แถลงการณ์และท่าทีสภาผู้นำบีอาร์เอ็น "สัญญาณบวก" กระบวนการพูดคุยสันติภาพ

ภูมิภาค
18 ธ.ค. 58
19:58
201
Logo Thai PBS
 แถลงการณ์และท่าทีสภาผู้นำบีอาร์เอ็น "สัญญาณบวก" กระบวนการพูดคุยสันติภาพ

แถลงการณ์ของสำนักประชาสัมพันธ์บีอาร์เอ็นที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 12 ต.ค.2558 และท่าทีของสภาผู้นำบีอาร์เอ็นที่เปิดเผยโดยโฆษกบีอาร์เอ็นในการให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวด้านความมั่นคง IHS's Jane เมื่อเร็วๆ นี้ วิเคราะห์ได้ว่าเป็นความตั้งใจของบีอาร์เอ็นที่ต้องการ "เป็นข่าว" ในช่วงเวลานี้ เพื่อสร้างแรงกดดันต่อรัฐบาลไทยก่อนการพูดคุยสันติสุขครั้งที่ 4 จะเกิดขึ้นกลางเดือนพฤศจิกายน

แถลงการณ์ของสำนักประชาสัมพันธ์บีอาร์เอ็นเป็นภาษาอังกฤษมีความยาว 4 หน้า ส่วนท่าทีของสภาผู้นำบีอาร์เอ็น (Dewan Pimpinan Parti) นั้นเปิดเผยผ่านโฆษกที่ชื่อว่า "ยูซูฟ" ในการให้สัมภาษณ์ Anthony Davies ผู้สื่อข่าวของ IHS’s Jane และเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ฉบับวันที่ 13 ต.ค.2558 และ Nikkei Weekly

เนื้อหาสาระของแถลงการณ์บีอาร์เอ็นและท่าทีของสภาผู้นำบีอาร์เอ็นนั้นสอดคล้องกัน คือ ไม่ปฏิเสธแนวทางแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยใช้กระบวนการเจรจาหรือพูดคุยกับรัฐไทย แต่มีเงื่อนไขคือต้องเปิดเวทีการพูดคุยให้กว้างขึ้น โดยเสนอให้มีตัวแทนภาคประชาสังคมในพื้นที่และตัวแทนจากนานาชาติเข้าร่วม นอกเหนือจากตัวแทนรัฐบาลมาเลเซียที่ทำหน้าที่ประสานงานและอำนวยความสะดวกการจัดการพูดคุย

เมื่อวิเคราะห์ท่าทีของสภาผู้นำบีอาร์เอ็น พบว่ามีความสอดคล้องกับท่าทีของมาราปาตานีโดยเฉพาะในประเด็นการดึงภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพูดคุยสันติสุข

มาราปาตานีเป็นกลุ่มตัวแทนผู้เห็นต่างจากรัฐไทยซึ่งมีตัวแทนของบีอาร์เอ็นร่วมอยู่ ด้วย 3 คนและเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญ คือ อาวัง ยาบัด ประธานมาราปาตานี สุกรี ฮารี และอาหมัด ชูโว ผู้คุมกองกำลังติดอาวุธบีอาร์เอ็นที่เคลื่อนไหวปฏิบัติการในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ในระหว่างการพบปะพูดคุยกับสื่อมวลชนไทยที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียเมื่อวันที่ 27 ส.ค.2558 ตัวแทนมาราปาตานีย้ำหลายครั้งว่าเขาต้องการให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในกระบวนการพูดคุย และเป็นเหตุผลที่มาราปาตานียื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยให้การคุ้มครองทางกฎหมาย ให้ยกเว้นการดำเนินคดีกับตัวแทนพูดคุยสันติสุขของมาราปาตานีขณะที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย เพื่อเปิดโอกาสให้พวกเขาได้พูดคุยกับภาคประชาสังคมและประชาชนในพื้นที่

ส่วนข้อเสนอให้ดึงตัวแทนจากนานาชาติเข้ามาทำหน้าที่คนกลาง (mediator) หรือผู้สังเกตการณ์ (observer) นอกเหนือจากมาเลเซียที่ทำหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) แหล่งข่าวใกล้ชิดกับมาราปาตานีมองว่าเป็นพัฒนาการในเชิงบวก คือ เป็นการเปลี่ยนท่าทีของฝ่ายนำในบีอาร์เอ็นซึ่งเป็น "สายเหยี่ยว" จากจุดยืนเดิมที่ปฏิเสธการพูดคุย เปลี่ยนมายอมรับการพูดคุยอย่างมีเงื่อนไข

ข้อเรียกร้องขององค์กรนำในบีอาร์เอ็น ที่ต้องการให้เริ่มต้นกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขรอบใหม่ภายใต้เงื่อนไข 2 ข้อข้างต้นเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของมาราปาตานีซึ่งอาวัง ยาบัด ประธานมาราปาตานีย้ำหลายครั้งในระหว่างพบกับผู้สื่อข่าวเมื่อเดือนสิงหาคมว่า คือ "Merdeka" หรือ "เอกราช" แต่ไม่ได้มีความหมายว่าต้องการแบ่งแยกดินแดน แต่หมายถึงสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเองของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (Right to self determination)

ดังนั้นจึงอาจตีความได้ว่า กลยุทธขององค์กรนำบีอาร์เอ็นและมาราปาตานีที่ต้องการดึงนานาชาติเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพูดคุยสันติสุข ก็เพื่อเป้าประสงค์ในการกดดันรัฐบาลไทยให้ยอมรับ "สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเองของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้" ซึ่งประเด็นนี้ดูเหมือนรัฐบาลไทยรู้เท่าทัน เห็นได้จากการที่ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา พล.ท.นักรบ บุญบัวทอง เลขานุการคณะทำงานพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้จัดประชุมพูดคุยกับผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้หลายครั้งเพื่อสร้างเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขและรูปแบบการปกครองท้องถิ่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ภายใต้รูปแบบการปกครองปัจจุบัน ว่ามีลักษณะพิเศษแตกต่างจากภูมิภาคอื่นอย่างไร เช่น ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นรูปแบบการกระจายอำนาจการปกครองไปสู่ภูมิภาคซึ่งแตกต่างจากภูมิภาคอื่นๆ ในประเทศไทย และประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์จากรูปแบบการปกครองปัจจุบันอย่างไร

ถึงวันนี้ พล.ท.นักรบยืนยันว่ากระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขยังเดินหน้าและกำหนดการพูดคุยกับมาราปาตานีที่กำหนดไว้ในเดือนพฤศจิกายาน 2558 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง

แหล่งข่าวคาดว่าในการพูดคุยระหว่างคณะทำงานพูดคุยเพื่อสันติสุขกับมาราปาตานี ครั้งที่ 4 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ในเดือนพฤศจิกายน ฝ่ายไทยจะเสนอให้มีการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (safety zone) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะไม่มีการใช้กำลังทหารในพื้นที่ที่กำหนดเพื่อพิสูจน์ความจริงใจ และเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ (confidence building) แต่ประเด็นนี้แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับมาราปาตานีบอกว่า ทางฝ่ายมาราปาตานีก็ต้องการให้ฝ่ายรัฐบาลไทยยอมรับสถานะของเขาเช่นกัน ตามเงื่อนไขที่เสนอไว้ในการพูดคุยครั้งที่ 3 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์เมื่อเดือนสิงหาคม 2558 คือต้องการให้ยอมรับมาราปาตานีในฐานะ "คู่เจรจา" ไม่ใช่สถานะ "ผู้เห็นต่างจากรัฐ" (Party B)

อย่างไรก็ตาม ในการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งที่ 4 กลางเดือนพฤศจิกายนนี้ คาดว่าทั้งสองฝ่ายน่าจะให้ความเห็นชอบวาระที่เป็นข้อเสนอของสำนักงานผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยสันติสุข คือ ให้มีการจัดตั้งคณะทำงานทางเทคนิค (Technical Committee) ที่มีตัวแทนทั้งฝ่ายรัฐบาลไทยและมาราปาตานีร่วมเป็นคณะทำงานเพื่อจัดทำรายละเอียดและข้อกำหนดของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข

อนุพงษ์ ไชยฤทธิ์

ติดตามข่าวสารอย่างรวดเร็วผ่านไทยพีบีเอสออนไลน์
https://www.facebook.com/ThaiPBSNews?ref=hl

ข่าวที่เกี่ยวข้อง