตามที่ต้องการของสิ่งมีชีวิตหนึ่ง จากนั้นถ่ายทอดเข้าไปอยู่ในโครโมโซมของเซลล์สิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่งจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของโครโมโซม ซึ่งโดยปกติไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เพื่อให้ได้คุณสมบัติตามที่ต้องการ เช่น ต้านทานแมลงศัตรูพืช คงทนต่อสภาพแวดล้อมหรือเพิ่มสารโภชนาการบางชนิด

เทคโนโลยีจีเอ็มโอมีการพัฒนามาแล้วกว่าสองทศวรรษ เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของประชากรโลกที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตอาหารและยารักษาโรคที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ

กรมวิชาการเกษตรให้ข้อมูลว่าจีเอ็มโอมีประโยชน์ต่อเกษตรกร โดยสามารถแก้ไขปัญหาที่เป็นข้อจำกัดทางด้านการผลิต เช่น ทำให้มีผลผลิตสูงขึ้น สามารถปลูกในพื้นที่แห้งแล้งได้ และลดการใช้สารเคมีเพื่อกำจัดโรคและแมลง มีประโยชน์ต่อผู้บริโภค โดยได้รับคุณค่าทางโภชนาการสูงขึ้น เช่น การเพิ่มไขมันดีหรือวิตามินในอาหาร มีประโยชน์ต่ออุตสาหกรรม ทำให้มีผลผลิตเพียงพอต่อความต้องการ และยังสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ สู่ตลาด มีประโยชน์ด้านการแพทย์ ช่วยในการป้องกันโรคและทำให้การผลิตวัคซีนมีราคาถูกลง มีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สามารถช่วยลดการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อการเพาะปลูก

ขณะที่ทางมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) ระบุว่าขณะนี้ยังไม่มีฉันทามติในประชาคมวิทยาศาสตร์ว่าพืชจีเอ็มโอมีความปลอดภัย จึงยังคงมีคำถามเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ทั้งยังส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพ การผูกขาดเมล็ดพันธุ์ของบริษัทอุตสาหกรรมการเกษตร รวมไปถึงปัญหาทางศาสนาและจริยธรรม อีกทั้งยังไม่ได้ลดปริมาณการใช้สารเคมีอย่างแท้จริง มูลนิธิชีววิถียังระบุด้วยว่าผู้บริโภคทั่วโลกปฏิเสธสินค้าจีเอ็มโอเพิ่มมากขึ้น จึงอาจส่งผลกระทบต่อการค้าอีกด้วย

ด้วยข้อกังวลเหล่านี้จึงน่าจับตาต่อไปว่า ร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพ ที่ผ่านมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมากับการคัดค้านของภาคประชาชน จะมีทิศทางอย่างไรต่อไป
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง